ข่าวเศรษฐกิจ

สปสช.-กรุงไทย ชวนเช็คสิทธิ์สุขภาพผ่านแอพ เป๋าตัง

สปสช.-กรุงไทย เปิดช่องทางเช็คสิทธิ์สวัสดิการสุขภาพฟรีผ่าน “กระเป๋าสุขภาพ” บนแอพพลิเคชั่น เป๋าตัง 24 ชั่วโมง จองฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ถึง 31 มี.ค.นี้

“สปสช.-กรุงไทย” ชวนคนไทยเช็คสิทธิสุขภาพผ่าน “กระเป๋าสุขภาพ หรือ Health Wallet” บนแอปฯ เป๋าตัง 24 ชั่วโมง รับสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ “ฟรี” ทั้งตรวจคัดกรองมะเร็ง และฉีดวัคซีนป้องกันโรครวมกว่า 16 บริการ พร้อมขยายบริการเปิดจองสิทธิฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จนถึง 31 มีนาคมนี้ ชี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิด้านใดบ้างตามสวัสดิการภาครัฐ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และธนาคารกรุงไทย ร่วมเปิดโครงการจองสิทธิฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 2564 ผ่านกระเป๋าสุขภาพ (Health Wallet) บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยบริการ Health Wallet ถือเป็นทางเลือกใหม่ของการเข้ารับบริการสุขภาพในกองทุนบัตรทองที่ง่ายขึ้น ตามรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดการแพร่กระจายโรคโดยเฉพาะ COVID-19 ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนยกระดับกองทุนบัตรทอง สู่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติยุคใหม่ ที่เป็นนโยบายและความมุ่งมั่นของรัฐบาล ในการยกระดับบริการบัตรทองเป็น วีไอพี ด้วยการเพิ่มความสะดวกในการรับบริการให้กับประชาชน

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในปี 2564 สปสช. ได้จัดเตรียมวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จำนวน 6.4ล้านโดส เพื่อบริการฉีดให้กับประชากรกลุ่มเป้าหมาย 7 กลุ่มเสี่ยง และสำหรับหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะ จำนวน 3.5 แสนโดส โดยเปิดให้กลุ่มเสี่ยงจองสิทธิและนัดหมายฉีดวัคซีนล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์- 31 มีนาคม 2564 เพื่อเข้ารับบริการฉีดวัคซีนในระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2564 ยกเว้นหญิงตั้งครรภ์สามารถขอลงทะเบียนและฉีดวัคซีนได้ตลอดทั้งปี

สำหรับการลงทะเบียนจองสิทธิฉีดวัคซีนมี 4 ช่องทางหลัก คือ

  1. สายด่วน สปสช. โทร. 1330 กด 1 หลังจากนั้นกด 8 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.00 น. (ทั่วประเทศ)
  2. หน่วยบริการประจำหรือโรงพยาบาลในระบบบัตรทอง (ทั่วประเทศ)
  3. Line @UCBKKสร้างสุข (เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองหรือพักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร) ให้บริการวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 08.30 – 18.00 น. และวันเสาร์อาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น.
  4. เปิดทางเลือกลงทะเบียนจองสิทธิและนัดฉีดวัคซีนเพิ่มเติมสำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ผ่านกระเป๋าสุขภาพ บนแอปฯเป๋าตัง ซึ่งเป็น Digital Health Platform ที่ สปสช. ร่วมกับธนาคารกรุงไทยพัฒนาขึ้น ในการจัดทำระบบการจองสิทธิและนัดหน่วยบริการฉีดวัคซีนล่วงหน้า

นอกจากการลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวผ่านระบบ Hospital Portal เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นสวัสดิการที่รัฐมอบให้ตั้งแต่ช่วงแรกเกิดจนถึงวัยผู้สูงอายุ โดยเป็นการขยายระบบบริการ Health Wallet ภายหลังจากที่มีการนำร่องระบบจองสิทธิฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลศิริราชและได้รับการตอบรับด้วยดีในปีที่ผ่านมา

นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ช่วยลดภาวะเจ็บป่วยและเสียชีวิต โดยเฉพาะในประชากร 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่

  1. หญิงมีครรภ์
  2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
  3. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน)
  4. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
  6. ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  7. ผู้ป่วยโรคอ้วน มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

ทั้งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ยังช่วยลดความสับสนในการคัดกรอง เนื่องจากอาการเริ่มต้นของโรคมีความคล้ายคลึงกัน ถือเป็นสิทธิประโยชน์ในการการป้องกันโรคและความร่วมมือในวันนี้จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารร่วมกับ สปสช. เปิดให้ประชาชนจองสิทธิการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรครวม 16 บริการ ผ่านกระเป๋าสุขภาพนั้น ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เฉพาะหน่วยบริการในกรุงเทพฯ​ มีประชาชนจองสิทธิไปแล้วกว่า 150,000 สิทธิ

อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิรับสวัสดิการด้านใดบ้าง ตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของภาครัฐ ซึ่งมีทั้งสิทธิการตรวจ คัดกรองโรคมะเร็งต่าง ๆ และการฉีดวัคซีนป้องกันโรค จึงอยากเชิญชวนให้คนไทยทุกคนตรวจสอบสิทธิของตนเอง ซึ่งจะจำแนกตามกลุ่มอายุ

โดยสามารถตรวจสอบสิทธิตนเองได้ง่ายๆ เพียงดาวน์โหลดแอปฯ เป๋าตัง กดยอมรับเงื่อนไขการเปิดใช้งานและการเข้าถึงสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามที่ สปสช. กำหนด หลังจากนั้นสามารถตรวจสอบสิทธิผ่านกระเป๋าสุขภาพ บนแอปฯ เป๋าตังได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“ธนาคารได้เตรียมความพร้อมของระบบไว้รอบด้าน เพื่อให้การจองสิทธิฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ผ่านกระเป๋าสุขภาพมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยออกแบบระบบที่รองรับ Digital Journey อำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้รับบริการในการเช็คสิทธิ ทำการนัดหมาย ยืนยันตัวตนผู้มารับบริการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ผ่าน Online Dashboard

ซึ่งแสดงผลแบบ interactive ประมวลผลแบบเรียลไทม์ ทำให้บริหารจัดการวัคซีนได้ทันที ผ่านช่องทางดิจิทัลเชื่อมโยงตั้งแต่ประชาชนผู้รับบริการ จนถึงหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลสามารถเบิกเคลมได้อย่างรวดเร็ว ลดการทำงานซ้ำซ้อน มีระบบการจัดการตารางนัดหมายคนไข้ล่วงหน้าได้

รวมถึงติดตามประวัติการฉีดวัคซีนฯ ของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนากระบวนการจองและฉีดวัคซีนฯ ให้แก่ประชาชนผ่านการจองสิทธิฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วย “กระเป๋าสุขภาพ” หรือ Health Wallet บนแอปฯ เป๋าตัง เพื่อเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลกว่า 1,600 แห่งทั่วประเทศ”

ทั้งนี้ จะมีบริการแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลานัดหมาย โดยใช้ QR Health ID ยืนยันตัวตนแทนบัตรประชาชน รวมทั้งสามารถชำระค่าบริการส่วนเกินที่อยู่นอกเหนือสิทธิผ่าน Wallet ได้ทันที เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาการรอที่โรงพยาบาล ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ช่วยลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่

สำหรับกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ รวมถึงผู้ที่ไม่สะดวกตรวจสอบสิทธิสุขภาพผ่านแอปฯ เป๋าตัง สามารถจองสิทธิและนัดหมายผ่านหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาเป็นประจำได้

สปสช. กรุงไทย เป๋าตัง

 

แหล่งที่มาของข่าว : Facebook Page – สถานีข่าวกระทรวงการคลัง

สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ

 

ไทยเกอร์นิวส์

นำเสนออัปเดตข่าวสารบ้านเมือง ข่าวล่าสุด มั่นใจว่าคุณจะทันทุกสถานการณ์ ไม่ว่า สังคมเศรษฐกิจ การเงิน การเมือง เรื่องร้อนออนไลน์ ดราม่าดารา อัปเดตบันเทิง ซีรีส์ หนัง เพลง ท่องเที่ยว กีฬา ตรวจหวย เลขเด็ด พร้อมเสิรฟ์ทุกเรื่องยาก ๆ ย่อยให้คุณเข้าใจง่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button