ข่าว

เตรียมตัว สมรสเท่าเทียม เริ่มเมื่อไหร่ สิทธิที่ได้ เอกสารและขั้นตอนการจด

สรุปมาให้แล้ว สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อไหร่และวิธีเตรียมตัว เอกสารที่ต้องเตรียม ขั้นตอนการจดทะเบียน และสิทธิที่ได้รับหลังจากจดทะเบียนสมรส

ประเทศไทยได้สร้างก้าวสำคัญด้วยการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) เปิดรับหลักการ สมรสเท่าเทียม ไม่จำกัดเพศอีกต่อไป โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2568 หลังพ้นระยะเวลา 120 วันนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา การปรับแก้กฎหมายครั้งนี้ไม่เพียงยืนยันความเสมอภาคของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย แต่ยังส่งผลเชิงบวกในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรม การหย่า รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานภาพคู่สมรส

Advertisements

สมรสเท่าเทียม เริ่มใช้วันแรกตอนไหน

ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งรับรองการสมรสระหว่างบุคคลโดยไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิง โดยกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 22 มกราคม 2568 หลังพ้นระยะเวลา 120 วัน นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายใหม่สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป

ฆ้อนตุลาการ การแต่งงาน

เตรียมความพร้อม จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม

การเตรียมตัวสำหรับการสมรสเท่าเทียมคือการวางแผนที่ดีทั้งในเรื่องของความสัมพันธ์และเอกสารที่จำเป็น ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนสมรสจริง ๆ ดังนี้

1. พูดคุยกับว่าที่คู่สมรส

เปิดใจกันการเตรียมตัวสำหรับการสมรสต้องเริ่มจากการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ เช่น ทัศนคติต่อการใช้ชีวิตร่วมกัน, ความคาดหวังในเรื่องอนาคต, การจัดการทรัพย์สิน, หรือเรื่องการมีบุตร ซึ่งจะช่วยให้ทั้งคู่เข้าใจและพร้อมที่จะก้าวไปด้วยกันในอนาคต

จัดการความแตกต่าง การมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดาในความสัมพันธ์ การพูดคุยและหาทางออกที่เป็นกลางจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและความพร้อมในการสมรส

Advertisements

2. เตรียมเอกสาร

ประกอบด้วย เอกสารส่วนตัว โดยทั้งคู่ต้องเตรียมเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน หรือพาสปอร์ต สำหรับคู่สมรสที่เป็นคนไทย และเอกสารอื่น ๆ เช่น ใบสำคัญการสมรสจากประเทศต้นทาง หรือใบรับรองความโสด (หากมี) สำหรับคู่สมรสชาวต่างชาติ และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หากเป็นการสมรสระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ อาจต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเติม เช่น การแปลเอกสาร, การรับรองเอกสารจากสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ อย่าลืมตรวจสอบกฎหมายและระเบียบ ตรวจสอบเงื่อนไขหรือขั้นตอนการสมรสที่คุณต้องปฏิบัติตามในกรณีที่สมรสในต่างประเทศหรือการมีทายาทที่จะต้องเตรียมเอกสารเสริมเพิ่มเติม

3. รอให้ถึงวันเริ่มการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม

เมื่อเริ่มเตรียมตัวสำหรับการสมรส ความรักและความเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด อย่าลืมให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสื่อสาร การยอมรับในข้อบกพร่องของกันและกัน หรือการร่วมกันวางแผนอนาคต

เตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง การสมรสเป็นการเริ่มต้นการเดินร่วมทางในชีวิตที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง การเตรียมใจและการยอมรับความแตกต่างระหว่างคู่สมรสจะทำให้การใช้ชีวิตคู่มีความสุขมากยิ่งขึ้น

การเตรียมตัวสมรสเท่าเทียมไม่ได้หมายถึงแค่การจัดการเอกสารหรือสถานที่ที่ต้องไปจดทะเบียนสมรสเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเตรียมความพร้อมในด้านจิตใจและความสัมพันธ์ เพื่อให้การสมรสเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เต็มไปด้วยความสุข ความเข้าใจ และการสนับสนุนซึ่งกันและกันในทุกสถานการณ์

คูารักกอดกัน

สิทธิหลังการรมรสเท่าเทียม

การสมรสเท่าเทียมเปิดโอกาสให้คู่สมรสทุกเพศสามารถเข้าถึงสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ เท่าเทียมกัน เช่น สิทธิในทรัพย์สินร่วมกัน, สิทธิในการสืบทอดมรดก, การดูแลสุขภาพของคู่สมรส, และสิทธิในการเลี้ยงดูบุตร โดยไม่จำกัดเพศหรือการมีเพศสัมพันธ์แบบใด ดังนี้

1. การสมรสกับชาวต่างชาติเป็นไปได้จริง

ในอดีต แม้ประเทศไทยจะอนุญาตให้บุคคลจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติได้ตามมาตรา 1459 ของ ป.พ.พ. แต่ก็มีข้อจำกัดว่า การสมรสต้องเป็นระหว่าง “ชาย-หญิง” เท่านั้น ทำให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศไม่สามารถจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยได้ หากฝ่ายหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ พวกเขาต้องเดินทางไปจดทะเบียนสมรสในประเทศที่รับรองสมรสเท่าเทียมแทน

เมื่อการแก้ไขกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ บุคคลทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติในประเทศไทยได้ โดยขั้นตอนดำเนินการสามารถทำได้ที่ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขตในกรุงเทพฯ หรือที่สถานทูตไทยในต่างประเทศ

2. ความชัดเจนทางการจัดการทรัพย์สิน สินส่วนตัว-สินสมรส

ประเด็นการจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสยังคงอิงตามหลักการของกฎหมายเดิม โดยทรัพย์สินแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่

  • สินส่วนตัว เช่น ทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนสมรส มรดก และของหมั้น
  • สินสมรส ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส รวมถึงดอกผลของสินส่วนตัว

คู่สมรสต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายในการจัดการสินสมรส เช่น การขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ เพื่อความโปร่งใสและเท่าเทียม

3.การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน และสิทธิในมรดก

คู่สมรสทุกเพศสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ โดยเงื่อนไขและกระบวนการยังคงเหมือนเดิมตามกฎหมายปัจจุบัน เช่น ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และมีอายุแก่กว่าผู้เยาว์อย่างน้อย 15 ปี

ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อีกฝ่ายจะมีสิทธิได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้เสียชีวิต เช่นเดียวกับคู่สมรสในอดีต

การรับบุตรร่วมกัน คู่รักเพศเดียวกัน

4. คุ้มครองเหตุหย่าและการฟ้องชู้ ครอบคลุมทุกเพศ

กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังแก้ไขประเด็นที่เคยขัดรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการฟ้องหย่าและค่าทดแทนจากชู้ จากเดิมที่ระบุคำว่า “หญิงอื่น” ให้ครอบคลุมเป็น “บุคคลอื่น” ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ทำให้คู่สมรสทุกเพศสามารถฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทนได้อย่างเท่าเทียม หากมีการเลี้ยงดูหรือมีความสัมพันธ์ฉันคู่สมรสกับบุคคลอื่น

5. สิทธิและประโยชน์ตามกฎหมายอื่น ๆ

สถานะคู่สมรสยังช่วยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่น ๆ เช่น

  • นามสกุล ใช้นามสกุลของคู่สมรสหรือคงนามสกุลเดิมได้
  • สิทธิในการรักษาพยาบาล คู่สมรสสามารถให้ความยินยอมแทนผู้ป่วยในกรณีจำเป็น
  • สิทธิประโยชน์ทางภาษี ลดหย่อนภาษีคู่สมรส 60,000 บาท และไม่ต้องเสียภาษีมรดกที่ได้รับจากคู่สมรส
  • ประกันสังคม คู่สมรสมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์ กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตหรือคลอดบุตร

เคาะกฎหมายสมรสเท่าเทียม

คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม 7 ข้อ

การจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการยืนยันสิทธิและความสัมพันธ์ทางกฎหมายของคู่สมรส โดยผู้ที่ต้องการจดทะเบียนสมรสต้องมีคุณสมบัติที่ตรงตามกฎหมาย ซึ่งรวมถึง 7 ข้อสำคัญที่ควรทราบ เพื่อให้การสมรสเป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้องและครบถ้วน

  1. อายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ กรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทําการสมรสก่อนที่ชายและหญิงมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ได้ (มาตรา 1448)

2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ (มาตรา 1449)

3. ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาหรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาจะทําการสมรสกันไม่ได้ (มาตรา 1450)

4. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะทําการสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้ (มาตรา 1451)

5. สมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ (มาตรา 1452)

6. หญิงม่ายจะสมรสใหม่ เมื่อการสมรสครั้งก่อนได้สิ้นสุดไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน (มาตรา 1453) เว้นแต่ คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น สมรสกับคู่สมรสเดิม มีใบรับรองแพทย์ ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการ รักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์ มีคําสั่งของศาลให้สมรสได้

7. ผู้เยาว์จะทําการสมรสต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีอํานาจให้ความยินยอมได้ตามกฎหมาย (มาตรา 1454)

การสมรสเท่าเทียม คนอ่านจดหมาย

เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส

การจดทะเบียนสมรสเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการรับรองความสัมพันธ์ทางกฎหมายของคู่สมรส ซึ่งการเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้การจดทะเบียนสมรสเป็นไปอย่างราบรื่น โดยจะมีเอกสารหลักที่ต้องนำมาใช้ในการยื่นจดทะเบียนสมรสเพื่อให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

  • บัตรประจำตัวประชาชน/บัตรประจำตัวอื่นที่ราชการออกให้/หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว/หรือเอกสารราชการอื่นที่สามารถใช้แสดงตัวบุคคลได้ ของผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยาน (กรณีเป็นเอกสารภาษาต่างประเทศต้องผ่านการรับรองนิติกรณ์โดยกรมการกงสุล กต.)
  • หนังสือรับรองสถานภาพการสมรส (กรณีบุคคลสัญชาติอื่น ผ่านการรับรองนิติกรณ์โดยกรมการกงสุล กต.)
  • หนังสือยินยอม (กรณีผู้มีอำนาจปกครองไม่สามารถมาให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้)
  • สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์จะใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายเฉพาะสำนักทะเบียนที่ตนเองมีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือฝ่ายหญิงเปลี่ยนคำหน้านาม)
  • พยานบุคคล จำนวน 2 คน ลงลายมือชื่อรับรู้ในเรื่องความสมัครใจยินยอมของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงในการจดทะเบียนสมรส

หญิง 2 คนจะทะเบียนสมรสกัน

สถานที่จดทะเบียนสมรส

การจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายสมรสเท่าเทียมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 สามารถทำได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสามารถเลือกสถานที่จดทะเบียนได้ดังนี้:

1. ภายในประเทศไทย

สามารถจดได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ โดยคู่สมรสสามารถไปจดทะเบียนสมรสที่ว่าการอำเภอในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละอำเภอจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจดทะเบียนสมรส โดยจะต้องยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง และใบสำคัญการสมรส (ในกรณีสมรสกับชาวต่างชาติอาจต้องใช้เอกสารเพิ่มเติมจากสถานทูตหรือสถานกงสุล)

สำหรับคู่สมรสที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตในเขตพื้นที่ต่าง ๆ โดยมีบริการที่ครอบคลุมเช่นเดียวกับที่ว่าการอำเภอในต่างจังหวัด

2. ในต่างประเทศ

สามารถจดได้ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย โดยคู่สมรสที่ต้องการจดทะเบียนสมรสในต่างประเทศสามารถไปดำเนินการที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศนั้น ๆ ซึ่งสถานทูตไทยจะให้บริการเกี่ยวกับการยืนยันความถูกต้องตามกฎหมายไทย สำหรับการสมรสระหว่างบุคคลที่มีสัญชาติไทยและต่างชาติ

สถานกงสุลใหญ่ไทย ในบางประเทศที่มีความต้องการจดทะเบียนสมรสในต่างประเทศ สถานกงสุลใหญ่ไทยจะมีหน้าที่ดำเนินการในกรณีที่ไม่มีสถานทูตไทยในพื้นที่นั้น ๆ โดยทำหน้าที่ในการช่วยเหลือในขั้นตอนต่าง ๆ ให้สมรสได้ตามกฎหมายไทย

การจดทะเบียนสมรสในทั้งสองสถานที่นี้จะต้องยื่นเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น บัตรประจำตัวประชาชนหรือพาสปอร์ตของทั้งสองฝ่าย และในกรณีสมรสกับชาวต่างชาติ อาจต้องมีการแปลเอกสารหรือการรับรองจากสถานทูตเพื่อยืนยันความถูกต้องตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ

ชายชายแต่งงานกัน

ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส

พื่อให้การจดทะเบียนสมรสเสร็จสมบูรณ์ คู่สมรสต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งด้านเอกสารและขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะต้องปฏิบัติ ดังนี้

1. การจดทะเบียนสมรส สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต สถานทูต/กงสุลไทย ได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่สมรส

2. นายทะเบียนตรวจสอบคำร้องและหลักฐานแสดงตัวบุคคลของผู้ร้องทั้งสองฝ่าย ผู้ให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยาน

3. นายทะเบียนตรวจสอบว่าผู้ร้องทั้งสองฝ่ายมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายหรือไม่

4. นายทะเบียนลงรายการในทะเบียนสมรส (คร.2) และใบสำคัญการสมรส (คร.3) ให้ครบถ้วนในกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองฝ่ายประสงค์จะให้บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเรื่องอื่น ให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในช่องบันทึก

5. ให้ผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอมหรือทำหนังสือให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยานลงลายมือชื่อในทะเบียนสมรส (คร.2)

6. เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อในทะเบียนสมรส (คร.2) และในใบสำคัญการสมรส (คร.3)

7. นายทะเบียนมอบใบสำคัญการสมรส (คร.3) ให้แก่คู่สมรสฝ่ายละหนึ่งฉบับ รวมทั้งกล่าวอำนวยพรและแนะนำวิธีปฏิบัติในหน้าที่ระหว่างสามีภริยาตามสมควร

หญิง ๆ แต่งงานกัน

ค่าธรรมเนียม

ค่าธรรมเนียมนี้จะต้องจ่ายเมื่อทำการยื่นจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมอาจแตกต่างกันไปตามสถานที่และประเภทของการบริการที่ได้รับ

  • การจดทะเบียนสมรสในสำนักทะเบียน ไม่เสียค่าธรรมเนียม
  • การจดทะเบียนสมรสนอกสํานักทะเบียน ฉบับละ 200 บาท โดยให้ผู้ขอจัดพาหนะให้ ถ้าผู้ขอไม่จัดพาหนะให้ ผู้ขอต้องชดใช้ค่าพาหนะให้แก่นายทะเบียนตามสมควร
  • การคัดสำเนา ฉบับละ 10 บาท

การตัดกระดาษเป็นรูปคู่รัก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง: รัฐบาลไทย, iLaw, The Better, คลังสารสนเทศของสภานิติบัญญัติ

New Nidhikant

จบการศึกษาคณะอักษรศาสตร์ เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร นักเขียนสายมูเตลู และนักอ่านไพ่ทาโรต์ โหราศาสตร์ มีความสนใจด้านข่าวการเมือง ศิลปะวัฒนธรรม แฟชั่น และสายดูดวงมูเตลู งานเขียนเน้นเนื้อหาที่เข้าใจง่าย อ่านสนุก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button