สุขภาพและการแพทย์

ธรรมศาสตร์ รังสิต ออกมาตรการเยียวยาร้านอาหาร-วิน ภายในมหาวิทยาลัย

ผศ. ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนยันผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Prinya Thaewanarumitkul ออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ภายในมหาลัย หลังเจอพิษโควิด-19 เล่นงาน

ตามที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปลี่ยนการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม และปิดมหาวิทยาลัยตามประกาศของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม – 12 เมษายน 2563 ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยในโรงอาหาร ร้านค้าต่างๆ และมอเตอร์ไซค์รับจ้างภายในศูนย์รังสิต รวมถึงลูกจ้างของบริษัทต่างๆ ด้วย

เนื่องจากไม่มีคนมามหาวิทยาลัย และนักศึกษาที่อยู่หอก็กลับบ้านกันไปกว่าครึ่งหนึ่ง

ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิต ผมได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว และขอแจ้งให้ทราบถึงมาตรการที่ฝ่ายบริหารศูนย์รังสิต จะบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกอบการและผู้มีรายได้น้อยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ดังต่อไปนี้

1. มาตรการลดราคาค่าเช่าให้กับร้านค้าในโรงอาหารและผู้ประกอบการอื่นๆ

(1) มหาวิทยาลัยจะลดราคาค่าเช่าเดือนมีนาคมเหลือ 50% ให้กับ ร้านอาหารในโรงอาหาร และผู้ประกอบการอื่นในมหาวิทยาลัย (เพราะได้ขายเป็นปกติถึงแค่วันที่ 15 มีนาคม) โดยในเดือนเมษายนอาจพิจารณาลดมากกว่า 50% เพราะแม้ว่าวันที่ 13 เมษายนจะเปิดมหาวิทยาลัยอีกครั้ง แต่มหาวิทยาลัยจะสอนออนไลน์ต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งผมกำลังหารือกับสำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬาที่เป็นผู้ดูแลโรงอาหาร และจะเสนอท่านอธิการบดีให้อนุมัติต่อไปครับ

(2) สำหรับ โรงอาหารกรีนแคนทีน และโรงอาหารรอบดึก ซึ่งบริษัทซีพีเป็นผู้ดูแลนั้น ผมได้ทำหนังสือพร้อมกับโทรศัพท์ไปแจ้งผู้จัดการแล้วว่า ขอให้บริษัทฯ ลดราคาค่าเช่าให้กับผู้ประกอบการในโรงอาหารกรีนแคนทีนเหมือนกับโรงอาหารของมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยก็จะลดค่าสนับสนุนการศึกษาที่บริษัทต้องนำส่งมหาวิทยาลัยเป็นรายเดือนให้

https://www.facebook.com/prinya.thaewanarumitkul/posts/2991519890891929

 

2. แม่บ้านและพนักงานรักษาความปลอดภัย ที่เป็นลูกจ้างของบริษัทที่รับงานดูแลความสะอาดและความปลอดภัย ผมได้แจ้งบริษัทไปแล้วว่า แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะปิดในช่วงนี้ แต่ห้ามเลิกจ้างแม่บ้าน และรปภ. เพราะมหาวิทยาลัยจ้างเหมาเป็นรายปี บริษัทจึงมีรายได้แน่นอนอยู่แล้ว จึงห้ามเลิกจ้างลูกจ้างเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นลูกจ้างรายวัน

3. วินมอเตอร์ไซค์ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งผมสอบถามในเบื้องต้น ได้ข้อมูลว่าจากที่เคยวิ่งประมาณ 100 คัน ตอนนี้เหลือเพียง 40 คัน และมีรายได้ต่อคันเพียงวันละ 100 กว่าบาทเท่านั้น ผมจึงแจ้งบริษัทที่เป็นผู้ดูแลแล้วว่า ให้ลดค่าวินอย่างน้อย 50% และมหาวิทยาลัยจะลดราคาค่าสนับสนุนการศึกษาที่บริษัทจะต้องนำส่งมหาวิทยาลัยเป็นรายเดือนให้เช่นเดียวกัน

4.สำหรับมาตรการเพิ่มเติมในการช่วยร้านอาหารในโรงอาหารและวินมอเตอร์ไซค์ คือ ให้ร้านปรับเป็นการขายเป็นแบบจัดส่งอาหาร โดยวินมอเตอร์ไซค์จะเป็นคนขับส่งอาหาร ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือวินมอเตอร์ไซค์ และสนับสนุนมาตรการอยู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดด้วย

ในการดำเนินการนี้ผมขอให้สำนักงานบริหารทรัพย์สินฯ เป็นแม่งานในการสร้างระบบในการให้มีการสั่งอาหารออนไลน์ ให้เป็น Thammasat Food Delivery ไปเลยครับ โดยจะต้องใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งโดยใส่ในถุงผ้าและเอาถุงผ้าคืน และถ้าเป็นปิ่นโต หรือทัปเปอร์แวร์ได้ก็จะดีที่สุดเลย ตอนนี้กำลังเตรียมการ เมื่อพร้อมแล้วจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งครับ

ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการในขั้นต้น มาตรการช่วยเหลือมากกว่านี้จะดูสถานการณ์และจะเสนอท่านอธิการบดีต่อไปครับ ตอนนี้ไม่เพียงแต่ต้องช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาด แต่ต้อง #ช่วยผู้ประกอบการและผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาด ด้วยครับ

ขอบคุณทุกท่านครับ เราจะผ่านโควิดไปด้วยกันครับ

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=3020597671317484&set=a.271670256210253&type=3

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button