ข่าว

ทัวร์ลง สาวด่าชายแท้ ไม่ลุกให้นั่งบนรถไฟฟ้า ไหนเรียกร้องความเท่าเทียม

โผล่อีกแล้ว สาววีนฉ่ำโพสต์ด่าชายแท้ขณะนั่งบนรถไฟฟ้า บีทีเอส บอกไม่มีน้ำใจ ปล่อยให้ถือของหนัก แทนที่จะลุกให้นั่ง ก่อนโดนชาวเน็ตจวกกลับเต็มแม็กซ์ ไหนว่าเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ?

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 เฟซบุ๊กเพจ ท่านผู้นำฮาเฮ ได้โพสต์รูปของสาวท่านหนึ่ง ที่พิมพ์ข้อความในภาพ ตัดพ้อถึงผู้ชายที่นั่งอยู่บนรถไฟฟ้าบีทีเอสว่าไม่มีน้ำใจ เห็นตนถือของแต่ทำไมไม่ลุกให้นั่ง ส่วนทางด้านของแอดมินเพจก็ได้เขียนข้อความแคปชั้น กำกับไว้ในโพสต์ ระบุว่า “หนักก็วาง แต่คงไม่หนักมากหรอก ยังเล่นมือถือได้อยู่”

ภาพดังกล่าวปรากฏอยู่ในรถไฟฟ้าบีทีเอสสายหนึ่ง โดยเจ้าของภาพถ่ายให้เห็นแค่ส่วนขาของกลุ่มผู้ชายประมาณ 3-4 คน ที่นั่งตามปกติในรถไฟฟ้า พร้อมกับข้อความในรูปที่ระบุว่า “ชายแท้ เดวนี้ยอดเยี่ยมจริง ๆ กุถือของหนัก แทนที่จะลุกขึ้นให้นั่งไม่มี”

ภายหลังที่โพสต์ได้เผยแพร่ออกไปบนสื่อโซเชียล ก็ทำให้มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาวิพากย์วิจารณ์ ทัวร์ลงสวนทางไปยังหญิงเจ้าของเรื่องแบบสับเละไม่มีชิ้นดี โดยหยิบยกประเด็นที่ว่า หากในปัจจุบันมีการเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เหตุไฉนจึงต้องกล่าวว่าผู้ชายที่นั่งอยู่

“อ่าว แล้วบอกจะเอาเท่าเทียม”

“ถ้าไม่ได้ท้องหรือเป็นคนแก่ก็อย่าสะเออะมาขอที่นั่ง”

“เฮ้ออออ…!! แล้วบอกว่าอยากมีสิทธิเท่าเทียม”

“ขนาดผู้หญิงด้วยกันยังไม่ลุกให้คนท้องเลยเห็นมากับตา ที่อย่างนี้แล้วเสือกมาเรียกร้อง”

“เคยโดน ผญ ที่นั่งข้างมองเหยียด เพราะผมไม่ได้ลุกให้ป้าคนนึงนั่ง แค่แกขึ้นแค่ สถานีเดียวแล้วก็ลง ป้าแกเลยไม่นั่ง พอหันกลับไป มี ผญ อีกคน รีบนั่งไปละ”

หน้าที่ลุกให้นั่งเป็นของ “ผู้ชาย” เท่านั้น?

จากประเด็นดราม่าเกี่ยวกับเรื่อง ควรลุกหรือไม่ควรลุกให้คนอื่นได้นั่งทั้งบนรถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ที กลายเป็นเรื่องถกเถียงที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในสังคมไทย โดยมักมีภาพถ่ายของคนที่นั่งอยู่ โดนคนที่ยืนถ่ายประจานหรือมองเหยียดด้วยสายตา พร้อมกับมีเรื่องเพศเข้ามาโจมตีอยู่เสมอ

ทั้งนี้ ในส่วนของที่นั่งทั่วไป ผู้โดยสารทุกเพศทุกวัยสามารถนั่งได้ตามปกติ ใครมาก่อนก็ได้นั่งก่อน ใครจะนั่งก็ต่อคิวจากคนที่ลุกไปแล้ว ส่วนการจะลุกให้บุคคลอื่นนั่ง ก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจและตกลงกันทั้งสองฝ่าย ไม่ได้มีกฎระเบียบระบุชัดเจนว่าจะต้องลุกให้บุคคลประเภทไหนนั่งบ้าง

สำหรับที่นั่งที่ระบุว่า “Priority Seat” หรือ ที่นั่งสำหรับกลุ่มบุคคลพิเศษ เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้พิการ และพระภิกษุสงฆ์ คือ ที่นั่งที่ให้ลำดับความสำคัญกับกลุ่มคนข้างต้นก่อน แต่ก็ยังไม่มีกฎเกณฑ์จำกัดการใช้ที่นั่งพิเศษนี้อย่างเฉพาะเจาะจงที่ระบุว่าห้ามหรือไม่ห้ามนั่ง ทำให้ทุกคนย่อมมีสิทธิ์ในที่นั่งตรงนี้ แต่หากมีกลุ่มคนที่มีความสำคัญและความจำเป็นตามที่ยกไป ก็ควรจะต้องให้สิทธิ์แก่บุคคลเหล่านั้นก่อนเป็นลำดับแรก

สาวด่าชายแท้ ไม่ลุกให้นั่งบนบีทีเอส เจอชาวเน็ตสวนกลับ
Facebook ท่านผู้น้ำฮาเฮ

วัฒนธรรม Priority seat ในต่างประเทศ

ในแต่ละประเทศก็จะมีวัฒนธรรมและระเบียบแตกต่างอยู่พอสมควร อย่างเช่นในประเทศญี่ปุ่นก็จะมี ที่นั่งพิเศษ ซึ่งแบ่งป้ายสัญลักษณ์และสีออกจากที่นั่งปกติชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อการจำแนกและให้รับรู้ได้โดยทั่วกันในพื้นที่นั้น ๆ

นอกจากนี้วัฒนธรรมญี่ปุ่นมองว่า การไม่สละที่นั่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะผู้สูงอายุหลายคนเลือกที่จะยืนเพื่อแสดงให้เห็นถึงสุขภาพร่างกายของตนว่ายังแข็งแรงอยู่ดี สวนทางกลับประเทศไทยที่ การไม่สละที่นั่งให้กับผู้สูงอายุหรือเด็ก อาจหมายถึงการไม่มีจิตสำนึกกันเลยทีเดียว

อ้างอิง : Facebook ท่านผู้น้ำฮาเฮ

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button