ข่าวข่าวต่างประเทศ

โตชิบา เตรียมปลดพนักงาน 5,000 คน ในญี่ปุ่น หลังขาดทุน-ถูกถอดจากตลาดหุ้น

บริษัท โตชิบา มีแผนปลดพนักงาน 5,000 คนในญี่ปุ่น เพื่อปรับโครงสร้างบริษัท หลังขาดทุนมหาศาล กลุ่มทุนเตรียมนำบริษัทกลับเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใน 5 ปี พร้อมเป้าหมายกำไร 10%

โตชิบา (Toshiba) แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น กำลังพิจารณาเตรียมปลดพนักงานในญี่ปุ่นประมาณ 5,000 คน โดยคิดเป็น 7% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดในประเทศ ซึ่งเป็นแผนในการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้สามารถไปต่อได้

ด้านกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการปลดพนักงานในครั้งนี้ คือ ฝ่ายสนับสนุนในสำนักงานใหญ่ของโตชิบา ที่ได้มีการนำเสนอโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดโดยสมัครใจ โดยก่อนหน้านี้ โตชิบา ได้ถูกควบคุมโดยกลุ่มทุนญี่ปุ่นที่นำโดย Japan Industrial Partners (JIP) ซึ่งพวกเขามีเป้าหมายในการปรับปรุงโครงสร้างการทำงานภายในให้ดียิ่งขึ้น ลดความซ้ำซ้อนของแผนกต่าง ๆ เพื่อวางรากฐานให้เกิดการเติบโตใหม่อีกครั้ง โดยมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีดิจิทัล

โตชิบา เตรียมปลดพนักงาน 5,000 คน
ภาพจาก : TOSHIBA GLOBAL

ปัจจุบันนั้น โตชิบา มีพนักงานทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่นกว่า 67,000 คน หากแผนการปรับลดพนักงานนี้เกิดขึ้นจริง จะกลายเป็นการลดกำลังคนของบริษัทที่เยอะที่สุด นับตั้งแต่มีการตรวจพบการผิดความปกติทางบัญชีในปี 2015

แผนการดังกล่าวเป็นการพยายามฟื้นฟูผลประกอบการ ตามแผนธุรกิจระยะกลางที่จะประกาศในเดือนพฤษภาคม 2024 และจะเริ่มหารือกับสหภาพแรงงานแรงงานภายในเดือนดังกล่าว เพื่อพิจารณารายละเอียดของตำแหน่งที่จะต้องปรับลดในแต่ละหน่วยธุรกิจ ซึ่งจำนวนในการปรับลดอาจจะน้อยกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการหารือ

ด้าน โตชิบา คาดว่าจะต้องรับภาระขาดทุนกว่า 1 แสนล้านเยน (ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท) สำหรับค่าชดเชยการเกษียณอายุก่อนกำหนด รวมทั้งการบริการจัดหาตำแหน่งงานใหม่สำหรับพนักงานที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งปีที่แล้ว โตชิบา ยอมรับข้อเสนอการซื้อกิจการจากกลุ่มทุนนำโดย JIP ทำให้หุ้นของบริษัทถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์โตเกียวในเดือนธันวาคม 2023 ปัจจุบันทางบริษัทกำลังร่วมมือในการปรับโครงสร้าง ร่วมกับ JIP และธนาคาร

โตชิบา กำลังปรับโครงสร้างภายในบริษัท
ภาพจาก : TOSHIBA GLOBAL

ทางโตชิบา ได้ประกาศแผนการที่จะรวมบริษัทในเครือ 4 แห่งกลับเข้าสู่สำนักงานใหญ่ ประกอบด้วย ธุรกิจด้านพลังงาน (รวมถึงการผลิตพลังงานและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์) โครงสร้างพื้นฐาน (อาทิ รถไฟ) อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ (อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เซมิคอนดักเตอร์) และเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งการลดจำนวนพนักงานและยุบรวมแผนกที่มีหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น ฝ่ายบริหารทั่วไปและฝ่ายบัญชี เป็นต้น

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2017 ผู้ถือหุ้นได้เข้ามาลงทุนใน โตชิบา ในช่วงที่บริษัทต้องการระดมทุนเพิ่มอีก 6 แสนล้านเยน (ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท) ทางบริษัทต้องเผชิญกับการถูกกดดันอย่างหนักจากผู้ถือหุ้นหลายราย และเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ธุรกิจในระะยะกลางและระยะยาว โตชิบา จึงรวบรวมผู้ถือหุ้นไว้กับ JIP เมื่อปีที่แล้ว แต่เงิน 2.4 ล้านล้านเยน (ประมาณ 5.7 แสนล้านบาท) ที่ใช้ในการซื้อกิจการนั้น JIP ได้กู้เงินจากธนาคาร 1.4 ล้านล้านเยน (ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท) โดยใช้ทรัพย์สินของ โตชิบา เป็นหลักประกัน นั่นหมายความว่า โตชิบา ต้องแบกภาระในการหาเงินมาชำระหนี้ และต้องรีบปรับปรุงผลประกอบการโดยด่วน

ภาวะซบเซาในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและฮาร์ดแวร์ มีส่วนทำให้ โตชิบา ประสบกับภาวะขาดทุนมากกว่า 1 แสนล้านเยน (ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท) ในช่วงเดือนเมษายน-ธันวาคม 2023 ที่ผ่านมา ทาง JIP ได้ตั้งเป้าหมายที่จะนำหุ้นโตชิบา กลับมาเสนอขายกับประชาชนทั่วไป (IPO) ภายใน 5 ปี เพื่อถอนทุนในการลงทุน นอกเหนือจากการลดพนักงาน โตชิบา อาจต้องพิจารณาขายบริษัทในเครือรายใหญ่และธุรกิจที่ไม่สามารถสร้างกำไรได้ เพื่อเพิ่มกำไรให้เร็วที่สุด และเพิ่มอัตรากำไรให้ถึง 10%

สำหรับการเติบโตในระยะกลางและระยะยาว จำเป็นอย่างยิ่งต่ออนาคตบริษัท ด้าน ทาโร่ ชิมาดะ ประธานบริษัทโตชิบา เปิดเผยว่า มีการวางแผนดึงศักยภาพของธุรกิจออกมาโดยการ”เปิดเผยคุณค่าของธุรกิจ โดยใช้ข้อมูลเป็นจุดเริ่มต้น” นอกจากนี้ ทางบริษัทกำลังสร้างระบบที่วิเคราะห์การไหลของผู้คน โดยการรวบรวมข้อมูลที่รวบรวมจากพลังงานไฟฟ้า ทางรถไฟ และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ บริษัทได้เปิดศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาแห่งใหม่ในเดือนมกราคม เพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ เทคโนโลยีควอนตัม

โตชิบา พยายามทำกำไรให้ถึง 10%
ภาพจาก : TOSHIBA GLOBAL

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ที่มา : Nikkei Asia

Best Writer

นักเขียนบทความประจำ Thaiger จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มีความเชียวชาญด้านวงการเพลงไทย ภาพยนตร์ อนิเมะ ชื่นชมติดตามข่าวสารสังคม กีฬา เทคโนโลยี แตกประเด็น สรุปเรื่องราวมาร้อยเรียงผ่านข้อความสู่สายตาผู้อ่าน ช่องทางติดต่อ best.t@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button