ข่าว

มาแล้ว! จดทะเบียนสมรสเท่าเทียมวันแรก 22 ม.ค. 68 เปิดทางคู่รัก LGBTQ+

เว็บไซต์รัฐบาลไทย ประกาศ สมรสเท่าเทียม มีผลบังคับใช้ 22 ม.ค. 68 เปิดโอกาสให้คู่รักทุกเพศจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีสิทธิและหน้าที่เทียบเท่าคู่สมรสชายหญิง พร้อมระบุคุณสมบัติและข้อห้ามในการจดทะเบียนอย่างละเอียด

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยจะมีผลบังคับใช้ใน วันที่ 22 มกราคม 2568

Advertisements

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เปิดทางให้บุคคลสองคนไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้นและสมรสได้ โดยปรับเปลี่ยนคำว่า “ฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง” เป็น “ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น” และเปลี่ยนสถานะจาก “สามีภริยา” เป็น “คู่สมรส”

ทั้งนี้ กฎหมายใหม่จะให้สิทธิและหน้าที่ทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง ครอบคลุมทั้งการจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรม และสิทธิในการให้ความยินยอมรักษาพยาบาล

รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับรายละเอียดกฎหมายที่ผูกพันทั้งทางอาญาและแพ่ง

เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงสิทธิต่างๆ อย่างครบถ้วน โดยผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายใหม่จะต้องรอให้พ้น 120 วันนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เงื่อนไขการสมรสเท่าเทียมต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างในวันที่ 22 ม.ค. 68

Advertisements

คุณสมบัติ ‘จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม’ เริ่ม 22 ม.ค. 68 ใครมีสิทธิ-ใครทำไม่ได้

หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเริ่มบังคับใช้วันแรกในวันพุธที่ 22 มกราคม 2568 โดยกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิจดทะเบียนสมรสไว้ชัดเจน

ผู้ที่จะจดทะเบียนสมรสต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หากเป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง หรือได้รับอนุญาตจากศาล ทั้งนี้ ผู้สมรสต้องไม่เป็นคนวิกลจริตหรือไร้ความสามารถ

กฎหมายยังห้ามการสมรสระหว่างพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาเดียวกัน ห้ามสมรสซ้อน และห้ามผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรม

สำหรับหญิงที่คู่สมรสเสียชีวิตหรือการสมรสสิ้นสุด ต้องรอ 310 วันจึงจะสมรสใหม่ได้ ยกเว้นกรณีคลอดบุตรแล้ว มีใบรับรองแพทย์ยืนยันไม่ได้ตั้งครรภ์ ศาลมีคำสั่งอนุญาต หรือสมรสกับคู่สมรสเดิม

เอกสารที่ใช้เพื่อการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม คือ บัตรประจำตัวประชาชน โดยสามารถขอจดทะเบียนได้ที่ สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต และสถานทูต/กงสุลไทยในต่างประเทศทุกแห่ง โดยไม่คำนึงถึงภูมิลำเนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือก็คือจะอยู่ที่ไหนก็สามารถจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมได้นั่นเอง

อ่าน พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ฉบับเต็ม

ขณะที่ กรุงเทพมหานคร ระบุคุณสมบัติไว้ว่า

  • บุคคลทั้งสองจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี บริบูรณ์
    กรณีผู้เยาว์ต้องนำบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย
  • กรณีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากศาล
  • ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ
  • ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
  • ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
  • ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
  • หญิงชายผู้เป็นคู่สมรสตายหรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะสมรสใหม่ได้ ต่อเมื่อสิ้นสุดการสมรสไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่ คลอดบุตรแล้วในขณะนั้น / ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้ / สมรสกับคู่สมรสเดิม / มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์

 

อ่านบทความอื่น ๆ

ข้อมูลจาก : เว็บไซต์รัฐบาลไทย, พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button