การเงินเศรษฐกิจ

วิธีแลกธนบัตรเฉลิมพระเกียรติ ในหลวง ร.10 เริ่ม 23 ก.ค. 67

ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดแลกธนบัตรและแผ่นพับบรรจุธนบัตรที่ระลึก เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชการที่ 10 โดยสามารถจ่ายแลกได้ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค. 67

ธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มเปิดจ่ายแลก ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และแผ่นพับบรรจุธนบัตรที่ระลึกฯ ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

Advertisements

เงื่อนไขการแลกธนบัตรที่ระลึกในหลวง ร.10

ประชาชนสามารถนำธนบัตรฉบับละ 100 บาทใบเก่าไปแลกเป็นธนบัตรที่ระลึกได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งธปท.จำกัดจำนวนการแลกธนบัตรที่ระลึกทั้งหมด 10 ล้านฉบับ ทั้งนี้สามารถนำธนบัตรที่ระลึกไปใช้จ่ายได้ตามปกติ

นอกจากนี้ยังจัดจำหน่ายแผ่นพับสำหรับเก็บธนบัตรที่ระลึก ราคาชุดละ 10 บาท มีจำนวนจำกัด 2 ล้านชุด ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายแผ่นพับทั้งหมดจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

ช่องทางการแลกธนบัตรที่ระลึกในหลวง ร.10

สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถแลกธนบัตรที่ระลึกและซื้อแผ่นพับสำหรับเก็บธนบัตรได้ที่ธนาคารพาณิชย์และศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้

  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์
  • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
  • ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

สำหรับการแลกธนบัตรที่ระลึกฯ จำกัดจำนวนไว้ที่ท่านละ 20 ฉบับ เพื่อกระจายธนบัตรที่ระลึกได้อย่างทั่วถึง หากสนใจแลกธนบัตรที่ระลึกเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สถาบันการเงินของแต่ละสาขา

ธนบัตรที่ระลึกปรากฏหมายเลข 9 สื่อความหมายถึงการครองราชย์ปีที่ 9

Advertisements

ข้อมูลธนบัตรที่ระลึก

  • ขนาดธนบัตรและความหมาย
    – กว้าง 89 มิลลิเมตร : เลข 9 สื่อความหมายถึงการ ครองราชย์ปีที่ 9
    – ยาว 163 มิลลิเมตร : มีผลรวมเท่ากับ 10 สื่อความหมายถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี
  • ชนิดราคา 100 บาท พิมพ์บนวัสดุพอลิเมอร์ จ่ายแลกในราคา 100 บาท
  • จำนวนพิมพ์ 10 ล้านฉบับ
  • วันออกใช้ : วันที่ 23 กรกฎาคม 2567

ธนบัตรด้านหน้า

ธนบัตรที่ระลึกด้านหน้าปรากฏพระบรมสาทิสลักษณ์ พิมพ์ทับบนลายพื้นสีเหลือบทอง

พระบรมสาทิสลักษณ์ พิมพ์ทับบนลายพื้นสีเหลือบทอง

พระบรมสาทิสลักษณ์ ลายรัศมีเบื้องหลังพระบรมสาทิสลักษณ์ และลายหน้าครุฑประกอบลายช่อกระหนก พิมพ์ด้วยเส้นนูนสีน้ำตาลเข้ม จะรู้สึกสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ องค์ประกอบทั้งหมดนี้รวมทั้งลายพรรณพฤกษาสีเหลืองและสีแดงซึ่งอยู่บริเวณเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของพระบรมสาทิสลักษณ์ พิมพ์ทับบนลายพื้นสีเหลือบทอง

ธนบัตรฉบับ 100 บาท มีภาพเงาอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร., ช่องใสรูปพระครุฑพ่าห์ หมึกพิเศษสีทองภายในช่องใส และช่องใสรูปแปดเหลี่ยม

ภาพเงาอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. ด้านหน้า

ภาพเงาอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี มีลักษณะคล้ายลายน้ำ มองเห็นได้ทั้งสองด้านเมื่อยกธนบัตรส่องกับแสงสว่าง

ช่องใสรูปพระครุฑพ่าห์ หมึกพิเศษสีทองภายในช่องใส

ช่องใสรูปพระครุฑพ่าห์ มีการพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษสีทอง และมีรูปพระครุฑพ่าห์สีขาวอยู่ภายในช่องใส

ช่องใสรูปแปดเหลี่ยม

ช่องใสรูปแปดเหลี่ยม มองเห็นทะลุได้ทั้งสองด้าน ภายในมีลายดอกพิกุลขนาดเล็กดุนนูน เป็นจุดสัมผัสสำหรับผู้บกพร่องทางสายตาสื่อความหมายถึง ความเป็นสิริมงคล ความเจริญรุ่งเรือง และความอุดมสมบูรณ์แผ่ไพศาล ไปทั่วทั้งแปดทิศ

ธนบัตรด้านหลังปรากฏภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ประดับดารานพรัตน

ธนบัตรด้านหลัง

พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ประดับดารานพรัตน ทรงสายสร้อยปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ และทรงพระแสงกระบี่

ช่องใสรูปประจำยามมีลายดอกรวงผึ้งซึ่งพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ ส่วนตัวเลขแจ้งราคา 100 พิมพ์ทับด้วยเส้นนูนสีใสเป็นจุดสัมผัสสำหรับผู้บกพร่องทางสายตา และมีตัวอักษรจิ๋วระบุข้อความทรงพระเจริญ

ช่องใสรูปประจำยาม

ช่องใสรูปประจำยามที่เบื้องล่างขวา ภายในมีบางส่วนของลายดอกรวงผึ้งซึ่งพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงหรือพลิกซ้ายขวาจะเห็นรูปวงกลมเคลื่อนไหวไปมาได้รอบทิศทาง และเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียว

ชนิดราคา 100 และ เส้นนูนสีใส 4 เส้น

ตัวเลขแจ้งชนิดราคา “100” พิมพ์ทับด้วยเส้นนูนสีใส 4 เส้น จะรู้สึกสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ เป็นจุดสัมผัสสำหรับผู้บกพร่องทางสายตา

ตัวอักษรจิ๋ว

แถบสีเหลืองและสีชมพูซึ่งพิมพ์ที่ขอบธนบัตรเบื้องล่างทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ภายในมีข้อความ “ทรงพระเจริญ” ขนาดเล็กเรียงติดต่อกัน อ่านได้ชัดเจนโดยใช้แว่นขยาย

ธนบัตรด้านหลังมีภาพดอกรวงผึ้งและลายดาวสีเขียวอมเหลืองเรืองแสงภายใต้รังสีเหนือม่วง

ลักษณะภายใต้รังสีเหนือม่วง

พระบรมสาทิสลักษณ์ ลายช่อกระหนกที่รองรับตราสัญลักษณ์ฯ และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่อยู่โดยรอบขอบธนบัตร ได้แก่ ลายประดิษฐ์ ลายพรรณพฤกษา ภาพดอกรวงผึ้ง รวมทั้งแถบสีเหลืองซึ่งภายในมีข้อความ “ทรงพระเจริญ” จะเรืองแสงเป็นสีเหลืองภายใต้รังสี เหนือม่วง

ภาพดอกรวงผึ้งและลายดาว สีเขียวอมเหลืองภายใต้รังสีเหนือม่วง

บริเวณเบื้องล่างของพระบรมสาทิสลักษณ์จะปรากฏภาพดอกรวงผึ้งและลายดาวสีเขียวอมเหลืองเรืองแสงภายใต้รังสีเหนือม่วง

หมวดอักษรเลขหมาย เรืองแสงสีส้ม

หมวดอักษรและเลขหมายไทยจะเปลี่ยนเป็นสีส้มเรืองแสงภายใต้รังสีเหนือม่วง

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

sukanlaya s.

นักเขียนบทความ SEO ประจำเว็บไซต์ The Thaiger จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญงานเขียนประเภท ข่าวกระแสสังคม และบทความไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวที่เที่ยว เทรนด์แฟชั่นและความงาม พร้อมแนะนำกระแสมาแรง ทันเหตุการณ์ ช่องทางติดต่อ ying@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button