ข่าว

เตือนระวัง ดินสอพองปลอม ระบาดช่วงสงกรานต์ สุ่มตรวจ พบ สารอันตรายเพียบ

สงกรานต์ 2567 เตือนประชาชน ระวัง “ดินสอพองปลอม” ขายเกลื่อนทั่วไทย รมว.อว.สั่งสุ่มตรวจคุณภาพ พบผสมฝุ่นยิปซัม เสี่ยงอันตรายหลายโรค

วันที่ 10 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ฝากเตือนประชาชนคำนึกถึงอันตรายจากการใช้ “ดินสอพองปลอม” ซึ่ง ณ ขณะนี้มีวางขายอยู่ทั่วพื้นที่ คิดเป็นร้อยละ 42 ของช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567

โดย รมว.อว. เล็งเห็นถึงความปลอดภัยของประชาชน จึงได้มีการมอบหมายให้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบคุณภาพของดินสอพองที่วางขายในท้องตลาดให้มั่นใจว่าไม่มีสารอันตรายต่อผู้ใช้

ด้าน นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เผยว่า “ดินสอพอง” เป็นหนึ่งในของใช้ที่อยู่กับคนไทยมาทุกยุคทุกสมัยโดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ ดินสอพอง ของแท้จะผลิตมาจากดินมาร์ล หรือปูนมาร์ล (Marl) ที่มีแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนประกอบหลัก

ทว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบท้องตลาดที่มีการวางขายดินสอพองอยู่ในขณะนี้ เพื่อเตรียมรับเทศกาลสงกรานต์ 2567 กลับพบว่า ยังมีดินสอพองปลอมถึงร้อยละ 42.6 ที่มียิปซัม หรือ แคลเซียมซัลเฟตเป็นองค์ประกอบหลัก

เตือนระวัง ดินสอพองปลอม ขายเกลื่อนช่วงสงกรานต์ 2567

อันตรายจากฝุ่นยิปซัม หรือ แคลเซียมซัลเฟต

หากฝุ่นยิปซัมนี้เข้าไปในระบบทางเดินหายใจ อาจทำให้เกิดอาการภูมิแพ้, เจ็บคอ, ระคายเคือง, จมูกอักเสบ, ปอดบวม และถึงขั้นหายใจลำบาก และถ้าหากสัมผัสถูกผิวหนังก็จะทำให้เกิดการระคายเคือง, คัน, เป็นผื่นหรือลมพิษขึ้นได้ ซึ่งแต่ละอาการก็ขึ้นอยู่กับความไวของผิวต่อสารเคมีแต่ละบุคคล

วิธีการสังเกต ดินสอพองปลอม กับ ดินสอพองแท้ ต่างกันอย่างไร

ประชาชนสามารถตรวจสอบ ดินสอพองปลอม และ ดินสอพองแท้ ได้ด้วยตนเอง โดยการใช้ น้ำมะนาว หรือ น้ำส้มสายชู หยดลงไปในดินสอพอง หากมันทำปฏิกิริยากับกรดที่อยู่ในน้ำส้มสายชูหรือน้ำมะนาวแล้ว ดินสอพอง เกิดฟองฟู่ นั่นแสดงว่าเป็นดินสอพองของแท้ แต่หากไม่เกิดปฏิกิริยาใด ๆ เลยในระหว่างการทดสอบ แสดงว่าเป็น ดินสอพองปลอม

วิธีสังเกต ดินสอพอง

กรมวิทยาศาสตร์บริการ ตรวจพบ แบคทีเรีย เชื้อรา ใน ดินสอพอง

นอกจากที่จะพบดินสอพเองปลอม ที่มีส่วนผสมมาจากยิปซัมแล้ว ผลที่ได้เพิ่มเติมมาจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ พบว่า ดินสอพองที่สุ่มมาจำนวนร้อยละ 48 มีจำนวนแบคทีเรีย ยีสต์และรา มากกว่า 1,000 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 กรัม ซึ่งถือว่าเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ดินสอพองแปรรูป (มผช.453-2560) อีกทั้งยังพบเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคทางผิวหนัง Clostridium spp. และเชื้อที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษ Staphylococcus aureus ด้วย

หากเชื้อโรคเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้, อาเจียน, วิงเวียน จนถึงขั้นติดเชื้อได้เลย และในกรณีที่เชื้อโรคเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และติดเชื้อในเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งนั่นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะกับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยโรคเบาหวานและมีแผล รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันผิดปกติด้วย

เชื้อแบคทีเรีย และรา ใชน ดินสอพอง
ภาพจาก: hfocus

เล่น “ดินสอพอง” อย่างไรให้ปลอดภัยและปลอดโรค

นายแพทย์รุ่งเรือง แนะนำว่า หากจำเป็นต้องใช้ดินสอพองเล่นสงกรานต์ ควรระวังอย่าให้เข้าจมูกหรือปาก หรือหากมีบาดแผลที่ผิวหนังควรหลีกเลี่ยงการใช้หรือเล่นดินสอพองไปก่อน นอกจากนั้นแล้วประชาชนควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ดีหรือไม่

หากเป็นแบบซองหรือแบบกระปุกพลาสติก ก็ควรเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท สะอาด ไม่ชำรุดหรือฉีกขาด พร้อมกับอย่าลืมตรวจสอบฉลากด้วยว่ามีส่วนประกอบ ชื่อแหล่งที่ผลิตและเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อย. หรือเครื่องหมาย OTOP ที่รับรองมาตรฐานว่าเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถเล่นน้ำปะแป้งวันสงกรานต์ในปี 2567 กันได้อย่างสนุกสนานและปลอดภัยแล้ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงจาก : hfocus

GIFT T.

Rewriter สาวจากรั้วสวนดุสิต เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานข่าวมากว่า 5 ปี ชื่นชอบการส่งต่อเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลฟ์สไตล์ หวย และข่าวบันเทิง พร้อมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้นักอ่านได้เห็นประเด็นรอบด้านมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button