เว็บไซต์สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รายงานสถิติจำนวนนักศึกษาภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ทั่วประเทศ มีทั้งหมด 1,750,734 คน
เมื่อเจาะเฉพาะข้อมูลของนักศึกษาที่กำลังเรียนในมหาวิทยาลัยราชภะฏ พบรายชื่อมหาลัยยอดฮิตที่เด็ก ม.6 เลือกเรียนได้ดังนี้
10 อันดับ ม.ราชภัฏ นักศึกษาเยอะที่สุดในไทย เทอม 1 ปีการศึกษา 2567
มหาวิทยาลัย | จำนวนผู้เรียน (คน) |
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา | 27,782 |
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ | 15,280 |
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี | 15,211 |
มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม | 14,496 |
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี | 13,778 |
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา | 13,750 |
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม | 13,018 |
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี | 12,314 |
มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ | 11,762 |
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา | 11,590 |
มหาวิทยาลัยราชภัฏคือสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย ซึ่งมีรากฐานมาจากวิทยาลัยครูที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษา ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นสถาบันราชภัฏ และในปี พ.ศ. 2547 ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏอย่างเป็นทางการ
ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นจากการก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ในปี พ.ศ. 2435 ที่วังจันทร์เกษม กรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาในปี พ.ศ. 2445 โรงเรียนถูกย้ายไปที่ถนนพระสุเมรุและเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู เพื่อขยายการศึกษาและยกระดับคุณภาพของครู นอกจากนี้ ในช่วงปี พ.ศ. 2466-2475 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประจำจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาในท้องถิ่น
ในปี พ.ศ. 2501 โรงเรียนฝึกหัดครูได้รับการยกระดับเป็นวิทยาลัยครู โดยปรับปรุงหลักสูตรและมาตรฐานการศึกษา เพื่อผลิตครูที่มีคุณภาพสูงขึ้น ปี พ.ศ. 2517 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2517 ทำให้วิทยาลัยครูกลายเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ผลิตครูระดับปริญญาตรี ในปี พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทานนาม “ราชภัฏ” แก่วิทยาลัยครูทั่วประเทศ และในปี พ.ศ. 2538 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ ทำให้วิทยาลัยครูได้รับการยกระดับเป็นสถาบันราชภัฏ ซึ่งมีสถานะเทียบเท่ามหาวิทยาลัย
คำว่า “ราชภัฏ” มาจากภาษาสันสกฤตและบาลี หมายถึง “คนของพระราชา” หรือ “ข้าของแผ่นดิน” สะท้อนถึงภารกิจในการบริการประชาชนและประเทศชาติ ปี พ.ศ. 2547 สถาบันราชภัฏทั่วประเทศได้รับการยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏอย่างเป็นทางการ ผ่านพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 นอกจากการผลิตครูแล้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏยังขยายสาขาวิชาครอบคลุมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และอื่น ๆ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ
มหาวิทยาลัยราชภัฏมีภารกิจหลักในการจัดการศึกษา วิจัย และบริการวิชาการแก่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ เน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมในด้านต่าง ๆ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 9 คณะ เด็กมหาวิทยาลัย เสี่ยงตกงานสูง ในปี 2025 ไม่ปรับตัวอยู่รอดยาก
- นายกรัฐมนตรีไทย 31 คน จบมหาวิทยาลัยไหนมากที่สุด อันดับ 1 ทหารล้วน
- มหาวิทยาลัยศรีปทุม แถลงกรณีนักศึกษาเป็นลม 11 ราย รับปิดแอร์จริง