ข่าว

เตือน 44 จังหวัด ระวังน้ำท่วมฉับพลัน 3-9 ก.ย.นี้ ภาคเหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้ และกทม.

ปภ. ประสาน 44 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกทม. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง คลื่นลมแรง รวมถึงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำและน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 3 – 9 กันยายน 2567

อัปเดตสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด วันนี้ (2 ก.ย.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือน 44 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง คลื่นลมแรง รวมถึงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำและน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 3-9 กันยายน 2567

Advertisements

โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามปริมาณฝนและสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้สามารถเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยามีประกาศฉบับที่ 1 (156/2567) ลงวันที่ 1 กันยายน 2567 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 3-7 กันยายน 2567 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง

ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยในช่วงวันที่ 4-7 กันยายน 2567 ทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

อีกทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มีประกาศฉบับที่ 13/2567 ลงวันที่ 1 กันยายน 2567 ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยมีพื้นที่แจ้งเตือนสถานการณ์ระหว่างวันที่ 3-9 กันยายน 2567 ดังนี้

เขือนเจ้าพระยา ชัยนาท
ภาพสถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท วันที่ 31 สิงหาคม 2567 (แฟ้มภาพ)

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

ภาคเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่

Advertisements
  • แม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน, ปางมะผ้า, ปาย และสบเมย)
  • อุตรดิตถ์ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์, ฟากท่า, น้ำปาด และตรอน)
  • ตาก (อำเภอท่าสองยาง, แม่สอด, พบพระ และอุ้มผาง)
  • สุโขทัย (อำเภอเมืองสุโขทัย, ศรีสัชนาลัย, ทุ่งเสลี่ยม และกงไกรลาศ)
  • พิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ, นครไทย, วัดโบสถ์, วังทอง และเนินมะปราง)
  • เพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์, หนองไผ่, หล่มเก่า และหล่มสัก)
  • อุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่

  • เลย (อำเภอนาแห้ว, เชียงคาน, ด่านซ้าย และปากชม)
  • หนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย, สังคม, ศรีเชียงใหม่, ท่าบ่อ, โพนพิสัย และโพธิ์ตาก)
  • บึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ, ปากคาด, บุ่งคล้า, โซ่พิสัย, เซกา และบึงโขงหลง)
  • อุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี, วารินชำราบ, ตาลสุม น้ำยืน, พิบูลมังสาหาร และน้ำขุ่น)

ภาคกลาง 9 จังหวัด ได้แก่

  • กาญจนบุรี (อำเภอสังขละบุรี, ทองผาภูมิ, ไทรโยค และศรีสวัสดิ์)
  • ราชบุรี (อำเภอปากท่อและสวนผึ้ง)
  • นครนายก (อำเภอเมืองนครนายก, ปากพลี และบ้านนา)
  • ปราจีนบุรี (อำเภอเมืองปราจีนบุรี, ประจันตคาม, นาดี และกบินทร์บุรี)
  • ชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี, บางละมุง และศรีราชา)
  • ระยอง (อำเภอเมืองระยอง, บ้านค่าย, ปลวกแดง และนิคมพัฒนา)
  • จันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี, ขลุง, ท่าใหม่, เขาคิชฌกูฏ และมะขาม)
  • ตราด (ทุกอำเภอ)
  • ประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอบางสะพาน, บางสะพานน้อย และปราณบุรี)

ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่

  • ชุมพร (อำเภอท่าแซะและสวี)
  • สุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี, คีรีรัฐนิคม, พุนพิน, พระแสง และเวียงสระ)
  • นครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช, เชียรใหญ่, ลานสกา, ถ้ำพรรณรา และทุ่งใหญ่)
  • พัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง, ปากพะยูน, กงหรา, ศรีนครินทร์ และควนขนุน) – จังหวัดระนอง (ทุกอำเภอ)
  • พังงา (อำเภอเมืองพังงา, คุระบุรี, ตะกั่วป่า, กะปง และท้ายเหมือง)
  • ภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
  • ตรัง (อำเภอเมืองตรัง, สิเกา, ย่านตาขาว, กันตัง, ห้วยยอด, รัษฎา และวังวิเศษ)
  • สตูล (อำเภอเมืองสตูล, ควนโดน, ควนกาหลง, ทุ่งหว้า และมะนัง)

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมขัง

  • กรุงเทพมหานคร

พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง

ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่

  • ระนอง (อำเภอเมืองระนอง, สุขสำราญ และกะเปอร์)
  • พังงา (อำเภอเกาะยาว, ตะกั่วทุ่ง, ท้ายเหมือง, ตะกั่วป่า และคุระบุรี)
  • ภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
  • กระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่, คลองท่อม, เกาะลันตา, เหนือคลอง และอ่าวลึก)
  • ตรัง (อำเภอกันตัง, สิเกา, ปะเหลียน และหาดสำราญ)
  • สตูล (อำเภอเมืองสตูล, ละงู, มะนัง และทุ่งหว้า)

พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 จังหวัดเชียงใหม่, พะเยา, น่าน, แพร่, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, กำแพงเพชร, เพชรบูรณ์, อุทัยธานี, เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, สกลนคร, อุดรธานี, หนองบัวลำภู, ขอนแก่น, นครพนม, มุกดาหาร, ยโสธร, ศรีสะเกษ, สุรินทร์, อุบลราชธานี, นครนายก, ปราจีนบุรี, จันทบุรี, ตราด, สุราษฎร์ธานี และตรัง

รวมทั้งอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ

พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง-น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ: บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม (จังหวัดพิษณุโลก อำเภอบางระกำ), แม่น้ำแควน้อย (จังหวัดพิษณุโลก อำเภอนครไทยและวัดโบสถ์), แม่น้ำจันทบุรี (จังหวัดจันทบุรี อำเภอเมืองจันทบุรีและมะขาม), แม่น้ำตราด (จังหวัดตราด อำเภอเมืองตราด, เขาสมิง และบ่อไร่) โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำหลากที่เพิ่มขึ้น โดยส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง, คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งแม่น้ำน้อย ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลลาดชิด, ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 44 จังหวัดในภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลาง, ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามปริมาณฝนและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและพื้นที่ที่มีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน พื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด

หากมีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ ให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่มีคลื่นลมแรง ให้แจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเลและนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำโดยเด็ดขาด รวมถึงให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ และตำรวจน้ำ แจ้งเตือนการเดินเรือ โดยให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ และผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวัง

*** หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ให้พิจารณาห้ามเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ขอให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ขึ้น และให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างเคร่งครัด

ชป.ระดมกำลังช่วยเหลือพี่น้องชาวเหนือ-อีสาน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ
แฟ้มภาพ Facebook @Kromchon

ประชาชนสามารถติดตามรายงานคาดการณ์สาธารณภัยและประกาศแจ้งเตือนภัยในระดับพื้นที่ได้ทาง Facebook: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และแอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยดังกล่าว สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทาง LINE ปภ. รับแจ้งเหตุ 1784 โดยเพิ่มเพื่อน LINE ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป.

แผนที่แจ้งเตือนน้ำท่วมับพลัน 3-9 กันยายน 2567
ภาพ @DDPMNews

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button