ข่าว

คืนนี้ ฝนดาวตกควอดรานติดส์ 2568 เวลามองเห็นชัดสุด สูงสุด 80 ดวงต่อชั่วโมง

ปรากฎการณ์ดาราศาสตร์ มกราคม 2568 ชวนดู ฝนดาวตกควอดรานติดส์ หลังเที่ยงคืน 3 – รุ่งเช้า 4 มกราคม

คืนนี้คนรักดวงดาวมีนัด NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แจ้งว่า หลังเที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ 3 มกราคม 2568 ตั้งแต่เวลา 02:00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าของวันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2568 จะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกควอดรานติดส์”

Advertisements

ศูนย์กลางการกระจายอยู่ระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส (Hercules) กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Boötes) และกลุ่มดาวมังกร (Draco) เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปีนี้คาดมีอัตราการตกสูงสุด 80 ดวงต่อชั่วโมง และไร้แสงจันทร์รบกวน จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์ สามารถชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ แนะนำชมในสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน

ฝนดาวตกควอดรานติดส์ เป็นฝนดาวตกที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงวันที่ 28 ธันวาคม – 12 มกราคม ของทุกปี และมักมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงวันที่ 3 – 4 มกราคม สาเหตุเกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดเข้ากับสายธารเศษอนุภาคที่ดาวเคราะห์น้อย 2003 อีเอช1 (2003 EH1) เหลือทิ้งไว้ขณะเดินทางผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในทุก ๆ 5.5 ปี

เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลก เกิดเป็นลำแสงวาบที่คนบนโลกเรียกดาวตก

ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือ เป็นกลุ่มดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุด ๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ สำหรับชื่อของฝนดาวตกควอดรานติดส์ (Quadrantids) ตั้งชื่อตามกลุ่มดาวควอดแดรนส์ มูราลิส (Quadrans Muralis) หรือกลุ่มดาวเครื่องมือเดินเรือ เป็นกลุ่มดาวที่ปรากฏในแผนที่ดาวในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว หากเทียบกับแผนที่ดาวปัจจุบันจะอยู่ระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มดาวมังกร

ตารางปรากฏการณ์ฝนดาวตก ปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568)

ชื่อฝนดาวตก วันที่มีมากที่สุด ช่วงวันที่เกิด อัตราต่อชั่วโมง (ประมาณ) ลักษณะสำคัญ
Quadrantids (ควอดแดรนทิดส์) 4 มกราคม 26 ธ.ค. – 12 ม.ค. 120 ดาวตกสีออกน้ำเงินหรือเหลืองขาว มีหางบาง
Lyrids (ไลริดส์) 22 เมษายน 16 – 25 เม.ย. 18 ดาวตกสว่าง เคลื่อนที่เร็ว บางดวงมีหาง เกี่ยวข้องกับดาวหางแทตเชอร์ (Comet Thatcher)
Eta Aquariids (อีตา อควอริดส์) 5 พฤษภาคม 19 เม.ย. – 28 พ.ค. 40 ปรากฏค่อนข้างต่ำเหนือขอบฟ้า เกี่ยวข้องกับดาวหางฮัลเลย์ (Comet Halley)
Alpha Capricornids (แอลฟา แคปริคอร์นิดส์) 30 กรกฎาคม 3 ก.ค. – 15 ส.ค. 5 ลูกไฟสีเหลือง เคลื่อนที่ค่อนข้างช้า
Delta Aquariids (เดลตา อควอริดส์) 30 กรกฎาคม 12 ก.ค. – 23 ส.ค. 25 มีดาวตกมาอย่างต่อเนื่องหลายวัน แต่อัตราต่อชั่วโมงไม่สูงนัก
Perseids (เพอร์เซอิดส์) 12 สิงหาคม 17 ก.ค. – 24 ส.ค. 150 มีดาวตกจำนวนมาก เคลื่อนที่เร็ว สว่าง มีหางบาง เกี่ยวข้องกับดาวหางสวิฟต์-ทัทเทิล (Comet Swift-Tuttle)
Draconids (ดราโคนิดส์) 8 ตุลาคม 6 – 10 ต.ค. 10 เกี่ยวข้องกับดาวหาง 21/P จาโคบินี-ซิมเมอร์ (Comet Giacobini-Zinner)
Orionids (โอไรโอนิดส์) 22 ตุลาคม 2 ต.ค. – 7 พ.ย. 15 ดาวตกเคลื่อนที่เร็ว มีหางบาง เกี่ยวข้องกับดาวหางฮัลเลย์ (Comet Halley)
Taurids (ทอริดส์) ฝั่งใต้: 10 ก.ย. – 20 พ.ย.
ฝั่งเหนือ: 20 ต.ค. – 10 ธ.ค.
5 ดาวตกเคลื่อนที่ช้ามาก แบ่งเป็นฝั่งใต้ (Southern Taurids) มีสูงสุด 10 ต.ค. และฝั่งเหนือ (Northern Taurids) มีสูงสุด 12 พ.ย.
Leonids (ลีโอนิดส์) 17 พฤศจิกายน 6 – 30 พ.ย. 15 ดาวตกสว่าง เคลื่อนที่เร็ว มีหางบาง เกี่ยวข้องกับดาวหางเทมเพล-ทัทเทิล (Comet Tempel-Tuttle)
Geminids (เจมินิดส์) 14 ธันวาคม 4 – 20 ธ.ค. 120 มีดาวตกจำนวนมาก สว่าง บางดวงอาจมีหางสั้น
Ursids (เออร์ซิดส์) 22 ธันวาคม 17 – 26 ธ.ค. 10 เป็นฝนดาวตกที่มีไม่มากนัก เกี่ยวข้องกับดาวหาง 8P/ทัทเทิล (Comet 8P/Tuttle)

หมายเหตุ: วันที่ทั้งหมดเป็นการคาดการณ์โดยประมาณ ทั้งนี้สภาพอากาศและสภาพท้องฟ้าอาจส่งผลต่อการมองเห็นได้

Advertisements
ฝนดาวตกควอดรานติดส์ 2568 ภาพแกะสลักปีพ.ศ. 2368 นี้ซึ่งจัดทำโดยหอสมุดรัฐสภาแสดงให้เห็นแผนภูมิดาราศาสตร์ซึ่งแสดงภาพนายบูทส์ชาวไถนาถือหอก เคียว และสุนัขสองตัวชื่อแอสเทอริออนและชาราซึ่งใส่สายจูง มีจตุภาค และผมของเบเรนิซที่ประกอบเป็นกลุ่มดาว
(Sidney Hall/Library of Congress via AP)

สถานที่ดู ฝนดาวตกควอดรานติดส์ในไทย แนะนำอุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park)

ปกติไม่ว่าพื้นที่ไหนก็สามารถแหงนดูฝนดาวตกได้ ถ้าบรรยากาศตรงนั้นมืดสนิทจริงๆ ไม่มีแสงไฟจากอาคารบ้านเรือนรบกวน รวมถึงแสงจากดวงจันทร์ แต่ถ้าใครสะดวก อยู่ใกล้ อุทยานท้องฟ้ามืด จะทำให้การรับชมปรากฎการณ์ฝนดาวตกควอดรานติดส์ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะสถานที่เหมาะที่สุดจริงๆ

กลุ่มอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

  1. อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง (เชียงใหม่/แม่ฮ่องสอน) มีจุดกางเต็นท์หลายจุด ฟ้าใส แสงรบกวนน้อย เหมาะแก่การดูดาวและถ่ายภาพทางช้างเผือก
  2. อุทยานแห่งชาติศรีน่าน (น่าน) บริเวณดอยเสมอดาวและผาหัวสิงห์ เป็นจุดชมดาวยอดนิยม โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว
  3. อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล (ลำพูน/ลำปาง) ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ท้องฟ้ามืดโดย NARIT มีจุดกางเต็นท์และเส้นทางเดินป่า
  4. อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า (พิษณุโลก/เลย) ยอดเขาและลานกางเต็นท์ตามสันเขาจะมีทัศนวิสัยที่ดี ไร้แสงไฟรบกวน
  5. อุทยานแห่งชาติภูกระดึง (เลย) เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศยอดฮิต สามารถเดินขึ้นไปกางเต็นท์ชมดาวที่ลานกางเต็นท์หลังแป

กลุ่มหอดูดาวและศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์

  1. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา
    • ตั้งอยู่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีการจัดกิจกรรมและค่ายดูดาวโดย NARIT
    • พื้นที่โดยรอบมีแสงรบกวนต่ำกว่าย่านชุมชนเมือง เหมาะแก่การสังเกตการณ์ท้องฟ้ายามค่ำคืน
  2. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา
    • ตั้งอยู่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา มักจัดกิจกรรมสังเกตวัตถุท้องฟ้าสำหรับประชาชน
    • มีอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ
  3. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา
    • ตั้งอยู่ อ.สะเดา จ.สงขลา ให้บริการประชาชน นักเรียน นักศึกษา ในภาคใต้
    • บางช่วงอาจเปิดเป็น “ค่ายดูดาว” หรือจัดกิจกรรมพิเศษในโอกาสที่มีปรากฏการณ์ใหญ่

พื้นที่โฮมสเตย์ ชุมชน และสถานที่ท่องเที่ยวแนวธรรมชาติ

  1. บ้านจ่าโบ่ (แม่ฮ่องสอน)
    • อยู่บนพื้นที่สูง บริเวณหมู่บ้านมีการรบกวนจากแสงไฟน้อยมาก สามารถเห็นดาวได้เต็มท้องฟ้า
    • มีโฮมสเตย์หลายแห่งให้เลือกพัก และช่วงเช้ายังมีทะเลหมอกสวยงาม
  2. บ้านนาเลาใหม่ (เชียงใหม่/แม่ฮ่องสอน)
    • ชุมชนเล็ก ๆ กลางขุนเขา มีโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อนและชมดาว
  3. เขื่อนเชี่ยวหลาน (เขาสก สุราษฎร์ธานี)
    • พื้นที่ส่วนหนึ่งของเขื่อนอาจมีท้องฟ้าค่อนข้างมืด เมื่อออกห่างจากโซนที่พักที่มีแสงไฟหนาแน่น
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา
ภาพจาก: หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา

เบื้องหลัง “แสงวาบ” ของฝนดาวตกควอดรานติดส์เกิดขึ้นได้อย่างไร

ฝนดาวตกควอดรานติดส์ มีรายงานว่าความเร็วเฉลี่ยขณะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกอยู่ที่ประมาณ 41 กิโลเมตรต่อวินาที (km/s) ซึ่งจัดว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับฝนดาวตกอื่น ๆ เมื่ออุกกาบาตเคลื่อนที่ด้วยความเร็วหลายสิบกิโลเมตรต่อวินาที การเสียดสีกับโมเลกุลอากาศในบรรยากาศจะก่อให้เกิด แรงต้านและความร้อนสูง อนุภาคเหล่านี้จึงถูกเผาไหม้และเปล่งแสงวาบขึ้นมา

ดาวตกส่วนมากจะเผาไหม้ในระดับความสูงราว 70 – 100 กิโลเมตร จากพื้นผิวโลก ซึ่งเป็นช่วงชั้นบรรยากาศที่เรียกว่าเมโซสเฟียร์ ในช่วงที่อุกกาบาตเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ แรงกระแทกกับอนุภาคก๊าซทำให้เกิดการแตกตัวเป็นไอออน (Ionization) และความร้อนสูงถึงหลายพันองศาเซลเซียส จนเกิดแสงสว่างชั่วขณะ

นอกจานี้ หลายคนไม่รู้ว่า สีของฝนดาวตก มีหลายสีด้วยนะ แตกต่างกันตาม องค์ประกอบธาตุที่อยู่ในอุกกาบาตหรือชิ้นส่วนเศษหิน/โลหะ เช่น โซเดียม (Na) อาจทำให้เกิดแสงออกสีเหลืองส้ม แมกนีเซียม (Mg) มักให้แสงสว่างสีขาวแกมฟ้า แคลเซียม (Ca) อาจให้ประกายสีม่วง เหล็ก (Fe) อาจให้สีออกเหลืองอ่อนหรือสีเขียวบางครั้ง

รวมถึงธาตุในอากาศเอง (ไนโตรเจน ออกซิเจน) เมื่อถูกกระตุ้นด้วยความร้อนและพลังงาน จะปลดปล่อยโฟตอนหรือแสงในช่วงความยาวคลื่นต่าง ๆ ทำให้เห็นสีสันหลากหลาย

เกร็ดเสริมความรู้ (Fun Fact)

1. ดาวตกส่วนใหญ่ “มอดไหม้” ไม่ทันถึงพื้น เพราะระเหยไปในระดับสูงก่อน แต่ถ้าอนุภาคมีขนาดใหญ่พอและเผาไหม้ไม่หมดจนตกถึงพื้น เรียกว่า อุกกาบาต (Meteorite)

2. สาเหตุที่บางครั้งเห็นเป็น “ลูกไฟ (Fireball)” เพราะหากอุกกาบาตมีขนาดใหญ่ (เส้นผ่านศูนย์กลางหลายเซนติเมตรขึ้นไป) และปลดปล่อยพลังงานมหาศาลขณะเสียดสีกับอากาศ จะเกิดเป็นลำแสงขนาดใหญ่มากและสว่างกว่าดาวตกทั่วไป

3. คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยได้ยินเสียงดาวตก เพราะการเผาไหม้เกิดสูงมากในชั้นบรรยากาศ และเสียงไม่ทันเดินทางลงมาก่อนที่ลำแสงจะจางไป อย่างไรก็ตาม บางกรณีที่เป็นลูกไฟขนาดใหญ่ (Bolide) อาจมีรายงานเสียงดังคล้ายระเบิดในระยะใกล้เคียงกับเส้นทางตก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button