Line Newsไลฟ์สไตล์

ข้าราชการโดนเด้ง คืออะไร ทำไมเวลาทำผิด ต้องถูกสั่งย้าย แต่ไม่ไล่ออก

เปิดข้อมูล ข้าราชการโดนเด้งคืออะไร ทำไมเวลาทำผิดต้องถูกสั่งย้าย เช็กบทลงโทษข้าราชการพลเรือน ข้าราชการตำรวจ กระทำผิดมีโทษกี่สถาน

เมื่อข้าราชการทำผิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดูหมิ่น เหยียดหยามประชาชนที่ติดต่อราชการ ไปจนถึงเรื่องการฉ้อโกง กระทำอนาจาร ใช้อำนาจในทางไม่ชอบ เพื่อข่มเหงประชาชน เรามักจะได้ยินคำว่า ข้าราชการโดนเด้ง แล้วทุกท่านทราบหรือไม่ว่า คำ ๆ นี้ แท้จริงแล้วมีความหมายว่าอย่างไร

ข้าราชการโดนเด้ง คืออะไร

ข้าราชการโดนเด้ง เป็นคำที่มีความหมายโดยนัย หมายถึง ข้าราชการถูกย้ายออกจากตำแหน่งเดิม โดยไม่มีสิทธิกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมอีก อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายประการ เช่น กระทำผิดทางวินัย ไม่ว่าทุจริต ขาดงานโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงขาดความรู้ความสามารถ ไม่สามารถปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายได้

นอกจากนี้ การถูกสั่งย้ายออกจากตำแหน่งเดิม จะเป็นไปตามคำสั่งของผู้มีอำนาจ และถูกสั่งย้ายไม่ได้มาจากการกระทำผิดอย่างเดียวเท่านั้น อาจมาจากการปรับโครงสร้างหน่วยงาน การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เพียงแต่คำว่า โดนเด้ง มักใช้ในการถูกสั่งย้ายที่มาจากสาเหตุด้านลบ

ข้าราชการที่ถูกเด้งออกจากตำแหน่งเดิม จะได้รับผลกระทบด้านสวัสดิการข้าราชการ เช่น เงินเดือน ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร โดยผู้มีอำนาจสั่งเด้งข้าราชการที่กระทำผิดคือ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รวมถึงผู้บังคับบัญชาของข้าราชการผู้นั้น

การสั่งย้ายไม่ใช่บทลงโทษ

หลายท่านอาจเข้าใจผิดว่า การโดนเด้งหรือการถูกสั่งย้าย เป็นส่วนหนึ่งของบทลงโทษ แต่แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น สาเหตุที่ข้าราชการผู้กระทำผิดต้องถูกสั่งย้าย เป็นเพราะต้องการให้ผู้กระทำผิดไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหลักฐานได้ รวมถึงใช้อำนาจที่มีอยู่พื้นที่นั้น ๆ ข่มขู่พยายาน เพื่อประโยชน์ของตนเอง การถูกสั่งย้ายไปที่อื่น จึงเปรียบเสมือนการนำจำเลยไปไว้ให้ห่างไกลจากคดี เพื่อให้สามารถพิสูจน์หลักฐานที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่นั่นเอง

หลังจากสั่งย้ายแล้ว เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อสอบวินัยตามระเบียบและขั้นตอน หากกระทำผิดจริงก็จะได้รับโทษทางวินัยของข้าราชการตามพระราชบัญญัติ ทั้งนี้ หากกระทำผิดตามกฎหมายอาญา หรือกฎหมายแพ่งร่วมด้วย ผู้กระทำผิดก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย เพื่อรับโทษต่อไป

ข้าราชโดนเด้งคือการไล่ออกหรือไม่

การโดนเด้งคือการสั่งย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการสอบสวนการกระทำความผิดของข้าราชการ ไม่ใช่บทลงโทษตามระเบียบของข้าราชการ ดังนั้นแล้ว การโดนเด้งไม่ถือว่าเป็นการไล่ออก แต่จะถูกไล่ออกจากข้าราชการได้ก็ต่อเมื่อได้รับการพิสูจน์แล้วว่า กระทำผิดจริงและสมควรถูกลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุด

ข้าราชการ ถูกสั่งย้าย
ภาพจาก Facebook : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

บทลงโทษข้าราชการมีอะไรบ้าง

สำหรับบทลงโทษข้าราชการผู้กระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2521 มาตรา 88 ระบุว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญที่กระทำผิดทางวินัย จะได้รับโทษทางวินัย 5 สถาน โดยไล่จากโทษสถานเบาไปจนถึงโทษสถานหนัก ได้แก่

1. ภาคทัณฑ์

บทลงโทษข้าราชการขั้นที่เบาที่สุด หากกระทำความผิดคือ ภาคทัณฑ์ เป็นการลงโทษข้าราชการพลเรือนโดยการตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษร ใช้สำหรับกรณีที่ข้าราชการกระทำผิดวินัยเล็กน้อย หรือโทษสถานเบา ไม่ถึงกับต้องตัดหรือลดเงินเดือน นอกจากนี้ สามารถงดโทษให้ โดยการทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือหรือว่ากล่าวตักเตือนได้

2. ตัดเงินเดือน

บทลงโทษข้าราชการนี้ จะใช้สำหรับโทษที่หนักขึ้นมาหน่อย แต่ไม่ถึงขั้นเป็นความผิดร้ายแรง โดยใช้วิธีการตัดเงินเดือนเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนและเป็นจำนวนเดือน เช่น ตัดเงินเดือน 10% ระยะเวลา 3 เดือน เมื่อพ้น 3 เดือนไปแล้ว ข้าราชการจะได้รับเงินเดือนตามปกติ

3. ลดเงินเดือน

การลดเงินเดือนเป็นโทษขั้นสูงกว่าตัดเงินเดือน เนื่องจากเป็นการลงโทษโดยการลดเงินเดือนเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ เช่น ลดเงินเดือน 10% ของอัตราเงินเดือนของผู้กระทำความผิด หากปกติแล้วได้รับเงินเดือน 30,000 บาท จะลดเหลือ 27,000 บาทเท่านั้น

4. ปลดออก

กรณีที่ข้าราชการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จะได้รับโทษโดยการปลดออกจากการเป็นข้าราชการพลเรือน แต่พนักงานข้าราชการจะยังคงได้รับบำเหน็จบำนาญ คล้ายกับการลาออกจากราชการ

5. ไล่ออก

การไล่ออกเป็นการลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุด สำหรับข้าราชการที่กระทำผิดร้ายแรง เพราะเป็นการลงโทษให้พ้นจากราชการ แต่ต่างจากการปลดออกตรงที่ข้าราชการที่กระทำผิด จะไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ

นอกจากนี้ บทลงโทษทางวินัยสำหรับสำหรับข้าราชการตำรวจ ตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยอำนาจการลงโทษ อัตราโทษ และการลงโทษ ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน ตามมาตรา 82 ข้าราชการตำรวจที่กระทำความผิดมีโทษทางวินัย 7 สถาน โดยแบ่งระดับโทษเป็น 3 ระดับ ได้แก่

1. ระดับโทษสำหรับความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ได้แก่ ปลดออก และไล่ออก

2. ระดับโทษสำหรับความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ได้แก่ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง และตัดเงินเดือน

3. ระดับโทษสำหรับความผิดวินัยเล็กน้อย ได้แก่ ภาคทัณฑ์

ข้าราชการจะแตกต่างจากพนักงานเอกชน เนื่องจากต้องปฏิบัติตนตามวินัยและระเบียบข้าราชการพลเรือนตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาหยุดเหมือนชั่วโมงการทำงาน หากปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือถูกตรวจสอบแล้วว่ากระทำผิดจริง สามารถโดนเด้งและโดนลงโทษได้ทุกเมื่อ

ข้าราชการ โดนเด้ง
ภาพจาก Facebook : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 11 / กองวินัย

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button