ข่าวการเมืองเศรษฐกิจ

ส.ส.ศุภณัฐ เสนอ 3 ข้อ ลุ้นเคาะ ค่าแรงขั้นต่ำ จะปรับถึง 400 หรือไม่

ลุ้นก่อน เคาะค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เป็นจริงหรือไม่วันนี้ ศุภณัฐ ก้าวไกล เสนอ 3 ข้อ ตอบชัดบริษัทจะขาดทุน เจ๊งไปเลยไหม ของจะแพงขึ้นไม่จริงเสมอไป

จากกรณีที่วันนี้ (8 ธ.ค.66) ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ หรือคณะกรรมการไตรภาคี จะประชุมพิจารณาสรุปตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2566 ซึ่งเป็นการประชุมเคาะตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัดเป็นครั้งสุดท้าย

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบนี้ถือเป็นที่น่าจับตา เพราะรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้มีการประกาศเป็นนโยบายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

ล่าสุด ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 9 พรรคก้าวไกล ก็ได้ออกมาแดสงความเห็นผ่านบัญชีเอ็กซ์ @SuphanatMFP โดยระบุว่าตนเองมีเรื่องอยากจะสื่อสารเกี่ยวกับการพิจารณามติในที่ประชุมกับการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ด้วยกัน 3 หัวข้อใหญ่ ๆ ชี้ปรับครั้งนี้มีความจำเป็น ถ้าขึ้นเท่านี้แล้วบริษัทจะเจ้ง เป้นเพราะองค์กรไม่แข็งแรงหรือไม่ ส่วนเรื่องของแพง ไม่จริงเสอไปเพราะบางครั้งก็เป็นการฉวยโอกาสกันเองเสียมาก

เนื้อหาจากในบัญชีเอ็กซ์ทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องการขึ้นค่าแรง 400 บาท ของ ส.ส. ศุภณัฐ ระบุ ดังนี้

วันนี้จะเคาะ ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท หรือไม่ ?

หลายท่านยังไม่ทราบวันนี้มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ (คณะกรรมการไตรภาคี) พิจารณาสรุปตัวเลข “ค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2566”

สำหรับผม มีเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ อยู่ 3 เรื่อง ที่อยากสื่อสารไปยังคณะกรรมการไตรภาคี และทุกๆท่านครับ

1) ค่าแรงขั้นต่ำ ควรสอดคล้องกับค่าครองชีพ

ค่าแรงขั้นต่ำ คือรายได้ขั้นต่ำสุดที่แรงงานพึ่งได้รับให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ ถ้าแรงงานทำงาน 8ชมต่อวัน ควรได้เงินเท่าไร ควรสอดคล้องกับค่าครองชีพขั้นต่ำในการอยู่ได้ในประเทศนั้นๆ

10ปีที่ผ่านมา ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเพียง 20-50 บาทเท่านั้น เฉลี่ยปีละ 2-5บาท ในขณะที่ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าเดินทาง ค่าอาหารขึ้นสูงมาก ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำควรขึ้นตามเพื่อการันตรีว่า ถ้าคุณรับจ้างทำงานในประเทศนี้อย่างน้อย คุณจะมีรายได้พอจ่ายประทังชีวิตในแต่ละวัน

นี่คือ “การพิทักษ์สิทธิพื้นฐาน” ของผู้ใช้แรงงาน ถ้าคุณจะรับจ้างทำงานให้นายจ้างท่านใด อย่างน้อยที่สุดคุณจะเรียกเงินต่ำสุดได้เท่าไร ถ้าไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ ด้วยระบบทุนนิยม แรงงานจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ เป็นหนี้เป็นสิน 10ปีที่ผ่านมา ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเพียง 20-50 บาทเท่านั้น เฉลี่ยปีละ 2-5บาท

2) ไม่ใช่ทุกคนจ้างด้วยค่าแรงขั้นต่ำ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ใช่ การขึ้นค่าแรง คนทุกคน

ถ้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท คนที่จะได้รับประโยชน์ คือ คนที่ได้ค่าแรง “ต่ำกว่า” 400บาท เท่านั้น ส่วนคนที่สูงกว่า จะไม่ได้เพิ่ม เพราะงั้นการบิดเบือนประเด็นว่า ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะทำให้บริษัทต้องจ่ายเงินเดือนสูงมาก ไม่จริงเสมอไป ทุกบริษัทไม่ได้จ้างคนงานด้วยค่าแรงขั้นต่ำ

หลายบริษัทจำนวนมาก จ้างแรงงานสูงกว่า 400 บาท ค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้กระทบอะไรพวกเขาเลย

การอ้างว่าถ้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้นทุนจะขึ้นสูงมาก จนบริษัทเจ้ง เจ้งจริงไหม ? นับหัวคนงานเลยครับ บริษัทท่าน มีคนงานที่ได้เงินต่ำกว่า 400บาท ต่อวันกี่คน และถ้าขึ้นค่าแรงหัวละ 50บาท/วัน เดือนละ 1,000กว่าบาท/คน รวมแล้วจ่ายเพิ่มเดือนเท่าไร และบริษัทมีรายได้เท่าไร กำไรเท่าไร

ถ้าการขึ้นเงิน คนละ 50บาท/วัน ให้แรงงาน “บางคน” แล้วบริษัทนั้นจะขาดทุน จะเจ้ง อาจสื่อได้ว่า บริษัทท่านอาจไม่แข็งแรงพอ และที่ผ่านมากำไรของท่าน อาจมากจากการกดค่าแรงขั้นต่ำเป็นหลัก ไม่ใช่เพราะท่านมีศักยภาพในการทำเงิน

สำหรับ SME เกษตร เป็น sector ที่น่าจะกระทบสุด และมีความกังวลสูงเกี่ยวกับค่าแรง เพราะที่ผ่านมา productivity ของธุรกิจเกษตรไทยค่อนข้างน้อย จ้างคนด้วยค่าแรงขั้นต่ำและอยู่นอกระบบ ทำให้รัฐเข้าไปช่วยเหลือได้ยาก

แรงงานเกษตรไทยหลายคนไปทำงานอิสราเอล ทั้งที่ใช้ทักษะเหมือนเดิม ความรู้เท่าเดิม ทำงานหนักเท่าเดิม แต่ได้เงินเดือน 50,000 บาท แต่อยู่ไทยได้ค่าแรงขั้นต่ำ อยากให้ลองศึกษาดูครับ เขาทำแบบไหน ทำไมประเทศเขาถึงจ้างได้ (อิสราเอลไม่ใช่โมเดลที่ดีที่สุด แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมามันทำให้เราเห็นว่า แม้มีสงคราม แรงงานหลายคน กลับไม่อยากกลับไทย)

3) ค่าแรงไม่ได้เป็นทุกอย่างของธุรกิจ

ในการทำธุรกิจมีคชจ.ทั้งค่าสถานที่ ค่าไฟอุปกรณ์ ค่าขนส่ง ค่าการตลาด ซึ่งไม่เกี่ยวไรกับค่าแรง เพราะงั้นการขึ้นค่าแรง ไม่ได้ทำให้ต้นทุนสินค้าแพง ขึ้นได้ขนาดนั้น และจากข้อมูล ต้นทุนค่าแรง ต่อต้นทุนรวม ของ ธปท. (กราฟ)

สัดส่วนต้นทุนค่าแรง ต่อ ต้นทุนรวม มีตั้งแต่ 1% สูงสุด 33% กลุ่มอาหาร ยานยานต์ อิเล็กโทรนิสก์ มีสัดส่วนต้นทุนค่าแรง น้อยมาก ไม่ถึง 7% ของต้นทุนผู้ประกอบการ ในขณะที่อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนเยอะ คือ การค้ารถยนต์ 33% (จ่ายค่าคอมเยอะ) โรงแรม 32% การค้าส่ง 28% และร้านอาหาร 20% ซึ่งกลุ่มนี้หลายอันเป็นค่าคอม และส่วนใหญ่พนักงานได้เงินสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

ย้ำว่านี่คือ “ค่าแรงรวม” ของลูกจ้างในองค์กรนะครับ ถ้าเฉพาะคนที่ได้ “ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 400” จะยิ่งน้อยกว่าเดิมมาก การอ้างว่า ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ของจะแพงขึ้นเยอะ จึงไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไปครับ หลายครั้งเป็นการฉวยโอกาสเสียมากกว่า ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมการค้าภายใน ที่ต้องไปควบคุมเชิงรุก

ศุภณัฐมีนชัยนันท์ ก้าวไกล
แฟ้มภาพ Facebook @suphanat.minchaiynunt

ที่สำคัญ ธปท.มาให้ข้อมูลกับ อนุกมธ.ของผมว่า ส่วนใหญ่แล้ว การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ได้สอดคล้องกับการขึ้นราคาสินค้า สิ่งที่จะทำให้ราคาสินค้าขึ้นคือ “ค่าน้ำมัน” ครับ

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ณ เวลานี้มีความจำเป็น แต่ถ้าธุรกิจไหน ได้รับผลกระทบ เราตรวจสอบได้ครับ ดู record จ่ายประกันสังคม ได้ครับ ธุรกิจท่านจ่ายเงินคนงาน ต่ำกว่า 400 บาท มีกี่คน ถ้าขึ้นแล้วต้นทุนจะเพิ่มเท่าไร ถ้าเพิ่มเยอะเกิน กี่% ของรายได้ รัฐสามารถออกมาตราการช่วยเหลือได้ครับ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากคณะกรรมการไตรภาคี เบื้องต้นจากตัวเลขที่เสนอมา ยังไม่มีจังหวัดไหนเสนอปรับขึ้นแตะที่ 400 บาท และตัวเลขที่เสนอมาขอปรับขึ้นสูงสุด 18 บาท ต่ำสุดคือไม่เสนอปรับขึ้นเลยมี 2 จังหวัด และเมื่อสรุปเคาะตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว กระทรวงแรงงานจะเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 ธ.ค. เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567.

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button