กทม. หารือแก้ปัญหาฝาท่อ ปรับไปใช้ฝาท่อซีเมนต์ เตรียมนำ AI เข้าช่วย
กทม. หารือแก้ปัญหาฝาท่อ ปรับไปใช้ฝาซีเมนต์ แก้ปัญหาตะแกรงเหล็กถูกขโมย เตรียมนำ AI เข้าช่วย สอดส่องสถานการณ์แบบเรียลไทมส์
นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุม หน่วยงานสาธารณูปโภคภายนอก และหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับฝาท่อของ กทม. เพื่อหารือถึงมาตรการความปลอดภัย หลังจากที่เกิดเหตุประชาชนเดินตกท่อเสียชีวิต บริเวณซอยลาดพร้าว 49 เมื่อช่วงวันศุกร์ที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงเหตุรถจักรยานยนต์เสียหลักล้มพลัดตกลงไปในร่องระบายน้ำเสียชีวิตที่แยกมไหสวรรย์ เมื่อช่วงวันที่ 5 พ.ค. นั้น
นายณรงค์ กล่าวว่า มาตรการป้องกันและแก้ปัญหาเบื้องต้น กฟน.จะมีการตรวจสอบ เช่น สภาพของบ่อพัก หรืองานก่อสร้างส่วนใดที่ไม่เรียบร้อยและไม่ปลอดภัยต้องตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบฝาบ่อพักให้มีลักษณะเป็นวัสดุที่คงทนแข็งแรง มีความสามารถในการรับน้ำหนักและปลอดภัย
ส่วนการรับเรื่องร้องเรียนผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ที่ กทม.แจ้งไปทาง กฟน.จะมีการตรวจสอบแก้ไขภายใน 24 ชม. รวมถึงกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ก่อนการก่อสร้าง เริ่มการก่อสร้าง และหลังการก่อสร้าง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย
“กทม.ตระหนักและให้ความสำคัญการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ซึ่งจุดนี้ต้องมีการสื่อสารเพิ่มเติม หรือรายงานติดตามกับหน่วยงานที่ดำเนินการว่าสิ่งที่แก้ไขไปแล้วเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยหรือไม่ ซึ่งเป็นมาตรการที่ต้องกำชับต่อไป” นายณรงค์กล่าว
เหตุการณ์ผู้ขี่รถจักรยานยนต์เสียหลักล้มในอุโมงค์แยกมไหสวรรย์ ทำให้ผู้ขับขี่พลัดตกลงไปในร่องระบายน้ำเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2567 เป็นพื้นที่ของ กทม.รับผิดชอบ โดยอุโมงค์ทางลอดแห่งนี้ไม่อนุญาตให้รถจักรยานยนต์สัญจรผ่าน เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่าฝาตระแกรงเหล็กถูกขโมยหายไป ได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องมีมาตรการตรวจสอบและติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ระหว่างการหาแนวทางร่วมกัน หาเทคนิควิธีการป้องกันการขโมยตระแกรงเหล็ก
“สำหรับฝาท่อในอุโมงค์ทางลอดมีความกว้างประมาณ 1 เมตร เพื่อเป็นทางเดินในการเข้าไปซ่อมบำรุงรักษาระบบสูบน้ำ และระบบระบายน้ำภายในอุโมงค์ รวมถึงมีการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบว่าบริเวณนี้มีบ่อพัก เพื่อหลีกเลี่ยงพร้อมกับกำชับเจ้าหน้าที่หากเกิดปัญหาจะต้องแก้ไขภายใน 24 ชั่วโมง” นายณรงค์กล่าว
ขณะที่ นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีอุบัติเหตุในอุโมงค์มไหสวรรย์ ในระยะสั้น กทม.จะตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงกรณีฝาท่อที่ถูกขโมยและไม่ได้มีการแก้ไขถึงแม้จะมีการแจ้งความแล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันนี้ได้มีการนำฝาท่อซีเมนต์มาปิดครบแล้ว
“ในระยะยาวตะแกรงเหล็กที่ถูกขโมย กทม.จะปรับเป็นฝาท่อซีเมนต์ ขณะเดียวกันจะมีการประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ตรวจตราร้านค้าที่รับซื้อของเก่าจากทางราชการ รวมไปถึงฝาท่อรวมไปถึงสายไฟและอื่นๆ” นายธวัชชัยกล่าว
ด้าน นายสถิตย์ พงศธรวิบูลย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟน.มีบ่อพักในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 1,877 บ่อ มีทั้งบ่อที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จากการตรวจสอบจุดฝาบ่อทั้งหมดรวมถึงในพื้นที่ จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ พบว่าฝาบ่อเหล็กที่เหลือทั้งหมดอยู่ในสภาพดี ส่วนฝาบ่อชั่วคราวก็เป็นไปตามมาตรการที่ได้เสนอเจ้าของพื้นที่ไว้แล้ว
“กฟน.ได้นำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในการตรวจสอบ มอนิเตอร์แบบเรียลไทม์ เมื่อสถานที่ก่อสร้างมีการทรุดตัว เสี่ยงก่อให้เกิดอุบัติเหตุ AI จะมีการแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบให้รีบดำเนินการแก้ไข ซึ่งมีการทดลองติดตั้งแล้วบริเวณถนนพระรามที่ 3 เขตยานนาวา อยู่ระหว่างการศึกษาและติดตามผลการทำงาน” นายสถิตย์กล่าว
นายสถิตย์กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการรายงานการตรวจสอบฝาบ่อพักชั่วคราวทั้งหมด จะมีทั้งการตรวจสอบรายวันในช่วงเช้าและบ่าย การสุ่มตรวจโดยผู้บริหาร กรณีพบปัญหาจะมีทีมแก้ปัญหาเร่งด่วน นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบโดยวิธีสแกน GPR ในช่วงกลางคืนด้วย โดยมีการรายงานสถานะของบ่อพักผ่าน Google Maps
ทั้งนี้ ลักษณะการปิดฝาบ่อที่ประชาชนตกลงในบ่อเมื่อวันที่ 3 พ.ค.67 คืนสภาพฝาบ่อถาวรแล้ว ไม่มีการปิดฝาแผ่นเหล็กตามมาตรฐาน และวัสดุปิดฝาบ่อชั่วคราวไม่มั่นคงแข็งแรง หลังเกิดเหตุ กฟน.ได้เข้าไปดูแลครอบครัวทันที และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามมาตรการเยียวยาของ กฟน.
นายสถิตย์กล่าวด้วยว่า ในอนาคต กฟน.จะนำฝากลมคอนกรีต UHPC ปิดบ่อพักไฟฟ้าใต้ดิน (UHPC Manhole cover) มาใช้เพื่อลดปัญหาปัญหาฝาเหล็กถูกขโมย ลดปัญหาฝามีเสียงดังเมื่อรถวิ่งผ่าน โดยจะมีส่วนผสมของคอนกรีตและไฟเบอร์ สามารถนำไปแทนที่ฝากเหล็กเดิมได้ทันที จากการทดสอบความคงทนพบว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่าฝาเหล็ก ทดลองติดตั้งถนนชัยพฤกษ์แล้ว ยังไม่พบปัญหาแต่อย่างใด และหากต้องการย้ายจะต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เฉพาะเพื่อช่วยทุ่นแรงและเกิดความปลอดภัยสำหรับคนทำงาน
นายสถิตย์กล่าวว่า กฟน.ได้รายงานข้อร้องเรียนในระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.67 พบมีเรื่องร้องเรียน 537 เรื่อง แบ่งเป็น เรื่องเกี่ยวกับงานในพื้นที่ทางเท้าและผิวจราจร มลภาวะจากการทำงาน และความปลอดภัย ซึ่งแนวทางแก้ไขได้กำชับให้ผู้รับจ้างปฏิบัติตามคู่มือก่อสร้างงานสาธารณูปโภค พ.ศ.2551 และควบคุมการคืนสภาพผิวจราจรชั่วคราว-ถาวรอย่างเคร่งครัด รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงทราบก่อนดำเนินการก่อสร้างทุกครั้ง ทั้งนี้หากได้รับแจ้งปัญหา กฟน.จะพยายามเข้าพื้นที่เพื่อแก้ไขภายใน 24 ชม.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง