ไลฟ์สไตล์

ตอบแล้ว ทำไมห้ามใช้ตะเกียบคีบหมูดิบ ทานอาหาร เสี่ยงเป็นโรคไข้หูดับ

ไขความกระจ่าง “ทำไมห้ามใช้ตะเกียบกินข้าวร่วมกับตะเกียบคีบย่างเนื้อสัตว์” บ่อเกิดโรคไข้หูดับที่สายปิ้งย่าง-ชาบูต้องระวังอาจป่วยหนักถึงขั้นชีวิต พร้อมแนะวิธีใช้ตะเกียบให้ห่างไกลโรค

เชื่อว่าสายปิ้งย่าง-ชาบู ส่วนใหญ่ ต่างเคยได้ยินคำเตือนเกี่ยวกับ โรคไข้หูดับ เชื้อร้ายที่มาพร้อมกับการกินอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ แม้จะมั่นใจดีแล้วว่า เนื้อหมูสุกทั่วทั้งชิ้น แต่หารู้ไม่ว่า การใช้ตะเกียบคีบหมูดิบลงกระทะ หรือหม้อต้ม และนำมาใช้รับประทานอาหารต่อ อาจทำให้เสี่ยงติด โรคไข้หูดับ ที่อันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากแพทย์ เตือนว่าการใช้ตะเกียบคีบอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ ยังส่งผลเสียต่อร่างกาย และสุขอนามัยอีกด้วย

จากสถิติปี 2566 มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโรคไข้หูดับในประเทศไทย ทั้งสิ้น 500 ราย ซ้ำร้ายยังมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 24 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นนี้จึงชี้ให้เห็นแล้วว่า “โรคไข้หูดับ” เป็นภัยเงียบต่อร่างกายไม่น้อยเลยจริง ๆ

สายกินต้องระวัง อันตรายจากการใช้ 'ตะเกียบ' คีบย่างเนื้อ เสี่ยงหูดับ ป่วยถึงตาย

อันตรายที่มากับ “ตะเกียบ”

บรรดาสายกินอาหารปิ้งย่าง -ชาบู คงเคยชินกับการไม่แยกตะเกียบ หรือใช้ตะเกียบคีบหมูดิบลงหม้อ จากนั้นก็นำตะเกียบคู่เดิมคีบอาหารอื่น ๆ เข้าปาก ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้อาจนำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิต เหตุเพราะเชื้อโรคหรือพยาธิต่าง ๆ ที่อยู่ในเนื้อหมูดิบ ๆ จะติดมากับตะเกียบ และเมื่อนำมาใช้รับประทานอาหาร เหล่าเชื้อร้ายเหล่านั้นก็จะเข้าสู่ร่างกาย

พ.ญ.ศุภมาศ วิบูรณ์สุขสันต์ อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี ได้ให้ข้อมูลผ่านทางเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลเวชธานี-Vejthani Hospital ไว้ว่า พฤติกรรมดังกล่าวไม่ต่างจากการที่ทุกท่านรับประทานเนื้อหมูดิบหรือหมูที่ปรุงไม่สุก ซึ่งแน่นอนว่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงเกี่ยวกับการติดเชื้อต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดหนึ่ง หรือ “โรคไข้หูดับ”

โรคไข้หูดับคืออะไร อันตรายแค่ไหน?

‘โรคไข้หูดับ’ หรือ โรคติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic infectious disease) โดยในที่นี้เป็นการแพร่ระบาดจากหมูสู่คน ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ทั่วโลก แต่มักจะพบในประเทศที่มีการเลี้ยงหมูเป็นอุตสาหกรรม

ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคหูดับก็คือ ผู้ที่รับประทานเนื้อหมูสุก ๆ ดิบ ๆ รวมไปถึงผู้ที่ใช้ตะเกียบ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่สัมผัสกับเนื้อหมูดิบโดยตรงในการรับประทานอาหาร นอกจากนี้ยังพบว่า การติดเชื้อในผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวกับการเลี้ยงหมู การทำงานเกี่ยวกับการชำแหละเนื้อหมู โดยเชื้อจะเข้าตามบาดแผล ตามร่างกาย หรือเยื่อบุตา หรือไปสัมผัสสารคัดหลั่งของหมู เช่น น้ำลาย

สายกินต้องระวัง อันตรายจากการใช้ 'ตะเกียบ' คีบย่างเนื้อ เสี่ยงหูดับ ป่วยถึงตาย

สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษก็คือ โรคไข้หูดับสามาระเกิดขึ้นได้ในทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยจะพบในเพศชายสูงกว่าเพศหญิง

การแพร่ระบาดของโรคไข้หูดับครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในประเทศจีน เมื่อปีพ.ศ. 2548 มีจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดราว ๆ 100 คน และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้มากกว่า 20 คน สำหรับการแพร่ระบาดในประเทศไทย มีรายงานว่า พบผู้ป่วย 2 คนแรกในปีพ.ศ. 2530 และยังมีรายงานด้วยว่า พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับที่อายุน้อยที่สุด ก็คือ เด็กทารกอายุ 1 เดือน

ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโรคไข้หูดับในประเทศไทย นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 1 พฤศจิกายน จำนวนทั้งสิ้น 500 ราย มีผู้เสียชีวิต 24 ราย แบ่งออกเป็น จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดน่าน, จังหวัดสุโขทัย, จังหวัดกำแพงเพชร, จังหวัดพิจิตร, จังหวัดสมุครสาคร, จังหวัดหนองคาย, จังหวัดชัยภูมิ, จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวนจังหวัดละ 1 ราย

ส่วนจังหวัดตาก, จังหวัดอุตรดิตถ์, จังหวัดอุทัยธานี, จังหวัดนครปฐม จำนวนจังหวัดละ 2 ราย ทางจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดนครราชสีมา พบจำนวน 3 และ 4 รายตามลำดับ

สายกินต้องระวัง อันตรายจากการใช้ 'ตะเกียบ' คีบย่างเนื้อ เสี่ยงหูดับ ป่วยถึงตาย

อาการของโรคไข้หูดับ

ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไข้หูดับจะมีอาการไข้สูง และมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไม่ว่าจะเป็นการปวดศีรษะรุนแรง คอแข็งเกร็ง ระดับความรู้สึกตัวลดลง บางรายอาจมีอาการการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ การติดเชื้อในข้อ รวมถึงการติดเชื้อในกระแสโลหิตร่วมด้วย ซึ่งจะอันตรายถึงชีวิต

นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อเส้นประสาทหู ทำให้สูญเสียการได้ยินหรือหูดับ รวมถึงมีปัญหาการทรงตัว และเวียนศีรษะ

สำหรับอาการเบื้องต้นของโรคไข้หูดับที่ทุกคนสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง มีดังนี้

  • มีไข้สูงเฉียบพลัน มากกว่าหรือเท่ากับ 38 องศาเซลเซียส
  • ปวดศีรษะ ปวดข้อ คอแข็ง
  • หนาวสั่น สับสนกระสับกระส่าย
  • หูหนวกหรือการได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน
  • หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว
  • ทรงตัวผิดปกติ
  • มีจ้ำเลือดทั่วตัว
  • ปวดตา ตาแดง หรือมองภาพไม่ชัด

หากท่านมีอาการดังกล่าว หลังจากที่สัมผัสหมู หลังรับประทานเนื้อหมูสุก ๆ ดิบ หรือหลังการใช้ตะเกียบคีบหมูดิบกินอาหาร ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย และเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆสายกินต้องระวัง อันตรายจากการใช้ 'ตะเกียบ' คีบย่างเนื้อ เสี่ยงหูดับ ป่วยถึงตาย

การใช้ตะเกียบ คีบหมูดิบอย่างไร ไม่เสี่ยงติด โรคไข้หูดับ

เคล็ดลับการใช้ตะเกียบให้ห่างไกลโรคร้ายที่จะช่วยคลายกังวลให้กับสายกินทั้งหลายที่ชื่นชอบปิ้งย่าง-ชาบู แต่ก็ไม่วายกลัวป่วยหนัก โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดของการป้องกันเชื่้อร้ายโรคที่มาพร้อมกับตะเกียบก็คือ “การแยกตะเกียบ” ออกเป็นตะเกียบคีบอาหารดิบ และตะเกียบที่ใช้คีบอาหารสุกเข้าปากนั่นเอง

นอกจากนั้น การให้ความสำคัญกับการแยกอุปกรณ์อื่น ๆ ที่สัมผัสกับหมูดิบก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นไม้คีบ ตะเกียบ ช้อน หรือส้อม เมื่อใดที่ใช้อุปกรณ์เหล่านั้นคีบเนื้อหมูดิบ ก็ควรจะแยกห่างจากอุปกรณ์ที่เหลือและไม่นำมาใช้คีบอาหารอื่น ๆ อีก

สายกินต้องระวัง อันตรายจากการใช้ 'ตะเกียบ' คีบย่างเนื้อ เสี่ยงหูดับ ป่วยถึงตาย

อันตรายไม่น้อยจริง ๆ สำหรับโรคไข้หูดับที่มาพร้อมกับ “พฤติกรรมการใช้ตะเกียบ” แม้จะกินอาหารที่มั่นใจว่าปรุงสุก แต่หากพลั้งเผลอใช้อุปกรณ์ที่สัมผัสกับเนื้อหมูดิบก็มีโอกาสเสี่ยงป่วยเป็นโรคไข้หูดับเช่นกัน ทั้งนี้ก็ไม่ควรชะล่าใจว่า โรคไข้หูดับจะไม่เกิดขึ้นกับเรา เพราะโรคร้ายเหล่านี้มักมาอย่างไม่มีสัญญาณเตือน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button