ข่าว

ญี่ปุ่นชื่นชม คนไทยแห่ ‘โดราเอม่อน’ ขอฝน ไม่ทารุณแมว

ชาวญี่ปุ่นชื่นชมความสร้างสรรค์ของคนไทย เปลี่ยนการแห่นางแมวให้เป็นแห่ ‘โดราเอม่อน’ เพื่อขอฝน ประยุกต์วัฒนธรรมไทยแบบเดิม ๆ ให้เข้าบริบทสังคม ไม่ทารุณกรรมสัตว์

ประเพณีแห่นางแมว เป็นพิธีกรรมตามความเชื่อที่มีจุดประสงค์เพื่อขอฝน เมื่อแผ่นดินเกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งผู้ประกอบพิธีจะใช้แมวเป็นตัวประกอบสำคัญ เพราะมีความเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ที่สามารถเรียกฝนให้ตกลงมาได้ แต่ในปัจจุบันประชาชนก็เริ่มตระหนักได้ว่ารูปแบประเพณีแบบดั้งเดิมนั้นเข้าข่ายการทารุณกรรมแมว หลาย ๆ พื้นที่จึงเริ่มดัดแปลงจากการแห่แมวเป็นแห่สิ่งอื่น ๆ ที่สื่อความถึงแมวแทน

ด้วยหตุที่ปีนี้ฝนแล้งหนัก ประชาขนในพื้นที่เขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ จึงได้รวมตัวกันจัดพิธีแห่นางแมวขอฝน แต่ได้ปรับเปลี่ยนจากการนำแมวมาใส่กรงเป็นการนำ ‘ตุ๊กตาโดราเอม่อน’ (Doraemon) และตุ๊กตาแมวสีขาวของเด็กน้อยในหมู่บ้าน จำนวน​ 2​ ตัว จากนั้นนำมาคล้องพวงมาลัยดอกดาวเรืองเพื่อทำพิธีแห่นางแมวขอฝน แทนการนำแมวจริง ๆ มาร่วมพิธีแห่

สื่อต่าง ๆ ได้นำภาพงานประเพณีแห่ตุ๊กตาแมวโดราเอม่อนไปรายงานข่าวมากมาย ต่อมาผู้ใช้ X (Twitter) @tkasasagi ก็ได้นำภาพที่เพจโหนกระแสรายงานไปโพสต์ลงบัญชี X ส่วนตัว พร้อมกับระบุข้อความชื่นชมคนไทยที่ตระหนักเห็นปัญหาการทารุณกรรมแมว และได้ปรับเปลี่ยนประเพณีดั้งเดิมให้เข้าบริบทสังคมมากขึ้น โดยการเปลี่ยนเป็นโดราเอม่อน

คนญี่ปุ่นชื่นชม แห่โดราเอม่อน
ภาพจาก : tkasasagi

“タイでは数ヶ月全然雨が降らないので、雨乞い儀式が行われた。本当は猫を入れないといけないけど、可哀想なのでドラえもんにしたそうです。早く雨降るといいね。” หรือที่แปลเป็นไทยได้ว่า ประเทศไทยแล้งหนัก ไม่มีฝนตกหลายเดือนเลยต้องจัดพิธีขอฝน แต่แทนที่จะใส่แมวตามประเพณี เลยเปลี่ยนเป็นโดราเอม่อนแทน เพราะสงสารแมว หวังว่าจะได้ฝนเร็ว ๆ นี้

โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากชาวเน็ตทั่วโลกอย่างล้นหลาม มียอดผู้เข้าชมโพสต์กว่า 11 ล้านครั้ง รวมถึงมีจำนวนรีทวิตมาถึง 33,000 ครั้ง และมีผู้กดถูกใจอีกกว่า 196,000

ไม่เพียงแต่กลายเป็นโพสต์ไวรัลเท่านั้น ชาวเน็ตผู้รักสัตว์จากทั่วโลกยังพากันเข้ามาคอมเมนต์ชื่นชมชาวบ้านในพื้นที่อีกเป็นจำนวนมาก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button