กทม. เห็นชอบปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมเก็บขยะ สำหรับบ้านที่ไม่คัดแยกขยะ เดือนละ 60 บาท มีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน เตรียมลงทะเบียนผ่านแอปฯ หรือสำนักงานเขต พร้อมแนะนำวิธีแยกขยะที่ถูกต้อง
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปี 2567 มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และจะมีการประกาศใช้ข้อบัญญัติในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามข้อบัญญัติฯ ปี 2562 กำหนดค่าธรรมเนียมการค่าเก็บขยะตามครัวเรือนเดือนละ 80 บาท ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมสูงเกินไป ผู้ว่าฯ กทม. จึงให้จัดทำข้อบัญญัติฯ ใหม่ โดยแบ่งการจัดเก็บเป็น 2 แบบ
อัตราค่าเก็บขยะในครัวเรือน
1. บ้านที่คัดแยกขยะ เก็บค่าธรรมเนียม 20 บาท/เดือน
2. บ้านไม่มีการคัดแยกขยะ เก็บค่าธรรมเนียม 60 บาท/เดือน
กรุงเทพฯ เล็งปรับอัตราค่าธรรมเนียมการเก็บขยะ มุ่งให้ประชาชนช่วยกันคัดแยกมูลฝอย สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน รวมถึงเก็บอัตราค่าธรรมเนียมกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีจำนวนขยะมากในแต่ละวันได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้คาดการณ์ว่ากทม. จะสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะจากผู้ประกอบการรายใหญ่ได้มากขึ้น เดิม 166 ล้านบาท เป็น 664 ล้านบาท
สำหรับอัตราค่าเก็บและขนสิ่งปฏิกูลลูกบาศก์เมตรละ 300 บาทต่อครั้ง ส่วนอัตราค่าเก็บและขนมูลฝอยทั่วไป แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่ 1
ขยะมูลฝอยทั่วไป ปริมาณไม่เกิน 20 ลิตร/วัน ค่าเก็บและขน เดือนละ 30 บาท ค่ากำจัด 30 บาท รวม 60 บาท จากเดิม 20 บาท
- กลุ่มที่ 2
ขยะมูลฝอยทั่วไป ปริมาณเกิน 20 ลิตร/วัน แต่ไม่เกิน 500 ลิตรต่อวัน จากเดิม 40 บาท/20 ลิตร และเกิน 500 ลิตรต่อวันแต่ไม่เกิน 1 ลบ.ม. ต่อวัน เดิม 2,000 บาท ค่าเก็บและขน 60 บาท/20 ลิตร ค่ากำจัด 60 บาท/20 ลิตร รวม 120 บาท/20 ลิตร
- กลุ่มที่ 3
ขยะมูลฝอยทั่วไป ปริมาณเกิน 1 ลบ.ม.ต่อวัน เดิม 2,000 บาท/1 ลบ.ม. ค่าเก็บและขน 3,250 บาท/1 ลบ.ม. ค่ากำจัด 4,750 บาท/1 ลบ.ม. รวม 8,000 บาท/1 ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม คาดว่าข้อบัญญัติฯ จะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน จากข้อมูลพบว่าในกรุงเทพฯ มีบ้านเรือนกว่า 2 ล้านหลังคาเรือน ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นพบประชาชนคัดแยกขยะประมาณ 50,000 ครัวเรือน
ช่องทางลงทะเบียน
กทม. จะเปิดประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน BKK หรือวอล์กอินมาที่ฝ่ายรักษาความสะอาด สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ซึ่งหลังจากลงทะเบียนเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่า ครัวเรือนดังกล่าวมีการคัดแยกขยะจริงหรือไม่ และเก็บค่าธรรมเนียม 20 บาท/เดือน
กทม. แนะวิธีแยกขยะที่ถูกต้อง
ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันไม่เทขยะรวมกัน ควรแยกขยะเป็นประเภท โดยระบุข้อความบนถุงขยะ เพื่อความสะดวกในการคัดแยก ตามหมวดหมู่ต่อไปนี้
1. ขยะทั่วไป
- ถุงพลาสติกเปื้อนอาหาร
- ซองบะหมี่ ถุงขนม
- กล่องโฟม
- ผ้าอ้อมสำเร็จรูป
2. ขยะเศษอาหาร
- เศษผักผลไม้
- เศษอาหาร
- เศษเนื้อสัตว์
3. ขยะรีไซเคิล
- กระดาษ
- พลาสติก
- แก้ว
- โลหะ
4. ขยะอันตราย
- หลอดไฟ
- แบตเตอรี่
- ถ่านไฟฉาย
- ยาหมดอายุ
- กระป๋องสเปรย์
- ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กทม. ประกาศชื่อ 9 เขต ควบคุมฝุ่น ห้ามรถบรรทุก 6 ล้อ สัญจรผ่าน
- กทม. เตือนประชาชน 27 พื้นที่ ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน มีผลต่อสุขภาพ
- สภาพอากาศวันนี้ กทม.-ปริมณทล ฝน 70% ตกหนักบางพื้นที่ ภาคใต้ระวังคลื่นสูง