ข่าว

อ.ปริญญาตั้งคำถามคดี บอส อยู่วิทยา ทำไมพยานเพิ่งโผล่มา อยู่ ๆ ดาบตำรวจวิเชียร กลายเป็นคนผิด

อ.ปริญญา นิติศาสตร์ มธ. ตั้งคำถามประเด็นสั่งไม่ฟ้องบอส อยู่วิทยาของสำนักงานอัยการสูงสุด 3 ข้อ สังเกตเหตุใดพยานเพิ่งโผล่มาหลังผ่านมาหลายปี อยู่ดีๆ ดาบตำรวจวิเชียร ผู้ถูกชนตาย กลับกลายเป็น ‘ผู้ต้องหาที่ 2’ คดีนี้เป็นอาญาแผ่นดิน แม้ผู้เสียหายได้สินไหมทดแทนแล้ว ก็เป็นเหตุให้ไม่สั่งฟ้องไม่ได้

วานนี้ อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul เรื่อง ประเด็นข้อสงสัยต่อกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกรถชนเสียชีวิต ความว่า

การที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ในในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต จากการขับรถชนดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ถึงแก่ความตาย ในวันที่ 3 กันยายน 2555 ทั้งนี้โดยที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่คัดค้านคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ทำให้นายวรยุทธ อยู่วิทยา หลุดพ้นจากข้อหาทุกคดีที่จะไปถึงศาล เป็นเรื่องที่สั่นคลอนต่อความเชื่อถือที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้

จากที่อ่านเอกสารของอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยาแล้ว ผมสรุปเหตุผลในคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องได้ 3 ประการ ซึ่งผมขอตั้งคำถามที่เป็นข้อสงสัย ดังต่อไปนี้

เหตุผลที่หนึ่ง

  • มีพยานผู้เชี่ยวชาญรายใหม่ 4 ราย คือพันตำรวจโทสมยศ แอบเนียน, พันตำรวจโทสุรพล เดชรัตนวิไชย, รองศาสตราจารย์สายประสิทธิ์ เกิดนิยม และพันตำรวจโทธนสิทธิ แตงจั่น ให้ความเห็นว่านายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถในขณะเกิดอุบัติเหตุไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งไม่เกินกว่าความเร็วที่กฎหมายกำหนดในการขับรถในกรุงเทพมหานคร

คำถาม :

  • ทำไมพยานผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จึงเพิ่งมาปรากฏตัวเมื่อเวลาผ่านไปหลายปีแล้ว? และทั้งๆ ที่เป็นการให้ความเห็นที่หักล้างความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสำนวนสอบสวนครั้งแรกที่สรุปว่า นายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถในขณะเกิดอุบัติเหตุ 177 กม/ชม โดยคลาดเคลื่อนเร็วกว่าหรือช้ากว่าไม่เกิน 17 กม/ชม ซึ่งเป็นการหักล้างข้อเท็จจริงจากขับเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดไปมาก กลายเป็นไม่เกินความเร็วที่กฎหมายกำหนด ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาว่านายวรยุทธ ขับรถโดยประมาทหรือไม่ แต่กลับมีการสอบสวนเพิ่มเติมอย่างเงียบๆ และโดยไม่มีคำอธิบายว่า ทำไมความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญที่มาในภายหลังจึงได้รับการยอมรับที่จะมาหักล้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยอมรับในตอนแรก?

เหตุผลที่สอง

  • ปรากฎพยานใหม่ที่ขับรถตามมา 2 รายคือ พลอากาศโทจักกฤช ถนอมกุลบุตร และนายจารุชาติ มาดทอง ให้การว่า นายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถเพียง 50-60 กม/ชม และเห็นดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ขับมอเตอร์ไซค์เปลี่ยนเลนตัดหน้ารถของนายวรยุทธ ทำให้นายวรยุทธ “ไม่สามารถหลบหลีกและหยุดรถได้ทันท่วงที เหตุที่เกิดจึงเป็นเหตุสุดวิสัย มิใช่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวัง” และอุบัติเหตุนี้กลายเป็น “เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวัง” ของดาบตำรวจวิเชียร ผู้ถูกชนตาย และดังนั้น เมื่อนายวรยุทธไม่ประมาท “จึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” และเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ

คำถาม

  • พลอากาศโทจักกฤช ถนอมกุลบุตร และนายจารุชาติ มาดทอง ที่เป็นพยานรายใหม่ที่สำคัญที่สุดที่เพิ่งปรากฏตัวในปี 2562 ที่ทำให้จาก ‘ประมาท’ กลายเป็น ‘สุดวิสัย’ ทำไมเพิ่งมาเป็นพยานหลังจากเวลาผ่านไปแล้ว 7 ปี? และทำไมเรื่องชนแล้วลากดาบตำรวจวิเชียรไป 200 เมตร โดยไม่มีการหยุดช่วยและหลบหนี จึงไม่มีการกล่าวถึงเลยทั้งๆ ที่เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งของเรื่องนี้?

นอกจากนี้แล้ว ประเด็นสำคัญที่สังคมไม่รับทราบมาก่อนเลยคือ อยู่ดีๆ ดาบตำรวจวิเชียร ผู้ถูกชนตาย กลับกลายเป็น ‘ผู้ต้องหาที่ 2’ คือเป็นคนผิด ที่ขับมอเตอร์ไซค์โดยประมาทไปตัดหน้านายวรยุทธ คำถามคือ การกลับข้างให้คนตายกลายเป็นคนผิด ส่วนคนชนกลายเป็นคนถูก ทำไมเรื่องใหญ่ที่กลับข้อเท็จจริงของคดีเช่นนี้ อัยการและตำรวจจึงทำกันอย่างเงียบเชียบไม่ให้สังคมรับรู้และตั้งคำถามได้เลยเช่นนี้? อีกทั้งในสำนวนของอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ที่สั่งไม่ฟ้องก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่ยืนยันข้อเท็จจริงเลยว่าพยานขับรถตามมาและเห็นเหตุการณ์จริง ซึ่งชวนให้สงสัยเป็นอย่างยิ่งถึงความน่าเชื่อถือของการรับฟังพยานใหม่นี้

เหตุผลที่สามและสรุป

  • สุดท้ายอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ได้ให้เหตุผลในย่อหน้าท้ายสุดว่า “อนึ่ง ฝ่ายผู้ต้องหาที่ 2 (ผู้ตาย) ได้รับค่าเสียหายและสินไหมทดแทนจากผู้ต้องหาที่ 1 จนเป็นที่พอใจ และไม่ประสงค์จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ต้องหาที่ 1 อีกต่อไปแล้ว จึงมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาทึ่ 1 ฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย”

คำถาม

  • คดีนี้เป็นอาญาแผ่นดินยอมความไม่ได้ การที่ฝ่ายผู้ตายได้รับค่าเสียหายและสินไหมทดแทนจนพอใจ และไม่ติดใจเอาความทั้งแพ่งและอาญา จึงไม่อาจเป็นเหตุผลในการสั่งไม่ฟ้อง การชดใช้ค่าเสียหายและสินไหมทดแทนเป็นเรื่องของดุลพินิจของศาลที่จะลดหย่อนผ่อนโทษหรือรอลงอาญา ไม่ใช่เหตุที่อัยการจะสั่งไม่ฟ้อง เมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ แม้ผู้ชนจะไม่หลบหนี มอบตัวยอมรับผิด ให้ความช่วยเหลือครอบครัว และให้ค่าสินไหมทดแทน อัยการก็ยังสั่งฟ้อง ทำไมคดีนี้จึงอ้างเหตุนี้เป็นเหตุผลในการสั่งไม่ฟ้องได้?

การที่ข้อหาก่อนหน้านี้ 4 ข้อหา เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งไม่ฟ้อง 1 ข้อหา คือเมาแล้วขับ โดยให้เหตุผลว่า การที่ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของนายวรยุทธ อยู่วิทยา สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนดนั้น เกิดจากการดื่มหลังชนเพราะเครียด ส่วนอีก 3 ข้อหา คือขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด กระทำโดยประมาททำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย และทำผิดแล้วไม่ช่วยและไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ ขาดอายุความขณะที่อยู่ในระหว่างการสอบสวนของตำรวจ ก็มีความน่าสงสัยที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยมากพออยู่แล้ว การที่ข้อหาหลักที่มีพยานหลักฐานแน่นหนาในตอนแรกถูกหักล้างด้วยพยานที่ปรากฏในภายหลังอย่างน่าสงสัย และทำให้ผู้ต้องหาที่หลบหนีไปต่างประเทศหลุดพ้นจากการดำเนินคดีทั้งปวง จึงทำให้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่ออัยการและตำรวจเป็นอย่างมาก

ผมขอเชิญชวนสังคมและสื่อมวลชนให้ร่วมกัน #เรียกร้องต่อสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแล้ว ดังต่อไปนี้

1.เพื่อความโปร่งใส และทำให้สังคมสิ้นสงสัย ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ #นำพยานใหม่ที่ให้การในภายหลังและทำให้การชนโดยประมาทกลายเป็นเหตุสุดวิสัย และทำให้ดาบตำรวจวิเชียรกลายเป็นคนผิดแทน #มาแสดงตัวต่อสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลอากาศโทจักกฤช ถนอมกุลบุตร และนายจารุชาติ มาดทอง ที่ให้การว่าขับตามมาและเห็นเหตุการณ์ ถ้าเป็นเหตุสุดวิสัยจริงก็ต้องนำมาแสดงตัว และตอบข้อสงสัยต่างๆ ที่สังคมกำลังสงสัยได้

2.ขอให้ชี้แจงว่าดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ที่ถูกชนเสียชีวิต และถูกลากไป 200 เมตร กลายเป็น ‘ผู้ต้องหา’ ไปได้อย่างไร และเป็นผู้ต้องหาตั้งแต่เมื่อไหร่ #เพราะคนสงสัยว่าเป็นการทำให้คนตายกลายเป็นคนผิด เพื่อให้คนที่ทำผิดจริงๆ รอดจากการถูกดำเนินคดีหรือไม่?

ที่สำคัญคือ การตั้งข้อหากับคนตายทำไมทำได้? ถึงแม้จะมีกรณีที่คนตายเป็นคนผิดหรือเป็นผู้ประมาท แต่โดยหลักกฎหมายแล้วคนตายจะเป็น ‘ผู้ต้องหา’ ไปได้อย่างไร เพราะการที่จะเป็นผู้ต้องหา จะต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหา มีการรับทราบข้อกล่าวหา มีสิทธิให้การแก้ข้อกล่าวหา มีสิทธิพบทนายความ และอื่นๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจไปตั้งข้อหาและแจ้งข้อกล่าวหาให้ดาบตำรวจวิเชียรผู้ตายได้อย่างไร และตั้งแต่ตอนไหน? ทำไมจึงสามารถกล่าวหาคนตายที่โต้แย้งไม่ได้? ถ้าไม่ตอบคำถามเหล่านี้คนก็จะสงสัยอยู่ร่ำไปว่าเป็นการช่วยคนที่ทำผิดจริงๆ หรือไม่

เพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมกลับคืนมา และแก้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่นานาประเทศกำลังตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องตอบคำถามและตรวจสอบประเด็นข้อสงสัยเหล่านี้ และเพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริง ผมเห็นว่า #สังคมต้องช่วยกันหาทางนำคดีนี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลให้ได้ครับ

https://www.facebook.com/prinya.thaewanarumitkul/posts/3348940451816536?__cft__[0]=AZWV0Q9bsUK-lw1F9hAVO_3fga-SXRPVzHHpf_-u_JSq73CyqduvY97MpCdJcv5oLlhgZSdOXz6qOIiWEm8G3aT88UrR8GqbQKJ6UMVxrYOEJTE2TY9qLDnIYm8AzQ3f_Ns&__tn__=%2CO%2CP-R

Aindravudh

นักเล่าเรื่อง จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผนวกกับการเริ่มต้นเส้นทางด้วยการเขียนงานวรรณกรรม ก่อนผันตัวมาเจาะประเด็นข่าวทางสังคม ออนไลน์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button