‘พริษฐ์ ก้าวไกล’ เห็นพ้องเพื่อไทย แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ทำประชามติ 2 ครั้ง
สส.พริษฐ์ ก้าวไกล ยืนยันเห็นด้วยกับข้อเสนอ พรรคเพื่อไทย แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้ทำประชามติเหลือ 2 ครั้ง ย้ำต้องอาศัยเสียง สว. เห็นชอบด้วย
วันนี้ (23 ม.ค.67) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ สส. ของพรรคเพื่อไทยกว่า 120 คน ได้เข้าชื่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือ การทำประชามติครั้งที่ 2 และ 3 ถูกบังคับโดยรัฐธรรมนูญมาตรา 256
และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ระบุว่าให้ถามประชาชนเสียก่อนว่า ประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ว่า ขณะนี้มีข้อถูกเถียงในประเด็นที่การทำประชามติครั้งแรกจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากมีการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน บางฝ่ายมองว่า คำวินิจฉัยกำหนดให้ทำประชามติก่อน ที่จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. ขณะบางฝ่าย โดยเฉพาะ สว. มองว่า ต้องทำประชามติก่อนที่จะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใด ๆ เข้าสู่สภา
นายพริษฐ์ กล่าวถึงจุดยืนของพรรคก้าวไกล ว่า สนับสนุนข้อเสนอของนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.แบบบัญชีรายขื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เห็นว่า ควรทำประชามติ 2 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว
ส่วนที่หลายฝ่ายยึดว่า ต้องทำประชามติครั้งแรก อาจมีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะถ้าเริ่มด้วยคำถามประชามติครั้งที่ 2 เริ่มต้นด้วยการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และมีการตั้ง ส.ส.ร. อาจมี สว. บางส่วนไม่สนับสนุน โดยอ้างว่าต้องทำประชามติครั้งแรกก่อน
อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลพร้อมให้ความร่วมมือกับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย ซึ่งโจทย์สำคัญหลังจากนี้ ทั้ง 2 พรรคต้องร่วมมือกันหาแนวทางโน้มน้าวให้สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ สว. เห็นชอบกับการทำประชามติ 2 ครั้ง ส่วนรูปแบบและที่มาของอำนาจ ส.ส.ร. นั้น
พรรคก้าวไกลได้เตรียมเสนอร่างแก้ไขที่จะยื่นประกบกับร่างของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีทั้งส่วนที่เหมือนกันและแตกต่างกัน โดยส่วนที่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทย คือ ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% และกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่ลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ร. อยู่ที่ 18 ปี แต่จุดที่เห็นต่างกับพรรคเพื่อไทย คือระบบเลือกตั้ง ความเชื่อมโยงระหว่าง ส.ส.ร. กับรัฐสภา และอำนาจของ ส.ส.ร. ในการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งจะใช้กลไกของรัฐสภา ในการหาข้อยุติความเห็นต่างเหล่านี้
นายพริษฐ์ กล่าวถึงการที่ต้องอาศัยเสียงข้างมาก 2 ชั้น ในการผ่านความเห็นชอบจากการทำประชามติ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ว่า ยังมีความเสี่ยงในเรื่องนี้อยู่
แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ แนวทางคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ตั้งคำถามการทำประชามติครั้งแรก ที่ระบุเงื่อนไขไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 อาจส่งผลให้การลงคะแนนของประชาชนไม่เป็นเอกภาพ และโอกาสที่การทำประชามติครั้งแรกผ่านลดน้อยลง.