สุขภาพและการแพทย์

ไปอีกหนึ่ง! ภูเก็ต จังหวัดล่าสุด งดขายเหล้า-สุรา เริ่มวันนี้เป็นต้นไป

นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ออกคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 1943/2563 เรื่อง ปิดสถานที่ร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุราเป็นการชั่วคราว

ประเด็นสำคัญ

  • สั่งห้ามร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุรา ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 (ร้านค้าขายปลีก และร้านค้าขายส่ง) จำหน่ายสุรา
  • ร้านค้าดังกล่าว ยังสามารถจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นได้
  • มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (11 เมษายน) จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในปัจจุบันได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางไปหลายประเทศทั่วโลก โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 กำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558

นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 เกี่ยวกับโรคดังกล่าวและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโณนา 2019 (COVID-19) จากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดภูเก็ตพบว่ายังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 และมาตรา35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ข้อ 7 (1) ประกอบข้อ 2 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563

ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 19/2563 เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2563 จึงออกคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์คลี่คลายไว้ ดังนี้

ร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุรา ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ที่ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายสุราตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 โดยสามารถจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นได้

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้ใช้สิทธิโต้แย้งได้ตามความมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

สั่ง ณ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button