เปิดที่มา ‘โรคฝีดาษลิง’ ทำไมถึงใช้ชื่อนี้ พบครั้งแรกในสัตว์เมื่อ 60 ปีก่อน
‘หมอยง’ ช่วยไขสงสัย ทำไมต้องใช้ชื่อ “โรคฝีดาษลิง” หรือ “ฝีดาษวานร” เปิดที่มาอาการป่วย ชี้พบครั้งแรกเมื่อ 60 ปีก่อน เดิมตรวจเจอในสัตว์ ก่อนจะติดต่อสู่คน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร ที่กำลังเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลกอยู่ขณะนี้ ซึ่งล่าสุด (21 สิงหาคม 2567) ก็มีรายงานจากกรมควบคุมโรคว่า “พบผู้ป่วยต้องสงสัยโรคฝีดาษวานร หรือ เอ็มพ็อกซ์ (MPox) สายพันธุ์ Clade 1 b รายแรกในประเทศไทย” ด้วยเหตุนี้ประชาชนหลาย ๆ คนจึงเริ่มเป็นกังวลมากขึ้น เพราะ Clade 1 b เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ติดง่าย และแสดงอาการรุนแรง
ในขณะเดียวกัน เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้ ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan อธิบายถึงที่มาของโรคฝีดาษลิง และเหตุผลที่ถูกเรียกว่าฝีดาษลิง
‘ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ’ เผยว่า ตรวจพบครั้งแรกเมื่อ 60 ปีก่อน ในลิงที่เลี้ยงไว้ทดลอง เดิมทีไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไร แต่หลังจากแยกเชื้อปรากฏว่าเป็นกลุ่มอาการฝีดาษ และใน 10 ปีต่อมาพบว่าโรคได้ติดต่อสู่คน แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่ามาสัตว์ใด มนุษย์ผู้ป่วยรายแรกที่พบเชื้อเป็นชาวคองโก ทางองค์การอนามัยโลกได้ตั้งชื่อว่าา Mpox โดยมีที่มาจากชื่อไวรัส แต่ในประเทศไทยได้ตั้งชื่อเองว่า ฝีดาษลิง
โพสต์ดังกล่าวระบุไว้ว่า “ฝีดาษวานร หรือ Mpox จะเล่าเป็นตอน ๆ การตั้งชื่อฝีดาษวานร พบและรายงานครั้งแรกเป็นการระบาดในลิงที่เลี้ยงไว้ทดลอง ลิงมีอาการและแยกเชื้อได้ในกลุ่มของฝีดาษ (poxvirus) จึงเรียกว่าฝีดาษลิง (Monkeypox) เมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว
จนกระทั่งอีก 10 กว่าปีต่อมา พบโรคนี้ในมนุษย์ที่คองโก ไม่ทราบแน่ชัดว่าติดมาจากสัตว์ใด และก็พบเรื่อยมา ต่อมาจึงเข้าใจว่าสัตว์นำโรค น่าจะเป็นสัตว์ตระกูลฟันแทะหรือหนู และสามารถติดต่อระหว่างคนสู่คนได้
การตั้งชื่อ ‘ฝีดาษลิง’ หรือ ‘ฝีดาษวานร’ ก็เพราะพบครั้งแรกในลิง แต่ความเป็นจริงการติดต่อสู่คน ไม่ทราบว่าเป็นสัตว์ชนิดใด น่าจะเป็นสัตว์ในตระกูลฟันแทะ ในระยะหลังนี้องค์การอนามัยโลกเองจะตั้งชื่อโรคที่เกิดจากไวรัส หรือโรคอุบัติใหม่ จะไม่ใช้ชื่อสถานที่ สัตว์นำโรค บุคคล มาตั้งเป็นชื่อโรค เพราะจะทำให้เกิดบาดแผลต่อสิ่งนั้น หรือแนวคิดทัศนคติทางลบต่อสิ่งนั้น ๆ องค์การอนามัยโลกจึงตั้งชื่อว่า “Mpox”
สำหรับประเทศไทย ผู้ที่ตั้งชื่อว่าฝีดาษวานร คือศาสตราจารย์นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ”
อย่างไรก็ดี สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศไทยนั้น ขณะนี้ทางกรมควบคุมโรคเพียงแค่สงสัยว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวอาจติดเชื้อสายพันธุ์ Clade 1 b ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดแต่อย่างใด โดยจะต้องติดตามผลการตรวจเชื้ออีกครั้งภายในไม่เกินวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2567
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- วิธีรับมือฝีดาษลิง Clade 1b เช็กอาการ เพศไหนติดได้บ้าง-พิกัดฉีดวัคซีน
- กรมควบคุมโรค เผยไทม์ไลน์ผู้ป่วยฝีดาษลิง ยังไม่ฟันใช่ชนิด 1b ไหม
- ‘หมอยง’ เตือน ‘ฝีดาษลิง’ สายพันธุ์ใหม่ที่ต้องระวังในไทย ติดง่าย-อาการรุนแรง