ข่าวการเมือง

เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม 24 แกนนำ นปช ไม่ใช่ก่อการร้าย

เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม 24 แกนนำ นปช ศาลยกฟ้อง ไม่ใช่ก่อการร้าย การเผาไม่ใช่การกระทำของนปช.

นปช. – วานนี้ เว็บไซต์ประชาไท รายงานคำพิพากษาของศาลอาญาที่อัยการเป็นโจทย์ยื่นฟ้อง วีระกานต์ มุสิกพงศ์ จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 24 คน

ข้อหาที่โดนคือ ร่วมกันเป็นผู้ก่อการร้าย/ยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋งดอกจิก จำเลยที่ 7 ข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์อีกสองฐานความผิด /อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง จำเลยที่ 24 ข้อหาร่วมกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนในอีกสองฐานความผิด

ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหมดร่วมกันเป็นผู้ก่อนการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135/1 , 135/2 และพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 , 18 เฉพาะจำเลยที่ 7 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 , 340 ตรี จำเลยที่ 24 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตา 116 , 215 และ 216 อีกต่างหาก

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้ว เห็นว่า การกระทำอันเป็นความผิดก่อการร้ายจะต้องเป็นการกระทำอันเข้าองค์ประกอบความผิดที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135 /1 (1)ถึง(3) คือต้องมีลักษณะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายหรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ กระทำการใดใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะระบบโทรคมมนาคมหรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะกระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใดหรือบุคคลใดหรือต่อสิ่งแวดล้อมอันก่อให้เกิดหรือน่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวนั้นผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษโดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทยรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน แต่หากเป็นการกระทำในการเดินขบวนชุมนุมประท้วงโต้แย้งหรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย

จากพยานหลักฐานทางนำสืบของโจทก์ไม่มีพยานปากใดที่ข้ามาเบิกความยืนยันว่ามีจำเลยคนหนึ่งคนใดที่เป็นแกนนำกลุ่มนปช. ได้ทำการปราศรัยหรือกระทำการอันเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ผู้ร่วมชุมนุมกระทำการดังที่ได้ระบุไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรามาตรา 135 / 1 (1) ถึง (3) แม้โจทก์จะมีพยานเบิกความต่อศาลว่าระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นมากมายหลายแห่งตามข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องแต่พยานโจทก์ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นการกระทำของบุคคลใดหรือเป็นการกระทำของฝ่ายใด และไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งข่าวว่าเป็นจริงหรือไม่ และยังมีพยานโจทก์อีกหลายปากเบิกความต่อศาลว่าการชุมนุมของ นปช. เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมืองให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งกันใหม่เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมโดยเฉพาะเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ก็ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่าเป็นการกระทำของกลุ่มนปช. การเดินทางไปที่รัฐสภาและสถานีดาวเทียมไทยคมก็เป็นการเดินทางไปเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีคำสั่งให้ต่อสัญญาณสถานีโทรทัศน์ช่องพีเพิล ชาเเนล ที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดหรือตัดสัญญาณไปก่อนหน้านั้น

ชายชุดดำ ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นกองกำลังของฝ่ายใดและไม่สามารถจับกุมบุคคลใดมาดำเนินคดีได้ในขณะนั้นทั้งๆ ที่สถานที่ที่ปรากฏตัวชายชุดดำมีประชาชนอยู่ด้วยจำนวนมากจึงไม่น่าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะจับกุมดำเนินคดีไม่ได้ทันท่วงที การที่แกนนำกลุ่มนปช. ปราศรัยบนเวทีที่ว่าหากทหารออกมาสลายการชุมนุมหรือทำรัฐประหารให้ประชาชนนำน้ำมันและให้มีการเผานั้น เป็นการกล่าวปราศรัยบนเวทีก่อนวันที่จะมีการชุมนุมใหญ่หลายวันและไม่มีเหตุการณ์เผาทำลายทรัพย์สินตามที่มีการปราศรัยแต่อย่างใด

การวางเพลิงเผาทรัพย์เกิดขึ้นช่วงบ่ายวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ภายหลังจากแกนนำกลุ่มนปช. ประกาศยุติการชุมนุมแล้วซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยในเรื่องการวางเพลิงเผาทรัพย์ไว้เป็นที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8132 / 2561 ว่ามิใช่เป็นการกระทำของกลุ่มนปช.

การปราศรัยเรียกร้องให้ประชาชนทำการต่อต้านการทำรัฐประหารเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่สามารถจะทำได้ไม่ถือเป็นความผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใดการชุมนุมของกลุ่มนปช. เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่เป็นการใช้สิทธิ์เรียกร้องทางการเมือง ซึ่งแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศแนวทางการต่อสู้มาโดยตลอดว่าเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธีสงบและปราศจากอาวุธและปฏิเสธเข้ามาดำเนินการของพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง กับพวกซึ่งมีแนวทางการต่อสู้คนละแนวกันตลอดมา การดำเนินการของพลตรีขัตติยะกับพวกจึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มนปช. เพราะแกนนำนปช. ประกาศจุดยืนมาโดยตลอดว่าเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธีสงบ ปราศจากอาวุธ การชุมนุมของกลุ่มนปช. มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากจึงอาจจะมีบุคคลผู้ไม่หวังดีแฝงตัวเข้ามาเพื่อสร้างสถานการณ์ให้เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายก็เป็นได้

การที่จำเลยที่ 7 กับพวกขัดขวางการลำเลียงกำลังพลของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าและยึดเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ไปแสดงต่อสื่อมวลชนบริเวณเวทีปราศรัยและต่อมาเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องรับเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลายเหล่านั้นกลับคืนไปหมดแล้วการกระทำดังกล่าวมิได้ประสงค์เอาแก่ตัวซับเพื่อเอาเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ชอบจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันปล้นซับเหตุวางเพลิงเผาซัทรัพย์ และทำลายทรัพย์สินของทางราชการบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเกิดขึ้นภายหลังจากจำเลยที่ 7 นำเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ไปแสดงต่อสื่อมวลชนแล้วไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 7 เดินทางกลับไปอีกกรณีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่เจ็ดร่วมกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วย

โจทก์ฟ้องคดีนี้รวม 5 สำนวนขอให้ลงโทษฐานก่อการร้ายโดยบรรยายฟ้องถึงลักษณะการกระทำความผิดต่างๆ เพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิดและไม่ได้ขอให้ลงโทษในการกระทำความผิดลักษณะต่างๆ มาด้วยจึงถือว่าเหตุการณ์ต่างๆ ตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษเฉพาะจำเลยที่ 24 ในความผิดต่างๆ อันเป็นองค์ประกอบความผิดมานั้นฟังได้ว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันกับคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 24 กับพวกต่อศาลจังหวัดพัทยา กรณีพาพวกไปขัดขวางการประชุมผู้นำอาเซียนและศาลจังหวัดพัทยามีคำพิพากษาแล้วคำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (4) แม้รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล แต่ต่อมาศูนย์อำนวยการรแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ. ได้ประกาศห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมในท้องที่ดังกล่าว

การออกประกาศเช่นว่านั้น ก็เพื่อควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มนปช. ซึ่งได้ร่วมชุมนุมต่อเนื่องติดต่อกันมาแล้วหลายวัน แต่ภายหลังที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงแล้วไม่ได้ความจากพยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ว่าแกนนำกลุ่มนปช. แดงจัดการชุมนุมที่อื่นได้อีกนอกเหนือจากสถานที่ที่มีการชุมนุมอยู่ก่อนแล้วการกระทำของจำเลยที่ 1- 15 และจำเลยที่ 18- 24 จึงไม่เป็นความผิด พิพากษาให้ยกฟ้องทั้งหมด ทุกข้อกล่าวหา

รายชื่อผู้ถูกฟ้องทั้ง 24 คน

1.นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช.

2. นายจตุพร หรือตู่ พรหมพันธุ์ ประธานนปช.

3.นายณัฐวุฒิ หรือเต้น ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช.

4.นพ.เหวง โตจิราการ

5. นายก่อแก้ว พิกุลทอง

6.นายขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา

7. นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก

8.นายนิสิต สินธุไพร

9. นายการุณ หรือเก่ง โหสกุล

10.นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท

11.นายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุจินดาทอง

12.นายสุขเสก หรือสุข พลตื้อ

13.นายจรัญ หรือยักษ์ ลอยพูล

14.นายอำนาจ อินทโชติ

15.นายชยุต ใหลเจริญ

16.นายสมบัติ หรือผู้กองแดง มากทอง

17.นายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์

18.นายรชต หรือกบ วงค์ยอด

19.นายยงยุทธ ท้วมมี

20.นายอร่าม แสงอรุณ

21.นายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ อดีตคนสนิท เสธ.แดง

22.นายมานพ หรือเป็ด ชาญช่างทอง กลุ่มการ์ด นปช.

23.นายสมพงษ์ หรืออ้อ หรือแขก หรือป้อม บางชม

24.นายอริสมันต์ หรือกี้ร์ พงศ์เรืองรอง

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2332538710318895&id=1426666687572773&__xts__%5B0%5D=68.ARDAGW9JlKI3gnj7QQpC6uDAXflOvA-HxJtOcyDY9XxKPno7MlXRQJ5r3pNL9Q0Vir36HthQOwDOntA6KYfxEGQLH-jS82xTSN_G-dI3j_E9eJ24BobhqE6mOWcWfNPcbnM626NIdf7nv_hSOJwBl7VHHljznY9L_RIcCaP5CxhI0JmiWGNLP10768a7OJFwN96aa77_GhmndNntvfNhfPAvSfHPdiELip6jio22KIKvv2mQSOOXzcWRXKGrgWMHTu58DR79S_HeiVmGy-t_w1PLCceLfep2QznNSxuKVaseu0EXtnx5_SzkC7Ck2hulWemADWc1P0rB0TrcYmN0laCmK20L&__tn__=-R

อ้างอิงจาก

 

Aindravudh

นักเล่าเรื่อง จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผนวกกับการเริ่มต้นเส้นทางด้วยการเขียนงานวรรณกรรม ก่อนผันตัวมาเจาะประเด็นข่าวทางสังคม ออนไลน์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button