บันเทิง

รีวิว 3 Body Problem เวอร์ชั่น Netflix เคารพจิตวิญญาณหนังสือ ในแบบเรียบง่ายขึ้น (ไม่สปอยล์)

รีวิว ซีรีส์ “3 Body Problem” ดัดแปลงจากนิยายไซไฟ ดาวซานถี่ ปี 2008 ของหลิวฉือซิน นักเขียนชาวจีน ถ่ายทอดเรื่องราวมหากาพย์ไซไฟ ที่ผสานฟิสิกส์เชิงทฤษฎีล้ำสมัย เกม VR และประวัติศาสตร์จีนช่วงปฏิวัติเข้าด้วยกัน ต้องต่อสู้ภัยคุกคามระดับโลกที่มาจากต่างดาว

ด้วยพลอตเรื่องต้นฉบับนั้นซับซ้อนและหนักแน่นมาก เป็นเรื่องที่ยากจะนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เนื้อหามากมาย ทั้งแนวคิดเชิงปรัชญา ปริศนาซับซ้อน แต่ก็ไม่ได้หยุดความพยายามของผู้ผลิตซีรีส์ เมื่อปีที่แล้ว ทาง Tencent ได้เปิดตัวซีรีส์ฉบับไลฟ์แอคชั่นของจีนไปก่อนแล้ว มีมากถึง 40 ตอน

ฝั่ง Netflix เองทุ่มทุนมหาศาลให้ทีมผู้บริหาร David Benioff, D.B. Weiss และ Alexander Woo ซึ่งเป็นผู้สร้างเดียวกับ Game of thrones นำ “ดาวซานถี่” สู่สายตาผู้ชม

ซีรีส์ฉบับนี้กระชับขึ้นและมีความหลากหลายทางเชื้อชาติตัวละครมากกว่านิยายต้นฉบับ ทำให้กลายเป็นเรื่องราวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่น่าเสียดาย แทนที่ Netflix จะเจาะลึกความซับซ้อนของนิยาย “3 Body Problem” ดูเหมือนจะเน้นไปที่การโปรโมทให้เป็นซีรีส์ระดับเดียวดับ “Game of Thrones” (ผลงานก่อนหน้าของ Benioff และ Weiss) ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าทำไมทางสตรีมมิ่งถึงทำอย่างนั้น แต่มันก็ยากจะไม่รู้สึกว่าซีรีส์นี้เป็นเพียงเวอร์ชั่น “ลดทอน” จากต้นฉบับ

“3 Body Problem” มีโครงสร้างการเล่าเรื่องหลากหลาย ผ่านช่วงเวลาและคนรุ่นต่างๆ แต่หัวใจสำคัญคือ โทนของเรื่องที่ระทึกขวัญชวนติดตาม บาปในอดีตของมนุษยชาติได้ส่งผลต่อโลกอนาคต ท่ามกลางวิกฤตการณ์การฆ่าตัวตายอย่างลึกลับของเหล่านักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่สืบราชการลับ เชอรีนซ์ ชิ (รับบทโดย Benedict Wong) และกลุ่มนักวิจัยต้องร่วมมือกันกอบกู้โลกจากหายนะ

ในฐานะอดีตเจ้าหน้าที่ MI5 และสก็อตแลนด์ยาร์ด เชอรีนซ์นั้นคุ้นเคยดีกับแผนการณ์ชั่วร้าย แต่กับโลกของฟิสิกส์ทฤษฎีล้ำสมัยหรือวัสดุศาสตร์ล่ะก็ เขาไปไม่เป็นเลย ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ จิน เฉิง (Jess Hong) ก็ต้องรับมือกับสถานการณ์แปลกประหลาด เธอพยายามจะเข้าใจเหตุการณ์การตายของเพื่อนร่วมงาน และหาสาเหตุว่าทำไมการทดลองในเครื่องเร่งอนุภาคถึงผิดพลาดไปหมด การสืบสวนที่แสนเร่งด่วนทำให้เธอหวนคืนสู่พบกับกลุ่มเพื่อนสมัยมหาลัยที่เรียกว่า Oxford Five เหล่าเพื่อนสนิททั้งห้าอาจเป็นกุญแจไขสู่ภัยคุกคามระดับโลก

ฉบับซีรีส์ปรับให้เล่าเข้าใจง่ายขึ้นกว่าหนังสือ

ด้วยโครงสร้างที่ซับซ้อนของหนังสือต้นฉบับ ไม่แปลกใจที่ซีรีส์ของ Netflix จะปรับเปลี่ยนให้ง่ายขึ้น โดยเล่าเรื่องแบบเป็นเส้นตรงมากกว่า ทำให้ดูคล้ายๆ ซีรีส์ “Lost” ในตำนาน พล็อตเรื่องแนวลึกลับซ่อนเงื่อนที่ผู้ชมจะไขปริศนาไปพร้อมๆ กับตัวละคร

สิ่งที่บ่งบอกชัดถึงการปรับเปลี่ยนแนวคิดจากหนังสือคือ ตัวละครกลุ่มหลักของเรื่อง “3 Body Problem” เดิมทีในหนังสือ หลิวฉือซินใช้เวลาไม่น้อยไปกับช่วงเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน ที่พรรคคอมมิวนิสต์กำจัดปัญญาชนและฝ่ายทุนนิยม นโยบายนี้เมื่อถูกยกเลิก และจีนหันมาสนับสนุนการศึกษาและวิจัยวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้แดนมังกรก้าวสู่อภิมหาอำนาจ การเข้าใจช่วงเวลาประวัติศาสตร์นี้ ในนิยาย จะช่วยให้ผู้อ่านตระหนักว่าทำไมการที่มีนักวิทยาศาสตร์ฆ่าตัวตายมากมายอย่างผิดปกติถึงทำให้ทางการต้องใช้เจ้าหน้าที่หน่วยต่อต้านก่อการร้ายเข้ามาสืบสวน

ส่วนมากในนิยายช่วงแรกจะเป็นปริศนาที่ตัวละครอย่าง นักสืบห่ามๆ และผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนวัสดุ จะไขคดีนี้ด้วยตัวเอง ในซีรีส์ของ Netflix ตัวละครอย่างเชอรีนซ์ สุภาพและช่างคิดมากกว่า ส่วนตัวละครนักนาโนสาวชาวจีน ก็ปรับมาเป็นกลุ่มเพื่อน Oxford Five ที่มีความหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งนักวิจัยสาว จิน เพื่อนนักวิจัย ซอล (Jovan Adepo), นักนาโนเทค อั๊คกี้ (Eiza González), อาจารย์ฟิสิกส์ วิลล์ (Alex Sharp) และเจ้าพ่อขนมขบเคี้ยว แจ็ค (John Bradley)

การที่ตัวละครต้องคลำทางในความมืดเพื่อไขปริศนาของ Three-Body เป็นวิธีที่หลิวฉือซิน เล่นกับคอนเซ็ปต์ที่ว่า พลังของความร่วมมือ ตรงข้ามกับการควบคุมที่เกิดจากการตัดสินใจแบบตัวใครตัวมัน แต่เนื่องจากกลุ่ม Oxford Five ในซีรีส์เป็นเพื่อน (และเคยเป็นคนรัก) กันมาก่อน พวกเขาเริ่มจะทำงานร่วมกันอย่างรวดเร็ว ทำให้ความสัมพันธ์ของตัวละครเป็นตัวขับเคลื่อนเนื้อเรื่อง แทนที่จะเป็นปริศนาที่ผู้เขียนใส่เอาไว้ การเปลี่ยนแปลงนี้นำความสัมพันธ์ที่เข้มข้นระดับที่ไม่ปรากฏในหนังสือมาสู่ซีรีส์ โดยเฉพาะกับอั๊คกี้ที่ถูกหลอกหลอนด้วยภาพนับถอยหลังที่ปรากฏในสายตาเธออยู่ตลอดเวลา

ส่วนการแตกหวังเหมียวออกเป็นห้าตัวละคร ย้ำให้เห็นว่าการมองปัญหาซับซ้อนจากหลากหลายมุมมอง คือ กุญแจสำคัญ แต่ด้วยความที่ Oxford Five คือร่างแตกมาจากตัวละครเดียว และใช้เวลาส่วนมากไปกับการพูดคุยแลกเปลี่ยนทฤษฎีกัน ฉากเหล่านี้จึงดูเหมือนฝืนๆและไม่เป็นธรรมชาติเท่าไหร่

เรื่องน่าสนใจขึ้นเมื่อซีรีส์ “3 Body Problem” โฟกัสไปที่อดีต โดยเฉพาะกับตัวละคร เย่เหวินเจี๋ย (จื่อเน่ย เฉิง) นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์สาวผู้มีความสามารถ และต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีน เช่นเดียวกับในนิยาย “3 Body Problem” เริ่มต้นที่ตัวละครเหวินเจี๋ย และการตัดสินใจในอดีตที่ได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์อันเลวร้าย ส่งผลมหาศาลต่อโลกอนาคต

ทั้งฉบับนิยายและซีรีส์ของ Netflix เย่เหวินเจี๋ยคือตัวละครอันทรงพลัง ที่บอกเล่าเรื่องราวอดีตซึ่งมีความสำคัญต่อโลกปัจจุบันอย่างสูง แต่ในซีรีส์ไม่ได้ลงลึกมากนัก เน้นไปที่การเล่าเรื่องให้โลกเตรียมพร้อมรับมือหายนะแทน เหวินเจี๋ยเวอร์ชั่นแก่ (Rosalind Chao) จะปรากฎตัวใน “3 Body Problem” เพื่อติดตามเหตุการณ์ต่างๆด้วยความเคร่งขรึม

ในระหว่างนั้น ซีรีส์จะเน้นหนักไปที่ชีวิตอันยุ่งเหยิงของกลุ่ม Oxford Five และความสนใจในเทคโนโลยีล้ำสมัยที่พาผู้ใช้เข้าไปสู่อีกโลกอันเต็มไปด้วยปริศนา คณิตศาสตร์ และการสวมบทบาท ตัวอุปกรณ์นี้ช่วยให้ซีรีส์ก้าวออกจากแนวทางสืบสวนสอบสวน ไปสู่โลกไซไฟที่มีเอกลักษณ์ เช่น ดาวเคราะห์ที่มีดวงอาทิตย์หลายดวง “3 Body Problem” สามารถบาลานซ์ส่วนนี้ออกมาได้ เน้นฉากในโลกเสมือนจริงของเกมให้ดูแปลกประหลาด

ซีรีส์ “3 Body Problem” ฉบับ Netflix มีฉากแอ็คชั่นน่าทึ่งอยู่บ้าง แต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้ทั้งเรื่องรู้สึกเหมือนผลงานชิ้นเอกที่กลั่นกรองจากวรรณกรรมชั้นเยี่ยม ซีซั่นแรกทำหน้าที่เป็นบทนำเปิดโหมโรงได้ดี แต่ตอนจบก็เผยให้เห็นว่าซีซั่นนี้ปูทางไปสู่เรื่องราวที่ยิ่งใหญ่และซับซ้อนยิ่งขึ้น ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องราวจะพัฒนาต่อไปอย่างไร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button