หายว้าวุ่น อ.เจษฎ์ เฉลยแล้ว “ภาพกระป๋องน้ำอัดลมยี่ห้อดัง” ตกลงมีสีแดงในรูปหรือไม่ ?
ไขคำตอบ ปริศนาภาพถ่ายไวรัล รูปมือถือกระป๋องโค้ก ที่ทำชาวเน็ตขยี้ตาพร้อมหาข้อมูลวิทยาศาสตร์ชี้แจงกันยกใหญ่ อาจารย์เจษฎ์เฉลยจนไปเจอที่มาเจ้าของภาพ
เล่นเอาใครหลายคนบนโซเชียลแห่แชร์ภาพพร้อมกับตั้งคำถามกันยกใหญ่ กรณีโพสต์รูปถ่ายของ “มือปริศนาซึ่งยื่นมาถือกระป๋องน้ำอัดลมโคคาโคลา” ที่ในภาพถ่ายดังกล่าวประกอบไปด้วยจุดสีขาว-ดำ เรียงกันเป็นจำนวนมาก และขณะเดียวกันก็มีชาวเน็ตหลายคนมองเห็นเป็นสีแดง แ่ต่อมามีคนแย้งข้อมูลว่า รูปนนี้ำม่มีสีแดงเลย เพราะเป็รภาพศิลปะลวงตา
กระแสวิพากษ์สวิจารณ์รูปกระป๋องน้ำอัดลมนี้ ต่อมาก็ถูกเฉลยปมข้อสงสัยทั้งหมด โดย อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์คนดัง ซึ่งออกมาให้ข้อมูลพร้อมกับระบุที่มาเจ้าของรูปดังกล่าว เป็นผลงานของ อากิโยชิ คิตาโอกา ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ประจำสถาบันแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยริทสึเมคัง ในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
ข้อมูลจากเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุ ภาพปริศนานี้มีที่มาจากเพจเฟซบุ๊กของ Akiyoshi Kitaoka ที่โพสต์เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะกลายเป็นไวรัลไปทั่วเน็ต พร้อมกับแคปชั่นว่า กระป๋องโคคาโคล่านี้ ดูเป็นสีแดง ทั้งที่มันประกอบไปด้วยจุดสีขาวดำ อย่างสุ่ม ๆ (“This Coca-Cola can appears reddish, though it consists of black and white random dots.”)
ทั้งนี้ อาจารย์คิตาโอกามีชื่อเสียงจากการสร้างภาพศิลปะลวงตา จากการเล่นกับรูปทรงเรขาคณิต แสงสว่าง สีสัน การเคลื่อนไหว ตามแนวคิดทางด้านจิตวิทยา จนมีชื่อเสียงโด่งดัง และได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย
ขณะที่ในส่วนของคำอธิบายที่ว่า ทำไมเราถึงมองเห็นกระป๋องโค้กนั้นเป็นสีแดงทั้งที่ในภาพมีแต่สีขาว-ดำ-เขียว อ.เจษฎ์ ระบุว่า คำตอบอยู่ที่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “simultaneous color contrast การตัดกันของสี พร้อมๆ กัน”
ปรากฏการณ์ simultaneous color contrast เกิดขึ้นเมื่อมีพื้นที่สี 2 สี ที่มาอยู่ข้างกัน และส่งอิทธิพลต่อกันและกัน จนทำให้ไปเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของเราต่อสีนั้น
ที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากว่า ปกติแล้วการรับรู้สีสันของเรานั้น เกิดขึ้นจากการทำงานของเซลล์ประสาทรับแสง “รูปโคน” ที่ส่งสัญญาณไปที่สมองและสมองจะประมวลผลโดยอาศัยการประเมินการตัดกันของสีสันของสิ่งที่ตั้งใจดูนั้น เทียบกับสีอื่น ๆ ในรูป
ดังนั้น เมื่อดูภาพดังกล่าว เซลล์รูปโคน ที่เห็นการตัดกันของสี 3 สี (ขาว-ดำ-เขียว cyan) บนภาพ เมื่อส่งสัญญาณไปที่สมอง สมองกลับตีความเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เกิดเห็นสีที่ 4 เพิ่มขึ้นมา (คือบอกว่า เห็นสีเทาเป็นสีแดง)
สมองของคนเรานั้น ทำงานคล้ายกับระบบ white balance ในกล้องดิจิตอล ที่พยายามจะปรับแก้สีที่เรามองเห็น ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น ตัวอย่างเช่น เมื่อเราอยู่ในห้องที่เปิดไฟเป็นสีอมส้ม สมองของเราก็พยายามปรับแก้สีทั้งหมด เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น โดยการบอกว่าสีส้มนั้น เป็นสีขาว
ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลจากโพสต์ของอ.เจษฎ์ จึงสรุปได้คร่าว ๆ ว่า พอเราดูภาพกระป๋องโค้กในรูปจากระยะไกล สมองก็ตีความเหมือนกับว่าเรากำลังอยู่ในห้องที่มีสีเขียว Cyan และพยายามเปลี่ยนสีเขียว Cyan ให้กลายเป็นสีขาว เลยทำให้บริเวณที่เป็นสีเทา (คือมีแต่สีขาว กับสีดำ) กลายเป็นสีแดง (เพราะว่า เมื่อสีแดงอยู่ในห้องที่มีแสงสีเขียว Cyan สีแดงนั้นจะกลายเป็นสีเทา .. เหมือนการกลับสีกัน เป็นสีตรงกันข้าม).
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ไอเดียเจ๋ง คลิปหมวกตำรวจจราจร ติดแอร์ อ.เจษฎ์ ชี้น่าใช้ในไทยที่สุดตอนนี้
- อาจารย์เจษฎา ตอบแล้ว ไม่ควรตัด-โกนขนสุนัข สายพันธุ์ขน 2 ชั้น เสี่ยงมะเร็งผิวหนัง
- ปริศนา น.ศ.สาวหยุดหายใจ 23 นาที นอนสลบแผลเต็มร่าง ผ่าน 3 เดือน ยังไม่ทราบสาเหตุ