หมอหม่อง เฉลย เหตุต้องฆ่านกยูงอินเดีย นกยูงไทยแท้ เสี่ยงสูญพันธุ์
หมอหม่อง ชี้แจงปมคำสั่งกำจัดนกยูงอินเดีย หวั่นกระทบพันธุกรรมนกยูงไทยแท้ เสี่ยงสูญพันธุ์
จากกรณีคำสั่งกำจัดนกยูงอินเดียและนกยูงเผือกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเพื่อป้องกันนกยูงไทยสูญพันธุ์ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง คุณหมอนักอนุรักษ์ ออกมาไขข้อสงสัยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า การปล่อยให้นกยูงต่างสายพันธุ์นี้อยู่ร่วมกับนกยูงไทยแท้ อาจนำไปสู่การผสมข้ามพันธุ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพันธุกรรมนกยูงไทยแท้ที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้วให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคต
ก่อนหน้านี้ มีรายงานการพบเห็นนกยูงอินเดียและนกยูงเผือกในพื้นที่ห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของนกยูงไทยแท้ ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจมีการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ จนนำไปสู่การออกคำสั่งจับนกยูงตัวดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา
หมอหม่อง อธิบายเพิ่มเติมว่า หากเกิดการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์จริง อาจก่อให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะด้อย และมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากนกยูงไทยในห้วยขาแข้ง ซึ่งหากปล่อยให้ขยายพันธุ์ต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรนกยูงไทยแท้ และนำไปสู่การสูญพันธุ์ได้ในที่สุด
การที่นกยูงอินเดียและนกยูงเผือกปะปนกับนกยูงไทยแท้ที่ห้วยขาแข้ง อาจทำให้พันธุกรรมของนกยูงไทยแท้สูญพันธุ์ได้ เพราะทั้งสองตัวต่างสายพันธุ์กัน นกยูงไทยสายพันธุ์ Pavo muticus ส่วนนกยูงอินเดียสายพันธุ์ Pavo cristatus
ด้วยเหตุนี้เอง นกยูงทั้งสองชนิดจึงมีถิ่นอาศัย และการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน และเมื่อเวลาผ่านไปนานหลายล้านปี ทั้งสองสายพันธุ์จึงแยกสายวิวัฒนาการกันอย่างชัดเจน จนเกิดเป็นพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมกับถิ่นที่อยู่ และระบบนิเวศนั้น ๆ
การแยกสายพันธุ์ของนกยูงนั้นเกิดขึ้นตามการย้ายถิ่นของประชากร ไม่ใช่อย่างในปัจจุบันที่เป็นการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ มิเช่นนั้นแล้วจะเกิดเป็นเกิดความวุ่นวายทางนิเวศ อาจมีการแย่งอาหาร และแย่งถิ่นที่อยู่ ซึ่งอาจส่งผลให้นกยูงสายพันธุ์ที่อยู่มาก่อนสูญพันธ์ได้
อย่างไรก็ตาม นกยูงไทยใกล้สูญพันธุ์เข้าทุกที ในขณะที่นกยูงอินเดีย ยังคงมีจำนวนมากและยังไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด ฉะนั้นแล้วเราไม่ควรปล่อยให้นกยูงไทยถูกลดจำนวนลง อาจส่งผลเสียต่อระบบนิเวศและวงจรชีวิตสัตว์ในอนาคตได้
ทั้งนี้ หมอหม่อง รู้สึกขอขอบคุณทางเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯทุกท่านที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ และพยายามหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้งพบซากขนนกยูงอินเดียสีขาว จึงเตรียมเพิ่มจุดตั้งกล้องและเดินเท้าสำรวจหาลูกนกยูงพันธุ์ผสมต่อไป รวมทั้งได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการค้นหานกยูงดังกล่าวพร้อมทั้งโรยอาหารบริเวณเส้นทางหากินและวางกรงดักเพื่อดักจับนกยูงให้ได้ จากการซุ่มสังเกตการณ์บนหอดูสัตว์หอนกยูงบริเวณโป่งช้างเผือก พบว่า
1. ไม่พบนกยูงตัวสีเขียวที่คาดว่าเป็นพันธุ์ผสมตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2567
2. ไม่พบนกยูงอินเดียสีขาวตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2567
3. เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนได้เดินสำรวจบริเวณใกล้เคียงเพื่อค้นหานกยูงทั้ง 2 ตัว ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนพบเศษขนของนกยูงอินเดียสีขาวพร้อมทั้งมีรอยเลือดแต่ไม่พบซากนกยูงตัวดังกล่าว คาดว่าอาจถูกทำร้ายหรือกินโดยสัตว์ผู้ล่าไม่ทราบชนิดเนื่องจากขณะที่เจ้าหน้าที่สังเกตเห็นนกยูงอินเดียตัวสีขาวนั้น มีลักษณะไม่ค่อยระวังตัวเท่านกยูงไทยจึงอาจตกเป็นเหยื่อของสัตว์ผู้ล่าได้ง่าย
ส่วนแผนการดำเนินงานในลำดับถัดไป เจ้าหน้าที่จะทำการเก็บกรงดักเนื่องจากพบว่ามีโขลงช้างป่าเข้ามาหากินใกล้เคียงพื้นที่ตั้งกรง และนกยูงที่คาดว่าเป็นลูกผสมนั้นจะดำเนินการเพิ่มจุดตั้งกล้องดักถ่ายภาพให้มากขึ้นรวมถึงการเดินเท้าเพื่อตรวจสอบและค้นหาต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ลิงซากิ หน้าตาคล้ายคน จากลิงขี้อาย สู่ ขวัญใจคนใหม่ของสวนสัตว์
- พบขน-รอยเลือด ขณะติดตามตัว ‘นกยูงอินเดียสีขาว’ หวั่นทำนกยูงไทยสูญพันธุ์
- นักเรียนสุดทน จับลิงฟาดคาโรงเรียน หลังถูกบุกกัด ผอ.ยัน ลิงยังอยู่