เฉลยปมร้อน ‘อ.เจษฎา’ ยืนยัน “โครโมโซมเป็นชาย แต่ร่างกายเป็นหญิง” มีอยู่จริง
ไขกระจ่าง ‘อาจารย์เจษฎา’ ยืนยันเกิดได้จริง “โครโมโซมเป็นชาย แต่ร่างกายพัฒนาเป็นหญิง” โยงเข้าประเด็นพิพาท นักมวยหญิงแอลจีเรีย “ไม่ผ่านตรวจเพศ” แต่ได้ลงแข่งโอลิมปิก
สืบเนื่องจากกรณี อิมาน เคลีฟ (Imane Khelif) นักมวยหญิงชาวแอลจีเรีย เคยถูกสมาคมมวยสากลนานาชาติ หรือ IBA ตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน เหตุเพราะ “ไม่ผ่านการตรวจเพศในอดีต” แต่สุดท้ายกลับได้รับอนุญาตลงแข่งขันในโอลิมปิกปารีส 2024 และสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้จากอิตาลี แองเจลา คารินี ด้วยการที่อีกฝ่ายขอยอมแพ้ภายใน 46 วินาที ก่อนที่ต่อมาจะเกิดเป็นประเด็นวิจารณ์เดือดถึงตัวตนทางเพศของเธอ อันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับนักกีฬาหญิงรายอื่น
ล่าสุด (2 สิงหาคม 2567) อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ชี้แจงความจริงในประเด็นร้อนดังกล่าว ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant อธิบายถึงความหมายของ “46 XY DSD .. เมื่อโครโมโซมเป็นผู้ชาย แต่ร่างกายพัฒนาเป็นผู้หญิง”
‘อาจารย์เจษฎา’ เผยว่า แม้ทุกคนจะเคยเล่าเรียนมาว่า โครโมโซม XX เป็นผู้หญิง และโครโมโซม XY เป็นผู้ชาย แต่ก็มีกรณีพิเศษที่หาได้ยาก เกิดขึ้นได้จากความผิดปรกติของพัฒนาการทางเพศ (disorders of sexual development หรือ DSD) และระดับฮอร์โมนเพศในคนบางคนได้จริง เป็นต้นว่า ร่างกายของเด็กหญิงรายหนึ่งเริ่มเปลี่ยนแปลงคล้ายเด็กชาย เสียงทุ้ม ขนขึ้นเยอะ กลับกันเด็กชายบางรายอาจมีพัฒนาการต่างจากเพื่อน ไม่มีหนวดเครา อวัยวะเพศเล็ก ปริมาณอสุจิอยู่ในระดับน้อย
ภาวะเช่นนี้แบ่งออกเป็น 46, XY DSD (ผู้หญิง แต่เป็นเพศชายทางชีวภาพ) และ 46, XX DSD (ผู้ชาย แต่เป็นเพศหญิงทางชีวภาพ) และสำหรับกรณีของ ‘อิมาน เคลีฟ’ ก็อาจจะเข้าข่ายกรณี 46,XY DSD
โพสต์ดังกล่าวระบุข้อความไว้ว่า “46 XY DSD .. เมื่อโครโมโซมเป็นผู้ชาย แต่ร่างกายพัฒนาเป็นผู้หญิง วันนี้เต็มหน้าฟีดเฟซบุ๊ก มีแต่เรื่องข่าวกีฬาชกมวยหญิงโอลิมปิก 2024 ที่เกิดดม่ากันกับผลการชกระหว่าง “อิมาน เคลิฟ” นักมวยหญิงชาวแอลจีเรีย เอาชนะนักมวยหญิงอิตาลี ไปได้อย่างง่ายดาย โดยขอยอมแพ้ตั้งแต่ยกแรกผ่านไปแค่ 46 วินาที พร้อมกับความกังขาที่ว่า เธอเคยตรวจว่าเป็นหญิงแท้หรือไม่ และตรวจไม่ผ่าน (โดยพบว่า เธอมีระดับฮอร์โมนเพศชายสูง)
ข้อกล่าวหาหนึ่ง ที่ยังไม่มีการแถลงยืนยันชัดเจนจากทาง เคลิฟ คือการบอกว่า แม้ในเอกสารทางการ จะระบุว่าเธอเป็นเพศหญิง มีอวัยวะร่างกายไปทางเพศหญิง แต่จริง ๆ เธอเป็น “เพศชายทางชีวภาพ (biological male)” คือมีโครโมโซมเป็น XY เป็นเพศชายตั้งแต่กำเนิด เลยทำให้มีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (testosterone) สูง เลยมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงกว่าผู้หญิงทั่วไป (เน้นว่า เป็นข้อกล่าวหา ที่ “ยังไม่ถูกยืนยัน”)
คำถามที่ทำให้คนทั่วไปงงงวยคือ ถ้ามีโครโมโซมเป็น XY แล้วเธอจะมีร่างกายเป็นผู้หญิง (ซึ่งควรจะต้องมีโครโมโซม XX) ได้อย่างไร? ไม่เห็นตรงกับที่เรียนมา
คำตอบคือ มันก็มีกรณีพิเศษ ที่หาได้ยาก เกิดขึ้นได้จากความผิดปรกติของพัฒนาการทางเพศ (disorders of sexual development หรือ DSD) และระดับฮอร์โมนเพศ (sex hormones) ในคนบางคนได้จริง ๆ ครับ
ลองจินตนาการถึงเด็กผู้หญิงสักคนหนึ่ง ที่พออายุสัก 13 ปี แล้วพ่อแม่เริ่มสังเกตว่าเธอดูมีลักษณะที่ “แมน” ขึ้น ดูคล้ายเด็กชายมากขึ้น เช่น เสียงทุ้มลง มีขนขึ้นมากตามร่างกาย ฯลฯ พอพาไปหาหมอ ตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ก็พบว่ามีสูงขึ้น จนทำให้แพทย์ตัดสินใจส่งตรวจหารูปแบบของโครโมโซม (เรียก คาริโอไทป์ karyotype) ก็พบว่าเธอมีโครโมโซม 46 แท่ง โดยเป็นโครโมโซมเอ็กซ์ 1 แท่งและโครโมโซมวาย 1 แท่ง !?
หรือในทางตรงข้าม เด็กผู้ชายอีกคน มาหาหมอเพราะมีพัฒนาการของร่างกายที่แตกต่างจากเพื่อนๆ แม้จะอายุ 17 ปีแล้ว เช่น หน้าเกลี้ยงเกลา ไม่มีขนหนวดเคราขึ้น มีอวัยวะเพศขนาดเล็กและไม่พัฒนารูปร่างตามอายุ พอแพทย์ตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนเพศชาย ก็มีระดับต่ำ พอตรวจวัดปริมาณของตัวอสุจิ ก็มีระดับน้อย !?
เด็กทั้งสองคนนี้ มีแนวโน้มที่อาจจะเป็นภาวะ DSD “disorder of sexual development” หรือมีความผิดปรกติในการพัฒนาทางเพศของร่างกาย แม้จะมีจำนวนโครโมโซมเป็น 46 แท่งตามปรกติก็ตาม … ซึ่งมีได้ทั้งแบบ 46, XY DSD (ผู้หญิง แต่เป็นเพศชายทางชีวภาพ) และแบบ 46, XX DSD (ผู้ชาย แต่เป็นเพศหญิงทางชีวภาพ)
เคสนักชกมวยหญิงที่เราสนใจกัน จะเข้ากรณี 46,XY DSD ซึ่งหมายถึง จริงๆ เป็นเด็กผู้ชายที่มีโครโมโซมเพศ เป็น XY แต่กลับมีอวัยวะเพศภายนอก “กำกวม” มีพัฒนาการของอวัยวะเพศชายไม่สมบูรณ์ และในบางกรณี อวัยวะเพศอาจเป็นของเพศหญิงเลยก็ได้
สาเหตุของภาวะ 46,XY DSD เกิดจากความผิดปกติ ในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของพัฒนาการทางเพศของร่างกาย เช่น เกิดความผิดปกติในพัฒนาการของอัณฑะ , เกิดความผิดปกติของกระบวนการสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน (androgen) หรือการทำหน้าที่ของฮอร์โมนแอนโดรเจน ผิดปกติไป, หรือความผิดปกติอื่น ๆ ได้แก่ cloacal exstrophy , persistent Mullerian duct syndrome, vanishing testes syndrome, severe hypospadias, congenital hypogonadotropic hypogonadism, cryptorchidism (INSL3) ตลอดจนผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม
ผลที่ตามมาคือ เกิดภาวะอวัยวะเพศกำกวม ตั้งแต่ระกับที่ไม่สามารถแยกได้ชัดเจนว่าเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย , หรือแม้จะดูเหมือนหญิงหรือชาย แต่ก็มีลักษณะไม่สมบูรณ์ , และรวมถึงมีลักษณะเพศเป็นเพศหญิงชัดเจน แต่ไม่ตรงกับโครโมโซม
คำสรุปของเรื่องนี้คือ แม้ว่าเราจะเรียนกันมาตลอดว่า โครโมโซม X และ Y เป็นตัวกำหนดเพศของคนเราตั้งแต่เกิด (คือ ถ้าเป็น XX ก็เป็นผู้หญิง และถ้า XY ก็เป็นผู้ชาย) ก็ตาม
ในโลกความจริง มันก็มีข้อยกเว้นเกิดขึ้นได้ ที่บางคนจะมีสภาพร่างกายแตกต่างจากโครโมโซม ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เรียกว่า DSD เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และส่งผลกระทบต่อชีวิตของคน ๆ นั้นอย่างมาก ในการอยู่ร่วมในสังคมแบบทึ่ “มีแค่ 2 เพศ” ครับ”
อย่างไรก็ดี หลังแฟนกีฬากีฬาได้อ่านโพสต์ดังกล่าว หลาย ๆ คนก็พากันแสดงความคิดเห็นถึงความจริงทางการแพทย์ในส่วนนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังยืนยันคำว่าเดิม การที่กคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC อนุญาตให้ลงแข่งโอลิมปิก 2024 นั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง