ข่าว

ศาลยกฟ้อง ‘หมอพรทิพย์’ และพวก คดีจัดซื้อ GT200 ไม่พบการทุจริต

หมอพรทิพย์ โล่ง ศาลยกฟ้อง หมอพรทิพย์ และพวก คดีจัดซื้อ GT200 ชี้ไม่พบมูลความผิด หลังไม่พบว่ามีการแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเอง

ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.เลียบทางรถไฟ ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีอาญา หมายเลขดำ อท 98/2566 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้อง แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ หรือ หมอพรทิพย์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลย ฐานร่วมกันทุจริตและประพฤติมิชอบคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด จีที 200 และอัลฟ่า เมื่อปี พ.ศ. 2551 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

ภายหลัง ดร.ณรงค์ พลมาตร์ ทนายความ เปิดเผยว่า ศาลพิเคราะห์หลักฐานหลังการไต่สวนพยานครบถ้วนแล้ว ไม่พบว่า คดีมีมูลความผิด หรือการทุจริต มีการแสวงหาประโยชนแก่ตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบและไม่พบว่า คุณหญิงพรทิพย์ กับเจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบ มีเจตนาจงใจ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ปฏิบัติตามระเบียบพัสดุ ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนะสุนันท์ และเจ้าหน้าที่ ทุกข้อกล่าวหา

​ดร.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า การถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอรัปชัน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับราชการ โดยเฉพาะข้าราชการที่ลงไปทำงานในพื้นที่อันตรายที่มีความเสี่ยงตลอดเวลา เมื่อมีการกล่าวหาและให้ข่าวต่อสาธารณะ โดยเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นเหมือนการประหารชีวิต ทั้งที่ ป.ป.ช.ทราบอยู่แล้วว่าไม่มีหลักฐานการทุจริตคอรัปชัน ตั้งแต่ในชั้นการสอบสวน และตลอดระยะเวลา 14 ปี มีบุคคลพยายามสื่อสาร สร้างข่าว สร้างกระแสในทางลบต่อคุณหญิงพรทิพย์ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ว่าเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด จีที 200 และอัลฟ่า ทำให้เกิดความเสียหาย​โดยข้อเท็จจริง หน่วยงานความมั่นคงได้ดำเนินการจัดซื้อ GT 200 ดังนี้ 1.กองทัพอากาศ จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 รวมจัดซื้อ 26 เครื่อง 2.กองทัพบก จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณพ.ศ. 2550 รวมจัดซื้อ 757 เครื่อง 3.กองทัพเรือ จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 รวมจัดซื้อ 38 เครื่อง 4.กรมราชองครักษ์ จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 รวมจัดซื้อ 8 เครื่อง และ 5.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์์ จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 รวมจัดซื้อ 6 เครื่อง

​“การที่ ป.ป.ช. ตั้งข้อหาทุจริต ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก และการกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบ ซึ่งหมายถึง การกล่าวหาว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญ และ กรมบัญชีกลางให้ความเห็น และตรวจสอบความชอบแล้ว ดังนั้น การที่ ป.ป.ช. ได้กล่าวหาโดยไร้พยานหลักฐาน แต่อ้างเป็นความเห็นส่วนตัว สร้างตราบาปให้ข้าราชการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์และคุณหญิงพรทิพย์ มาตลอดระยะเวลา 14 ปี (กล่าวหาปี 2553 พิพากษา 2567) และมีเจ้าหน้าที่บางหน่วยเครียดจนต้องจบชีวิตตัวเอง” ดร.ณรงค์ กล่าว

​ดร.ณรงค์ กล่าวย้ำว่า ป.ป.ช. ใช้เวลาในการสอบสวนเป็นเวลานานโดยผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่เคยได้มีโอกาสชี้แจงทั้งก่อนและหลังการชี้มูล ทั้งนี้ เมื่อร้องขอความเป็นธรรมตามมาตรา 99 อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์และกรรมการจัดซื้อจัดจ้างเนื่องจากเห็นว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่ ป.ป.ช.นำคดีมายื่น ฟ้องเอง ซึ่งศาลได้ไต่สวนโดยละเอียดและตรวจสอบพยานบุคคล เอกสาร ผู้เชี่ยวชาญ ยืนยัน ไม่พบการทำผิดใดๆ ในข้อกล่าวหาว่า ทุจริต ประพฤติมิชอบ ดังนั้น ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ทั้งหมดจึงไม่เป็นความจริง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button