ข่าว

แพทย์ มช. เตือน วิกฤติฝุ่น PM 2.5 สาเหตุเลือดกำเดาไหล เสี่ยงเยื่อจมูกอักเสบ

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยสาเหตุที่ฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลที่พบมากในเด็กเล็ก พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น และข้อแนะนำในการใช้ชีวิตช่วงค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน

รศ.พญ. กรรณิการ์ รุ่งโรจน์วัฒนศิริ หัวหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ – เมษายน ของทุกปี บริเวณภาคเหนือตอนบนมักประสบปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อาทิ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมักมีอาการตาแดง ผื่นขึ้นทั่วร่างกาย เยื่อจมูกอักเสบ และเลือดกำเดาไหลซึ่งพบมากในเด็กเล็ก

ด้านสาเหตุของเด็กเล็กเลือดกำเดาไหล ในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานนั้น ทางภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา ได้ร่วมมือกับนักศึกษาแพทย์ ในการหาสาเหตุที่มีผู้ป่วยเลือดกำเดาไหลในช่วงที่เกิดค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน พบว่า โดยปกติบริเวณเยื่อจมูกของคนมีเลือดมาเลี้ยงมาก หากสูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไป ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณเยื่อบุในช่องจมูก รวมทั้งกระตุ้นให้เลือดออกง่ายขึ้น โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีโอกาสเกิดได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่

รศ.พญ. กรรณิการ์ รุ่งโรจน์วัฒนศิริ เผยสาเหตุฝุ่น PM 2.5 ทำเลือดกำเดาไหล

สำหรับวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากพบว่ามีอาการเลือดกำเดาไหล ให้ก้มหน้าลงแล้วใช้มือบีบบริเวณปีกจมูกเข้าหากัน โดยให้ทำค้างไว้เป็นเวลา 5 นาที ซึ่งจะช่วยห้ามเลือดในเบื้องต้น หากมีเลือดไหลลงคอให้บ้วนทิ้ง แต่หากทำวิธีดังกล่าวแล้วยังเลือดไหลไม่หยด และเริ่มมีอาการปวด คัดจมูก อาจเป็นภาวะก้อนในโพรงจมูก ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วนเพื่อทำการตรวจวินิจฉัย

นอกจากอาการข้างต้นแล้ว ในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานนั้น อาจทำให้ผู้ป่วยจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีอาการทรุดลง ในช่วงสภาวะการณ์นี้ ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงนี้ และล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเพื่อชะล้างฝุ่นและน้ำมูก

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเชียงใหม่ มักเกิดช่วง ก.พ. - เม.ย.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Best Writer

นักเขียนบทความประจำ Thaiger จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มีความเชียวชาญด้านวงการเพลงไทย ภาพยนตร์ อนิเมะ ชื่นชมติดตามข่าวสารสังคม กีฬา เทคโนโลยี แตกประเด็น สรุปเรื่องราวมาร้อยเรียงผ่านข้อความสู่สายตาผู้อ่าน ช่องทางติดต่อ best.t@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button