ข่าวการเมือง

วันนอร์ โต้กลับ กอ.รมน. อย่างนี้ไม่เรียก “รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน”

วันนอร์ โต้กลับ กอ.รมน. อย่างนี้ไม่เรียก “รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน”

จากกรณีวันที่ 3 ต.ค. พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้รับมอบอำนาจจากแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน. ภาค4) เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ให้ดำเนินคดี ม.116 กับตัวแทน 7 พรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการบุคคลรวม 12 คน ซึ่งจัดงานเสวนา “พลวัฒแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่บริเวณลานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมานั้น

ผู้ที่โดนฟ้องร้องประกอบด้วย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อายุ 78 ปี หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อายุ 40 ปี หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายนิคม บุญวิเศษ อายุ 49 ปี หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อายุ 75 ปี หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อายุ 75 ปี หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อายุ 64 ปี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นางชลิตา บัณฑุวงศ์ อายุ 47 ปี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลับเกษรศาสตร์ นายสมพงษ์ สระกวี อายุ 69 ปี นายมุข สุไลมาน อายุ 70 ปี นายรักชาติ สุวรรณ อายุ 55 ปี นายอสมา มังกรชัย อายุ 45 ปี นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ อายุ 48 ปี

อ่านข่าวก่อนหน้า : พล.ต.บุรินทร์ กอ.รมน.ภาค 4 แจ้งความ 7 พรรคฝ่ายค้าน จัดงานเสวนายุยงปลุกปั่นปชช.

วันที่ 4 ต.ค. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้ออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าวว่า “ตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ ใช้บังคับกับประชาชนทุกคน ไม่เว้นแต่คนที่มีตำแหน่งใหญ่โต หรือเรื่อยไปถึงประชาชนทั่วไป รัฐธรรมนูญถูกบังคับใช้ และต้องคุ้มครองประชาชนไว้ด้วยสิทธิ เสรีภาพ ตามระบอบประชาธิปไตยอันดี สิ่งนี้ล้วนเป็นพื้นฐานแห่งความสงบ สันติ ขอประเทศที่พวกเราต่างก็ทราบกันดี

การที่ประชาชนคนใดสะท้อนถึงความบกพร่องด้วยหลักเหตุและผลต่อรัฐธรรมนูญ นั้นนับเป็น “ความหวังดี” ต่อชาติเสียด้วยซ้ำ เพราะหากเราทั้งหลายสามารถทำให้รัฐธรรมนูญมีความรัดกุม รอบคอบ ตรงหลักการทั้งประชาธิปไตย มนุษย์ชน มนุษยธรรม ความยุติธรรม การมีส่วนร่วมของประชาชน มากเท่าไร ความมั่นคง มั่งคั่งของประเทศก็จะมีมากขึ้นไปเท่านั้น

ไม่มีใครอยากอยู่ภายใต้ความไม่ยุติธรรมจากอำนาจรัฐหรอก ตามกฏธรรมชาติหากมีการกดขี่ ก็ย่อมมีการต่อสู้ ฉันใดฉันนั้น

การข่มขู่ด้วยลุแก่อำนาจ คิดว่าประเทศนี้นั้นมีพรรคพวกของตนเท่านั้นที่ถูกต้อง มองอย่างไตร่ตรองอย่างหยาบๆก็ทราบได้ว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่คำนึงถึงเหตุและผล ยิ่งหากข้อพิสูจน์เป็นไปด้วยตาม “ใบสั่ง” มากกว่าหลักเหตุผล ประชาชนเขาก็ยิ่งเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญนี้มีชนชั้น ใครอย่าไปหือ ไปอือ เพราะมิเช่นนั้นจะถูกอำนาจบางอย่างเล่นงานเข้าได้

กฏหมายสูงสุดอย่างนี้เขาไม่เรียก “รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน” หรอก

เราภูมิใจนักหนากับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ให้สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคกันในหมู่ปวงชน แต่นับวันยิ่งเห็นถึงใจลึกจริงๆของผู้คนบางกลุ่มว่าพวกเขามองประชาชนไม่เท่าเทียมกัน และพยายามไม่อยากเห็นการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชน อยากให้อำนาจมันกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มผลประโยชน์ฝ่ายเขาอย่างเดียว ใครอย่าไปแตะต้อง เพราะพวกเขาสบายในโอกาสอย่างนี้ ใช้อำนาจได้ตามใจอย่างนั้น

เช่นนี้แล้ว การแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ซึ่งประชาชนไม่ได้โง่ที่ไม่รู้ว่าที่มาของ ส.ว. นั้นมาจากกลุ่มใด นั้นถึงได้รับการต่อต้านหรือตีความยาวไกลว่าเป็นการกระด้างกระเดื่องต่อรัฐธรรมนูญ ถามจริงๆว่ากระด้างกระเดื้องต่อรัฐธรรมนูญ หรือกระด้างกระเดื้องต่ออำนาจกลุ่มตนเองกันแน่ ?

แน่นอนว่าการต่อสู้ในหนทางประชาธิปไตยย่อมยากลำบาก แต่พวกเราเจ็ดพรรคฝ่ายค้านต้องทำ เพราะมันคือความหวังของประชาชน ความหวังที่อำนาจได้ถูกกระจายออกไปอยู่ในมือประชาชน ความหวังที่ความยุติธรรมจะได้รับการตอบสนองและมีเหตุผล ความหวังที่สังคมไทยจะสงบอย่างมีสุข หาใช่ความสงบที่มาจากความหวาดกลัว และที่สำคัญ “อำนาจแห่งการข่มขู่” ย่อมมิใช่อำนาจที่ยิ่งใหญ่ไปกว่า “การเรียกร้องของประชาชน” หรอก

ภาพจาก : วันมูหะมัดนอร์ มะทา

Aindravudh

นักเล่าเรื่อง จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผนวกกับการเริ่มต้นเส้นทางด้วยการเขียนงานวรรณกรรม ก่อนผันตัวมาเจาะประเด็นข่าวทางสังคม ออนไลน์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button