ไลฟ์สไตล์

วิธีรับมือเด็กดื้อ ปราบตัวแสบวัยซน ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ แก้นิสัยก้าวร้าวอยู่หมัด

เทคนิคปรามลูกให้ถูกวิธี เมื่อเด็กซนไม่เชื่อฟัง การตีเพื่อสั่งสอนอาจไม่ใช่ทางออก แนะนำ 5 วิธี รับมือลูกดื้อด้วยเหตุผล ไม่ใช้ไม้เรียวและอารมณ์

พัฒนาการของเด็กในวัย 0-6 ปี ขึ้นชื่อเรื่อง “ความดื้อ” สภาวะทางอารมณ์ที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจ ซึ่งทางที่ลูกจะได้รับประโยชน์มากกว่าการทำความเข้าใจ คือการเรียนรู้ที่จะรับมือกับอารมณ์และความคิดของพวกเขาด้วยเหตุผล เมื่อพ่อแม่เลือกใช้วิธีอบรมลูกได้อย่างเหมาะสม “เด็กดื้อ” คนนั้นจะเปลี่ยนเป็น “เด็กดี” ได้อย่างแน่นอน

พามาดู 5 วิธีใช้แก้สถานการณ์เมื่อลูกดื้อ เพื่อปลูกฝังพฤติกรรมดีตั้งแต่อายุยังน้อย ให้ลูกเติบโตอย่างมีเกราะป้องกันทางอารมณ์ คุณพ่อคุณแม่พร้อมแล้วเตรียมจดได้เลย

1. อธิบายลูกด้วยเหตุผล แทนคำว่า “อย่า”

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กดื้อ คือ การพูดว่า “อย่า” พร่ำเพรื่อ เพราะเขาไม่เข้าใจว่าทำไมถึงถูกห้าม ยิ่งไม่อธิบายเหตุผลให้ชัดเจน อาจเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมเอาแต่ใจของลูกได้ เพราะเด็กยังไม่สามารถแยกแยะว่าอะไรผิดถูกได้ด้วยตัวเอง

หากผู้ใหญ่อยากให้เด็กเชื่อฟังและปฏิบัติตาม หยุดใช้คำว่า “อย่า” แต่ให้เริ่มด้วยการพูดด้วยน้ำเสียงโทนเย็น เพื่อให้เขารับรู้ได้ว่าเราไม่ได้กำลังดุหรือตะคอกใส่ จากนั้นให้อธิบายว่าทำไมคุณพ่อหรือคุณแม่ถึงอยากให้ทำสิ่งนั้น ทำเพราะอะไร และมันจะดีกับตัวเขาอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น พี่น้องกำลังทะเลาะกันเพื่อแย่งของเล่น สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือการไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และอธิบายว่าการแย่งของกันไม่ดีอย่างไร และทำอย่างไรเมื่ออยากได้ของชิ้นนั้น อย่าลืมบอกวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องให้ลูกทุกครั้ง เช่น สอนลูกให้รู้จักการรอคอย หรือถ้าอยากได้ของคนอื่นต้องขออนุญาตก่อน ไม่ควรแย่งมา

วิธีรับมือเด็กดื้อ พ่อแม่ต้องทำอย่างไร เมื่อลูกอยู่ในวัยต่อต้าน

2. ให้ลูกเรียนรู้ผิดถูกด้วยตัวเอง

บทเรียนแรกที่ลูกได้เรียนรู้มาจากคนเลี้ยงดู ดังนั้นพ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกได้สัมผัสกับความจริงด้วยตัวเอง การให้อิสระไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ดูแลสั่งสอน เราเพียงแค่ถอยออกมาหนึ่งก้าวเพื่อให้พื้นที่เขาได้ตัดสินใจเอง

เด็กในวัย 0-6 ปี เป็นช่วงวัยที่สามารถฝึกฝนให้เผชิญกับความผิดพลาดได้ เช่น เมื่อพ่อแม่เตือนว่าวิ่งเล่นแบบไม่ระวังจะทำให้ล้มและเจ็บตัวได้ หากเขายังไม่ฟังสิ่งที่ควรทำคือการปล่อยให้ลูกล้มดูสักครั้งให้รู้ว่ามันเจ็บ จากนั้นเขาจะระวังตัวมากขึ้นเองตามสัญชาตญาณ

ในขณะที่ปล่อยให้ลูกได้ล้มและเรียนรู้ พ่อแม่ก็ไม่ควรละเลยความรู้สึกแย่ ๆ เหล่านั้น ขอเพียงอย่าซ้ำเติม บอกลูกว่าไม่เป็นไรนะลูก ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ ลูกแค่ยอมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้วค่อยลุกขึ้นมาใหม่

3. ชื่นชมลูกทุกครั้ง เมื่อเขาทำสิ่งที่ดี

“โลกใบนี้ขับเคลื่อนด้วยความรัก” วลีนี้ยังคงถูกต้องเสมอ จึงอยากรณรงค์ให้ทุกครอบครัวโอบกอดลูกหลานด้วยคำชม มากกว่าคำติ ในฐานะพ่อแม่ควรยินดีและยกย่อง เมื่อไหร่ที่เขาภาคภูมิใจกับเรื่องดี ๆ ที่ทำจะยิ่งผลักดันความสามารถในตัวเขาเปล่งประกายมากขึ้น

ผู้ใหญ่บางคนอาจคิดว่าการชมเยอะ ๆ จะทำให้ลูกเหลิง เว็บไซต์ด้านครอบครัวอย่าง เน็ตป๊าม้า กล่าวถึงมหัศจรรย์แห่ง “คำชม” ไว้ว่า “หนึ่งในหลักการเลี้ยงลูกเชิงบวก คือ การชมที่ถูกวิธี ไม่เพียงเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดี แต่จะส่งผลต่อทัศนคติทางบวกของลูก ส่งเสริมให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเอง และเป็รพลังพิเศษที่พ่อแม่จะทำให้ลูกฮึดสู้ไปสู่เป้าหมายได้”

วิธีรับมือเด็กดื้อ พ่อแม่ต้องทำอย่างไร เมื่อลูกอยู่ในวัยต่อต้าน

4. เวลาลูกงอแง ให้เบนความสนใจไปตรงอื่น

เทคนิคอาจเป็นท่าไม้ตายเวลาอยู่นอกบ้าน คือการไม่ให้ความสนใจอารมณ์เชิงลบของลูก เมื่อไหร่ที่ลูกงอแง ร้องไห้โหวกเหวกโวยวาย พูดอะไรก็ไม่ฟัง ลองใช้วิธีพูดเบี่ยงเบนความสนใจไปหาสิ่งอื่น

ยกตัวอย่างเช่น เปลี่ยนเรื่องคุยไปเลย ทำเหมือนเหตุการณ์เมื่อสักครู่ไม่ได้เกิดขึ้น ถ้าลูกตื้อให้ซื้อของเล่น พ่อ ๆ แม่ ๆ มองไปทางอื่นแล้วบอกว่าไปกินไอศกรีมกันดีกว่า แล้วทำท่าเดินจากไป ซึ่งหลายบ้านใช้ทริคนี้แล้วได้ผลเช่นกัน

อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ทำแบบนี้บ่อย ควรฝึกฝนให้เขาอดทนและรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง อันไหนไม่ได้คือไม่ได้ หรือจะใช้วิธีอธิบายเหตุผลตามข้อ 1 ดูนะคะ

5. พ่อแม่ต้องใจเย็น ด้วยเทคนิคนับ 1-10

ยิ่งคุณแม่มีอารมณ์โกรธมากเท่าไหร่ ลูกก็ยิ่งรู้สึกได้และจะแสดงอาการดื้อมากขึ้นเท่านั้น การนับ 1-10 ถือว่าได้ผลดีทีเดียว เริ่มจากให้คุณแม่ใจเย็น ๆ ใช้น้ำเย็นเข้าลูบ และหลายครั้งก็ต้องใจแข็ง ปล่อยให้ลูกร้องไห้งอแงนานเท่าที่เขาอยากทำ ขอแค่คุณแม่นิ่งไว้ เดี๋ยวเขาก็จะสงบไปเอง

ซึ่งเทคนิคนี้ห้ามทำตอนเรามีอารมณ์ เพราะจะกลายเป็นเราทอดทิ้งลูก และแน่นอนว่าต้องสอน ไม่ใช่เอาชนะลูก คิดเอาไว้เสมอว่าเราเป็นพ่อแม่เขา เรามีหน้าที่สอนไม่ใช่เอาชนะ

เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนรักและอยากให้ลูกเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ แม้การรับมือกับลูกดื้อจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ตามสุภาษิตไทยที่ว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” ฉะนั้นการปลูกฝังนิสัยของลูกไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่นนี้เป็นเรื่องที่คุ้มค่าแน่นอน

ขอบคุณข้อมูลจาก : paolohospital, เน็ตป๊าม้า

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

Peangaor

นักเขียนประจำ Thaiger จบการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มศว เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาชี้แจงแตกประเด็นในรูปแบบย่อยง่ายเหมือนเพื่อนเล่าให้ฟัง รวมถึงเรื่อง Pop culture ซีรีส์ อาหาร และเทรนด์แฟชั่นที่กำลังอินเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ preme@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button