Line Newsไลฟ์สไตล์

รู้ก่อนเลี้ยง ‘สัตว์ที่ห้ามเลี้ยง’ ฝ่าฝืน โทษหนักถึงติดคุก

เปิดรายชื่อสัตว์ป่าสงวน และสัตว์ป่าคุ้มครอง ‘ห้ามเลี้ยงในไทย’ พร้อมกางข้อกฏหมายที่หากฝ่าฝืนต้องรับโทษหนัก ทั้งจำทั้งปรับ เรื่องใกล้ตัวที่บรรดาคนรักสัตว์ต้องรู้

เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำเลยจริง ๆ สำหรับข่าวคราวการลักลอบเลี้ยงสัตว์ที่กฏหมายระบุไว้ว่า “ห้ามมีไว้ในครอบครอง” บ้างก็เลี้ยงไว้เพื่อชมเชยในบ้าน บ้างก็เลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม หรือแม้กระทั่งเลี้ยงไว้เพื่อแสดงถึงอำนาจ

Advertisements

เมื่อเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดบ่อยขึ้น แน่นอนว่าหลาย ๆ คนคงมีคำถามว่าแล้วสัตว์ชนิดไหนหรือสัตว์ประเภทใด ที่พระราชบัญญัติและกฎกระทรวงไม่อนุญาตให้มีไว้ในครอบครอง วันนี้ Thaiger จะพาทุกท่านไปเรียนรู้เรื่องราวของ ‘สัตว์ที่ห้ามเลี้ยงในไทย’ พร้อมเปิดบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดในคดีนี้

รู้ไว้ก่อนเลี้ยง 'สัตว์ที่ห้ามเลี้ยงในไทย' หากละเมิด รับโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ

สัตว์ป่าสงวน และสัตว์ป่าคุ้มครอง คืออะไร?

ก่อนอื่นก็ต้องมาทำความรู้จักความหมายของคำว่า “สัตว์ป่าสงวน” และ “สัตว์ป่าคุ้มครอง” กันก่อน

สัตว์ป่าสงวน

สัตว์ป่าหายากหรือสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

Advertisements

เดิมทีประเทศไทยเริ่มมีสัตว์ป่าสงวนที่กำหนดไว้ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 จำนวน 9 ชนิด เป็นสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด ได้แก่ แรด กระซู่ กูปรี ควายป่า ละองหรือละมั่ง สมัน เนื้อทราย เลียงผา และกวางผา เหตุเพราะสัตว์ป่าสงวนเหล่านี้หายาก ใกล้จะสูญพันธุ์ หรืออาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติที่เข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่สัตว์ป่าที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือซากสัตว์ป่า ซึ่งอาจจะตกไปอยู่ยังต่างประเทศด้วยการซื้อขาย

สัตว์ป่าคุ้มครอง

สัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ตามบัญชีแนบท้าย กฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

ทั้งนี้ ห้ามครอบครองและห้ามเลี้ยงสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ในกรณีที่สัตว์ที่ครอบครองเป็นสัตว์ที่มาจากการเพาะพันธุ์ที่ไม่ถูกต้อง จะต้องโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รู้ไว้ก่อนเลี้ยง 'สัตว์ที่ห้ามเลี้ยงในไทย' หากละเมิด รับโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ

รายชื่อ “สัตว์ป่าสงวน” ที่คนไทยห้ามเลี้ยงหรือมีไว้ในครอบครอง

ปัจจุบันสถานการณ์การลักลอบเลี้ยงและการค้าเกิดขึ้นบ่อยขึ้น ที่ประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้เพิ่มรายชื่อสัตว์ป่าสงวน รวม ณ ขณะนี้ มีสัตว์ป่าสงวนในประเทศไทยทั้งสิ้น 20 ชนิด ได้แก่

สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

1. กระซู่ (Didermocerus Samatraensis)

2. กวางผา (Naemorhedus griseus)

3. กูปรีหรือโคไพร (Bos sauveli)

4. เก้งหม้อ (Muntiacus feae)

5. ควายป่า (Bubalus bubalis)

6. พะยูนหรือหมูน้ำ (Dugong dugon)

7. แมวลายหินอ่อน (Pardofelis marmorata)

8. แรด (Rhinceros sondaicus)

9. ละองหรือละมั่ง (Cervus eldi)

10. เลียงผาหรือเยืองหรือกูรำหรือโครำ (Capriconis sumatraensis)

11. วาฬบรูด้า (Balaenoptera edeni)

12. วาฬโอมูระ (Balaenoptera omurai)

13. สมเสร็จ (Tapirus indicus)

14. สมันหรือเนื้อสมัน (Cervus schomburgki)

สัตว์ป่าจำพวกนก

15. นกกระเรียน (Grus antigone)

16. นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (Pseudochelidon sirintarae)

17. นกแต้วแร้วท้องดำ (Pitta gurneyi)

สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน

18. เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea)

สัตว์ป่าจำพวกปลา

19. ปลาฉลามวาฬ (Rhincodon typus)

สุดท้ายคือ นกชนหิน (Rhinoplex Vigil) สัตว์สงวนลำดับที่ 20 ซึ่งเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ นกชนหิน (Rhinoplex Vigil) เป็นสัตว์ป่าสงวนตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เนื่องจากนกชนหินเป็นสัตว์ป่าหายาก ใกล้สูญพันธุ์

รู้ไว้ก่อนเลี้ยง 'สัตว์ที่ห้ามเลี้ยงในไทย' หากละเมิด รับโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ

“สัตว์ป่าคุ้มครอง” ที่คนไทยห้ามเลี้ยง ผิดกฏหมาย

ในปีพ.ศ. 2546 กฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และจากพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 สัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครองสามารถจำแนกออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่

1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีจำนวน 201 ชนิด

2. นก จำนวน 952 ชนิด

3. สัตว์เลื้อยคลาน มีจำนวน 91 ชนิด

4. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มีจำนวน 12 ชนิด

5. ปลา จำนวน 14 ชนิด

6. แมลง มีจำนวน 13 ชนิด

7. สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ อีกจำนวน 13 ชนิด

รวมทั้งสิ้นขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งสิ้น จำนวน 1,296 ชนิด ตรวจสอบรายชื่อได้ที่เว็บไซต์ กรมประมง

บทลงโทษผู้ละเมิดกฎหมายคุ้มครองสัตว์

สำหรับบทลงโทษผู้กระทำผิด โทษฐานละเมิดพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2546 มีการกำหนดบทลงโทษไว้ดังนี้

1. โทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทลงโทษดังกล่าวเป็นไปตามความผิดดังนี้

  • ล่าหรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยที่ไม่เป็นข้อยกเว้น
  • มีสัตว์ป่าสงวนสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง ยกเว้นเป็นสัตว์ป่าชนิดที่ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้ตามกฎหมาย
  • ค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว ยกเว้นเป็นสัตว์ป่าชนิดที่ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้ตามกฎหมายนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่า หรือนำผ่านสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครองหรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี

2. โทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับความผิดดังต่อไปนี้

  • เพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • นำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวโดยมิใช่กรณีการนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์และได้รับอนุญาตจากอธิบดี
  • จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี

3. โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

สำหรับผู้ที่มีไว้ในครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือซากของสัตว์ป่าที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ โดยไม่ได้รับอนุญาต

4. โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับผู้ที่ทำการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ ซากของสัตว์ป่าที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์
หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากสัตว์ดังกล่าวโดยมิได้รับอนุญาต

5. โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับความผิดดังนี้

  • เก็บ ทำอันตรายมีรังของสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง
  • ยิงสัตว์นอกเวลาอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น
  • ล่าสัตว์ป่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าอื่น ๆ หรือเก็บหรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่าในบริเวณวัดหรือในบริเวณสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

รู้ไว้ก่อนเลี้ยง 'สัตว์ที่ห้ามเลี้ยงในไทย' หากละเมิด รับโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ

6. โทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

สำหรับความผิดเกี่ยวกับการนำสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเคลื่อนที่เพื่อการค้า โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี นำสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าวเคลื่อนที่ผ่านด่านตรวจสัตว์ป่า โดยไม่แจ้งหรือแสดงใบอนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์ป่า

7. โทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับความผิดฐานล่าสัตว์ป่าใด ๆ เก็บหรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

8. โทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับความผิดดังต่อไปนี้

  • ยึดถือ ครอบครองที่ดิน ปลูกสร้างสิ่งใด แผ้วถาง ทำลายต้นไม้ พรรณพืช ฯลฯ
    ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
  • ล่าสัตว์ เก็บรัง ยึดถือครอบครองที่ดิน ทำลายต้นไม้ พันธุ์พืช ฯลฯ ในเขตกำหนดห้ามล่าสัตว์ป่า

9. โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับความผิดโทษฐาน “ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามกฎหมายนี้”

10. กรณีนิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิด

ตามพระราชบัญญัตินี้ กรรมการผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นตน มิได้มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมด้วย

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่ากฏหมายว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองสัตว์ป่าของไทยมีความเข้มข้นทั้งตัวเนื้อหาและบทลงโทษผู้กระทำผิด เช่นนั้นแล้ว หากประชาชนชาวไทยละเมิดข้อกฏหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยง การครอบครอง การค้า และจุดประสงค์อื่น ๆ ก็จะถูกดำเนินตามกฏหมายอย่างเท่าเทียมกันทั้งสิ้น

ข้อมูลจาก พรรคเพื่อไทย, หอสมุดรัฐสภา, กรมประมง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button