การเงิน

แบงค์ชาติ แถลงข่าวภาพรวม เศรษฐกิจ – การเงิน ประเทศไทย เดือน ม.ค. 64

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงค์ชาติ ได้ทำการแถลงข่าวสรุปภาพรวมของ เศรษฐกิจ และ การเงิน ของ ประเทศไทย ประจำเดือนมกราคม ปี 2564 โดยมองว่าได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน แต่ไม่รุนแรงเท่ารอบแรก

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงค์ชาติ ได้ทำการแถลงข่าวสรุปภาพรวมของ เศรษฐกิจ และ การเงิน ของ ประเทศไทย ประจำเดือนมกราคม ปี 2564 โดยมองว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 อย่างชัดเจน ซึ่งส่งผลให้การฟื้นตัวนั้นยังคงไม่ทั่วถึง แต่ผลกระทบในภาพรวมนั้นถือว่าไม่รุนแรงเท่ารอบแรก

โดยในภาคส่วนที่ยังคงแย่นั้นก็ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวลงในทุกหมวด, กำลังซื้อของครัวเรือนที่ลดลงทั้งจากการระบาดเอง และมาตรการควบคุมที่เข้มงวดในบางพื้นที่ และกิจกรรม รวมไปถึงในส่วนของภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงหดตัวลงเนื่องด้วยมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

ในภาคส่วนที่ถือว่าดีขึ้นมาในระดับหนึ่งนั้นก็เช่น การส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำขยายตัวดีขึ้นตามทิศทางของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า, การใช้จ่ายของภาครัฐที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง

ในส่วนของรายละเอียดโดยคร่าว ๆ นั้นก็พอจะอธิบาย และแบ่งย่อยออกเป็นหลายหัวข้อดังนี้

  • เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน – กลับมาหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายที่ปรับตัวแย่ลงในทุกหมวด โดยเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ Covid-19 ที่ส่งผลในหลาย ๆ ด้าน ประกอบกับมาตรการควบคุมของภาครัฐทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ทั้งนี้นั้นยังถือว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าในระลอกแรกที่เกิดขึ้น
  • การผลิตภาคอุตสาหกรรม – หดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยการหดตัวมาจากการผลิตหมวดปิโตรเลียม หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดยานยนต์เป็นสำคัญ
  • จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ – หดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ ประกอบกับการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยยังมีจำนวนไม่มาก แม้ภาครัฐได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศไปบ้างแล้วในช่วงก่อนหน้า
  • มูลค่าการส่งออกสินค้า – หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำที่หดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อน มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 5.5 โดยเป็นการขยายตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า
  • มูลค่าการนำเข้าสินค้า – กลับมาหดตัวร้อยละ 6.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำที่กลับมาขยายตัว มูลค่าการนำเข้าหดตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 11.1
  • การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน – ขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำกลับมาขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวชะลอลงตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง ขณะที่การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจกลับมาขยายตัวได้
  • เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน – ขยายตัวชะลอลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับตัวแย่ลงในทุกองค์ประกอบย่อย สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับลดลงจากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวน้อยลง ตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่กลับมาขยายตัว ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อน
  • ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ – อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากราคาอาหารสดที่ปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
    • ด้านตลาดแรงงานปรับตัวแย่ลงจากผลของการระบาดระลอกใหม่ ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมที่สูงขึ้น
    • สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงจากการนำเข้าทองคำที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลงจากเดือนก่อน

 

แหล่งที่มาของข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย

สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button