ข่าว

สตช. ตั้งสอบดุลยพินิจ กรณีไม่เห็นแย้งศาล คดีบอส กระทิงแดง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผย มีการประชุมสอบ กรณีตำรวจไม่แย้งคำสั่งศาล คดี บอส กระทิงแดง ยัน ไม่มีอำนาจตรวจสอบอัยการ ส่วนพยาน 2 ปาก เรียกตามคำสั่งอัยการ ไม่มีการก้าวล่วง คดีถือว่าสิ้นสุดแล้วแต่ทางญาติสามารถฟ้องร้องได้อีก

จากกรณีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส กระทิงแดง ตั้งแต่ ปี 2555 ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เห็นแย้งและถอนหมายจับทั้งหมดของนายวรยุทธ อยู่วิทยา

ล่าสุด ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า มีการประชุมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เห็นแย้งในคดีนี้ โดยระบุว่า ความเห็นที่ไม่แย้งคำสั่งเด็ดขาดของอัยการในคดีนี้ ขณะนี้ ถือว่าคดีสิ้นสุด ไม่สามารถแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงความเห็นได้อีก

ทั้งนี้ก็ยืนยันว่า เป็นการพิจารณาความถูกต้องในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ไม่มีอำนาจตรวจสอบความเห็นของอัยการเพราะเป็นการถ่วงดุลอำนาจในกระบวนการยุติธรรม

อยางไรก็ตาม คณะกรรมการชุดนี้จะตรวจสอบ การใช้ดุลยพินิจของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะรื้อฟื้น หรือสืบสวนเพิ่มเติมเพราะคดีผ่านชั้นสืบสวนของตำรวจมาแล้ว โดยคณะกรรมการจะเชิญ พล.ต.ท.เพิ่มพูน เข้าให้ข้อมูลเร็วๆนี้

นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับพยานใหม่ 2 ปาก เนื่องจากอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบปากคำเพิ่ม หลังผู้ต้องหายื่นร้องขอความเป็นธรรมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พนักงานสอบสวน จึงทำตามขั้นตอนที่อัยการกำหนดเท่านั้น โดยไม่สามารถก้าวล่วงกับการให้น้ำหนักกับพยาน 2 ปากนี้

พร้อมยืนยันว่า คณะกรรมการชุดนี้ ไม่ใช่การฟอกขาวการไม่แย้งคำสั่งของอัยการของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน แต่เป็นการพิสูจน์ความจริง และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้สังคมเข้าใจว่า คณะกรรมการทำอะไรบ้าง โดยจะประชุมทุกวัน และแถลงข่าวให้ทราบเป็นระยะ

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการจะพิจารณาใน 3 แนวทาง คือ 1.การสอบสวนและความเห็นชั้นพนักงานสอบสวน 2.การสอบสวนเพิ่มเติมตามความเห็นของอัยการ 3.การตรวจสอบการใช้ดุลพินิจไม่แย้งสำนวน ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

สำหรับผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ นั้นจะไม่มีผลต่อคดีความ เพราะคดีสิ้นสุดแล้ว หลังตำรวจมีความเห็นฟ้อง และจะไม่เกี่ยวข้องกับผลการตรวจสอบของอัยการสูงสุด แต่หากพบว่า คณะกรรมการ มีการใช้ดุลยพินิจไม่ชอบ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาความผิดทางวินัยและอาญาต่อไป

สำหรับคดีนี้ แม้ทางกระบวนการของตำรวจจะสิ้นสุด แต่ครอบครัวผู้เสียหาย ยังสามารถฟ้องร้องคดีต่อศาลได้เอง ตามกระบวนการยุติธรรม

ที่มา Police News

kamon w.

จบสายภาษาแต่หนีไปทำงานด้านบริการเกือบ 2 ปี ตอนนี้กลับมาขีด ๆ เขียน ๆ อีกครั้ง พร้อมแพสชั่นในงานข่าวที่เต็มเปี่ยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button