ข่าว

รู้จัก ‘เกลือทอง’ มีไซยาไนด์ปริมาณน้อย ‘นายยู’ อ้าง ‘หมอเก่ง’ กินก่อนเสียชีวิต

เปิดที่มา ‘เกลือทอง’ คืออะไร ใช้แพร่หลายในวงการจิวเวลรี่ แต่กลับมีโทษร้ายแรงถึงชีวิต หลักฐานสำคัญในคดีการเสียชีวิตปริศนาของ ‘หมอเก่ง’ โดยหนุ่มคนสนิท ‘นายยู’ อ้างว่า คุณหมอรับประทานก่อนปวดท้องรุนแรงจนเสียชีวิต

ยังคงเป็นข่าวคราวที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างล้นหลาม สำหรับกรณีการเสียชีวิตปริศนาของ นายอุดมศักดิ์ ทองม้วน หรือ หมอเก่ง วัย 50 ปี เจ้าหน้าที่ รพ.สต.บางสระเก้า อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ซึ่งก่อนจะหมดลมหายใจ หนุ่มคนสนิท นามว่า นายชัยพร แสงสว่าง หรือ ยู วัย 34 ปี ได้นำตัวส่งโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาโดยด่วน เหตุเพราะคุณหมอมีอาการปวดท้องขั้นรุนแรงและมีเลือดออกทางทวาร

เมื่อเดินทางไปถึงโรงพยาบาล ‘คุณหมอ’ มีภาวะหัวใจหยุดเต้น เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการปั๊มหัวใจอยู่ถึง 6 ครั้ง จนฟื้นคืนชีพมาได้ จากนั้นจึงส่งตัวไปหอพักผู้ป่วยวิกฤติไอซียู 1 แต่อาการก็วิกฤตเรื่อยมา จนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 14 ส.ค. 67 ซึ่งหลังจากที่คุณหมอเสียชีวิต นายยูก็หายตัวไปอยู่ที่จังหวัดลำพูน และขาดการติดต่อ

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพบตัว ‘นายยู’ ได้ทำการสอบสวนเบื้องต้น และพาไปชี้จุดเกิดเหตุ ณ ห้องพัก ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งชายผู้นี้ได้รับสารภาพว่า ก่อนหน้านี้ได้ทำการสั่งซื้อสารพิษ ‘เกลือทอง KAu(CN)2’ มาจากหาดใหญ่ โดยให้มาส่งที่หอพักในจังหวัดนนทบุรี จากนั้นทั้งสองก็นำเกลือทองมาเทใส่แก้วน้ำและรับประทานพร้อมกัน แต่นายยูกลับคลื่นไส้ และอาเจียนออกมาหมด

หมอเก่งรับประทานเกลือทองก่อนเสียชีวิต

‘เกลือทอง’ คืออะไร ส่งผลอันตรายถึงชีวิตหรือไม่

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ‘หมอเก่ง’ ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยว่า สารพิษ “เกลือทอง” คืออะไร และส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้หรือไม่

รองศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ตอบข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าว ผ่านทางเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong เผยว่า เกลือทอง KAu(CN)2 หรือ โกลด์ไซยาไนด์ เป็นที่นิยมใช้แพร่หลายในวงการจิวเวลรี่ มีไว้สำหรับชุบเครื่องประดับ และในขณะเดียวกันก็ สามารถปล่อยไซยาไนด์ในปริมาณน้อย ซึ่งในทางการแพทย์มีการนำมาใช้ในการลดการอักเสบ และชะลอการลุกลามของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ในทางกลับกัน หากรับประทานในปริมาณมาก ไซยาไนด์ประจุลบก็จะไปบล็อกไม่ให้เซลล์รับออกซิเจน ส่งผลให้เซลล์ตาย และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

เกลือทอง (KAu(CN)₂) เป็นสารเคมีที่ประกอบด้วย ทองคำที่ถูกซับลงในรูปแบบของไซยาไนด์ เป็นสารที่มีการใช้งานหลากหลาย ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงในวงการจิวเวลรี่และวงการแพทย์ แต่การใช้งานนั้นต้องระมัดระวัง เนื่องจากก่อให้เกิดอันตรายได้

เกลือทอง คืออะไร
ภาพจาก : Weerachai Phutdhawong

คุณสมบัติและรายละเอียดของเกลือทอง

1. คุณสมบัติทางเคมี

  • เป็นสารประกอบที่เกิดจากการรวมตัวของทองคำ (Au) กับไซยาไนด์ (CN) โดยมีโครงสร้างโมเลกุลที่เสถียร
  • มีลักษณะเป็นผงสีขาวหรือสีเหลืองจาง ๆ
  • สามารถละลายในน้ำได้ดี ซึ่งทำให้สามารถใช้ในกระบวนการชุบเครื่องประดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. การใช้งาน

  • ในอุตสาหกรรมจิวเวลรี่: ใช้เป็นสารสำหรับการชุบทอง (gold plating) บนเครื่องประดับ เพื่อเพิ่มความเงางาม และคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์
  • ในทางการแพทย์ ใช้ในปริมาณที่ควบคุมเพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) เนื่องจากมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบและชะลอการลุกลามของโรค

อันตรายจากการใช้เกลือทอง

1. ความเป็นพิษของไซยาไนด์

  • ไซยาไนด์ (CN⁻) เป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง หากรับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก ไซยาไนด์จะไปบล็อกการทำงานของเอนไซม์ cytochrome c oxidase ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการหายใจของเซลล์ ทำให้เซลล์ไม่สามารถใช้ออกซิเจนได้ ส่งผลให้เซลล์ตาย และหากเกิดขึ้นในระดับสูงอาจทำให้เสียชีวิตได้
  • ความเป็นพิษจากไซยาไนด์อาจเกิดขึ้นได้จากการสูดดม สัมผัสทางผิวหนัง หรือการกลืนกิน

2. อันตรายในการใช้งาน

  • ในอุตสาหกรรมการชุบเครื่องประดับ การใช้งานเกลือทองจำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด เนื่องจากสารนี้สามารถทำให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน
  • ในวงการแพทย์ การใช้เกลือทองต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากหากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดพิษและอันตรายต่อผู้ป่วยได้

ข้อควรระวังในการใช้เกลือทอง

1. การจัดเก็บ ต้องจัดเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท เก็บในที่แห้งและเย็น ห่างจากความชื้นและสารเคมีที่ทำปฏิกิริยารุนแรง

2. การใช้งาน ผู้ใช้งานควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือ หน้ากาก และแว่นตา เพื่อป้องกันการสัมผัสกับสารโดยตรง

3. การกำจัด ต้องมีวิธีการกำจัดที่ถูกต้อง เนื่องจากไซยาไนด์เป็นสารพิษที่สามารถปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมได้

สรุปได้ว่า การใช้เกลือทองมีทั้งประโยชน์และอันตรายที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการใช้งานในด้านการแพทย์ และอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button