เตรียมเฮ! รฟม. เตรียมดำเนินกิจการรถไฟฟ้าให้แก่จังหวัดภูเก็ต
ย้อนรอย กว่า 10 ปี ที่คนภูเก็ตรอคอยรถไฟฟ้ารางเบา เตรียมเฮ! มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าให้แก่จังหวัดภูเก็ต พังงา เชียงใหม่ และ นครราชสีมาแล้ว
นับเป็นข่าวที่น่ายินดีสำหรับคนจังหวัดภูเก็ต พังงา เชียงใหม่ และนครราชสีมา หลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดจังหวัดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าให้แก่จังหวัดภูเก็ต พังงา เชียงใหม่ และนครราชสีมา เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา
สำหรับภูเก็ต เป็นอีกหนึ่งจังหวัด ที่มีความพยายามในการผลักดันให้โครงการรถไฟฟ้ารางเบาเกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ โดยความพยายามดังกล่าวเกิดขึ้นมายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว มีการใช้งบประมาณในการศึกษาความเป็นไปได้จำนวนมหาศาล ที่ผ่านมา มีภาคเอกชน และนักลงทุนชาวต่างชาติเดินพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดหลายคน รวมทั้งการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศเพื่อผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
เนื่องจากจังหวัดภูเก็ต เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศและมีชื่อเสียงในระดับโลก ด้วยความเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังทำให้ความเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด มีธุรกิจน้อยใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่มากมาย รวมไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง บวกกับผู้คนที่เข้ามาอาศัยและท่องเที่ยวมากขึ้นในทุกๆ ปี ทำให้เกิดปัญหาด้านการสัญจรที่ไม่สะดวกมากมาย ซึ่งที่ผ่านมา มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการมาแล้วหลายครั้ง จนกระทั่งล่าสุด ทางกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าภาพในการดำเนินโครงการ
หลังได้รับมอบหมาย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เข้าหารือจังหวัดภูเก็ต เพื่อเร่งศึกษา PPP ร่วมทุนโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เตรียมเสนอ ครม. ในเดือน เม.ย.นี้ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการ PPP Fast Track คาดว่าจะสามารถเชิญชวนร่วมลงทุนได้ในไตรมาส 3 ปี 2562 และจะใช้ระยะเวลาพิจารณาข้อเสนอ ซึ่งจะรู้ผลผู้ชนะและลงนามสัญญาได้ประมาณกลางปี 2563 และมีแผนจะเริ่มก่อสร้างในปีเดียวกัน โดยใช้เวลาในการก่อสร้าง 3.5 ปี สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 66
โดยให้ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ในการให้บริการ ในช่วงเวลา 30 ปี (ปี 66-96) ประมาณการรายได้โครงการจากค่าโดยสารรวม 7.45 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ โครงการเป็น PPP รูปแบบคล้ายกับสายสีชมพูและสายสีเหลือง โดยภาครัฐจะอุดหนุนค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 1.78 หมื่นล้านบาท ค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.5 พันล้านบาท โดยให้เอกชนลงทุนไปก่อน รวมทั้งลงทุนระบบรถไฟฟ้า และจัดหาขบวนรถไฟฟ้า การเดินรถและการซ่อมบำรุงรักษา
สำหรับการดำเนินโครงการ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดย รฟม. จะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 ก่อน ซึ่งเป็นช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. โดยมีสถานีทั้งหมด 21 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี ซึ่งการปรับเปลี่ยนสถานีจะทำให้มูลค่าการก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีกจุดละ 500-800 ล้านบาท ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ ดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว ส่วนระยะที่ 2 เริ่มจากช่วงท่านุ่น-เมืองใหม่ ระยะทาง 16.8 กม.
อย่างไรก็ตาม โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต มีมูลค่าโครงการ ประมาณ 3.48 หมื่นล้านบาท ส่วนค่าเวนคืนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 พันล้านบาท โดยขณะนี้โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ และยังไม่มีการเปิดให้ประมูลแต่อย่างใด ซึ่งตามแผนการดำเนินงาน ทาง รฟม.คาดว่าจะสามารถขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ราวเดือนเมษายนนี้
ทั้งนี้ ในส่วนของการกำหนดอัตราค่าโดยสารแบบระยะทาง สูงสุดประมาณ 100-137 บาทต่อเที่ยว หรือแรกเข้า 18 บาท เก็บตามระยะทาง กม.ละ 2 บาท โดยจากการวิเคราะห์พบว่า โครงการนี้จะให้ผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) ประมาณ 12.5%
โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการใหญ่ มีนักลงทุนจากต่างประเทศให้ความสนใจ ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี จีน ญี่ปุ่น ส่วนเอกชนไทย มีผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ราย ได้แก่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้ง (BTS) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ให้ความสนใจ และบริษัทผู้รับเหมารายใหญ่ รวมทั้งกลุ่มทุนท้องถิ่น เช่น บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด