25 ก.ค.นี้ เตรียมชม ‘ดวงจันทร์บังดาวเสาร์’ ครั้งแรกของปี เห็นได้ทั่วไทย
ครั้งแรกของปี ชาวไทยทั้งประเทศเตรียมรับชมปรากฏการณ์ ‘ดวงจันทร์บังดาวเสาร์’ ในช่วงเช้ามืด 25 ก.ค. 67 หากฟ้าใส มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ทั่วไทย
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) เชิญชวนประชาชนทั่วไทย เตรียมรับชมปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ (Lunar Occultation of Saturn)” ครั้งแรกของปี ในช่วงเช้ามืดของวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2567 ตั้งแต่เวลาประมาณ 03.09 – 04.027 น. (ตามเวลากรุงเทพมหานคร)
ขณะเริ่มเกิดปรากฏการณ์ ดวงจันทร์ และ ดาวเสาร์ จะปรากฏอยู่บริเวณกลางท้องฟ้า โดยดาวเสาร์จะปรากฏใกล้กับส่วนสว่างของดวงจันทร์ ดาวเสาร์จะเริ่มสัมผัสขอบดวงจันทร์ฝั่งเสี้ยวสว่างและค่อย ๆ ลับหายไปด้านหลังของดวงจันทร์ ในเวลาประมาณ 03:09 น. และโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งในฝั่งพื้นผิวส่วนมืด เวลาประมาณ 04:27 น. (ข้อมูลดังกล่าวคำนวณจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังอาจจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน)
ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ดังกล่าวสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า จากทุกจังหวัดทั่วไทย ซึ่งหากมองด้วยตาเปล่าจะสังเกตเห็นเป็นจุดดาวเล็ก ๆ เคลื่อนหายไปหลังดวงจันทร์ แต่หากชมผ่านกล้องโทรทรรศน์จะสังเกตเห็นรายละเอียดดาวเสาร์พร้อมวงแหวนค่อย ๆ ลับหายไปหลังดวงจันทร์ และโผล่พ้นออกมาทั้งดวงได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ หากท่านใดต้องการสัมผัสประสบการณ์อย่างเต็มรูปแบบ สามารถรับชมการถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ตั้งแต่เวลา 02.30 น. เป็นต้นไป
ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์บังดาวเสาร์” ในปีนี้จะเกิดขึ้นทั้งหมด 2 ครั้ง โดยครั้งต่อไปจะตรงกับ.นช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม 2567 เวลาประมาณ 02.19 – 03.00 น. สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในพื้นที่ภาคเหนือ บางส่วนของภาคกลาง บางส่วนของภาคตะวันตก และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ข้อมูลดังกล่าวคำนวณจากพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังอาจจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน) หรือติดตามข้อมูลปรากฏการณ์เพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ปรากฏการณ์บังกันของวัตถุบนท้องฟ้าคืออะไร ?
การบังกันของวัตถุท้องฟ้า (Occultations) เป็นปรากฏการณ์ที่วัตถุท้องฟ้าหนึ่งเคลื่อนที่ผ่านหน้ามาบังอีกวัตถุหนึ่งเมื่อสังเกตจากแนวสายตา อาทิ ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ ดวงจันทร์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังกันเอง เป็นต้น
มนุษย์สามารถอาศัยปรากฏการณ์เหล่านี้คำนวณหาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวัตถุ คำนวณหาระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ตรวจหาและศึกษาโครงสร้างของชั้นบรรยากาศ รวมถึงการใช้ตรวจหาวงแหวนของดาวเคราะห์ชั้นนอกได้อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิจัยดาราศาสตร์อย่างมาก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง