ข่าว

7 วันอันตรายปีใหม่ 2567 เริ่มวันไหน ย้อนสถิติอุบัติเหตุ แจกเบอร์โทรฉุกเฉินปีใหม่

จดไว้ในปฏิทิน 7 วันอันตรายปีใหม่ 2567 เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 – 3 มกราคม 2567 เปิดสถิติอุบัติเหตุทางถนน พร้อมแนะวิธีหลีกเลี่ยงเหตุด่วน เหตุร้าย แจกฟรี เบอร์โทรฉุกเฉินปีใหม่

ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่ ประจำปี 2567 นอกจากความรื่นเริงเปี่ยมสุขในวันส่งท้ายปีเก่า อีกหนึ่งสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเสมอในทุก ๆ ปีก็คือ อุบัติเหตุบนท้องถนนที่ควรเฝ้าระวังอย่างมาก ในช่วง 7 วันอันตราย ในปีนี้จะตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2566 ถึงวันพุธที่ 3 มกราคม 2567 ขยับจากปีก่อนเล็กน้อยเนื่องจากการเลื่อนวันหยุดตามมติคณะรัฐมนตรี

กางปฏิทิน 7 วันอันตรายปีใหม่ 2567 วันไหนบ้าง ย้อนสถิติอุบัติเหตุ

แม้จะมีมาตรการการควบคุมอุบัติเหตุบนท้องถนนที่รัดกุมเพียงใด แต่ในทุก ๆ ปีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ก็ได้คร่าชีวิตผู้คนไปไม่น้อย โดยในปีพ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา สรุปสถิติอุบัติเหตุรวม 7 วันอันตราย (ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2565 – 4 มกราคม 2566) อยู่ที่ 2,440 ครั้ง รวมจำนวนผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 2,437 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิต 317 ราย

จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (15 ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มีทั้งหมด 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส บึงกาฬ พังงา สตูล และสุโขทัย โดยสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย

กางปฏิทิน '7 วันอันตรายปีใหม่' ตั้งแต่ 28 ธันวาคม 2566 - 3 มกราคม 2567

จากข้อมูลอุบัติเหตุในปีก่อน ๆ เหตุการณ์สูญเสียมักเกิดขึ้นจากปัญหาเมาแล้วขับ และความประมาท สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนที่จำเป็นต้องสัญจรไปมาในช่วง 7 วันอันตราย สามารถหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุได้โดยการปฏับัติตามข้อแนะนำ ดังนี้

1. เมาไม่ขับ

เมื่อใดที่ผู้ขับขี่รู้สึกเมาหรือขาดสติ ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะทุกชนิด เนื่องจากปัญหาเมาแล้วขับเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตราย ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการเมาแล้วขับหรือควรงดการดื่มแอลกอฮอล์เลยจะเป็นการลดอุบัติเหตุได้ดีที่สุด

2. ง่วงไม่ขับ

เมื่อผู้ขับขี่รู้สึกง่วงงุนก็ควรจะจอดพักเพื่องีบสัก 15-20 นาที หรือดื่มกาแฟ แต่ก็ควรจะดื่มก่อนที่จะงีบ เนื่องจากกาแฟไม่ได้ออกฤทธิ์ทันที แต่จะออกฤทธิ์ให้หลังเมื่อ 10-15 นาที อีหทางหนึ่งคือหากิจกรรมเล็ก ๆ ที่สามารถทำได้ขณะขับรถ เช่น การเคี้ยวหมากฝรั่ง ร้องเพลง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการง่วงงุน

ทั้งนี้ ตามประมวลฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก 2522 ระบุว่า ผู้ขับขี่รถขณะร่างกาย หรือจิตใจหย่อนความสามารถมีความผิดตาม ม.103 บทลงโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

3. ไม่ขับรถเร็ว

วิธีการหลีกเลี่ยงไม่ขับรถจะสามารถลดอัตราาการเกิดอุบัติเหตุจาความประมาทได้ ซึ่งในปัจจุบันหากผู้ขับขี่เพิ่มอัตราความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทั้ง พ.ร.บ. จราจรและ พ.ร.บ. ทางหลวงได้เพิ่มโทษให้สูงขึ้นเป็น 10,000 บาท

4. คาดเข็มขัดนิรภัย และสวมหมวกกันน็อคเสมอ

ข้อปฏิบัติพื้นฐานในเรื่องความปลอดภัย ทุกครั้งก่อนการขับขี่ยานพาหนาทุกชนิดควรคาดเข็มขัดนิรภัยและการสวมหมวกกันน็อค เนื่องจากจะช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บให้น้อยลง

ทั้งนี้ หากผู้ใดพบเห็นอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ตามเบอร์ติดต่อ ดังนี้

เบอร์ฉุกเฉินเหตุด่วนเหตุร้าย

  • 191 ติดต่อแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจ
  • 192 ภัยพิบัติแห่งชาติ
  • 199 ศูนย์วิทยุพระราม เพื่อแจ้งอัคคีภัย/สัตว์ร้ายบุกรุกบ้าน
  • 1418 มูลนิธิปอเต๊กตึ๊ง กทม.
  • 1155 ตำรวจท่องเที่ยว (สายด่วนเหตุร้ายที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว)
  • 1192 ศูนย์ปราบขโมยรถ (สตช.)
  • 1193 ตำรวจทางหลวง
  • 1195 กองปราบ (สายด่วนแจ้งเหตุอาชญากรรม คดีร้ายแรงเป็นภัยต่อประเทศ)
  • 1555 ศูนย์ร้องทุกข์กรุงเทพฯ (หน่วยประสานงานกลางเหตุฉุกเฉินในกรุงเทพฯ)
  • 1300 ศูนย์ประชาบดี เพื่อแจ้งบุคคลสูญหาย

เบอร์โทรฉุกเฉินเกี่ยวกับการเดินทาง

  • 1137 วิทยุ จส.100 (เบอร์โทรฉุกเฉินแจ้งเหตุด่วนบนท้องเพื่อประสานงานต่อ)
  • 1146 กรมทางหลวงชนบท (ติดต่อเรื่องท้องถนนเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัด)
  • 1197 ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจรตำรวจ
  • 1644 สวพ. FM91 (รายงานสภาพจราจรและแจ้งเหตุด่วนบนท้องถนน)
  • 1356 ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม (ศูนย์ประสานภารกิจด้านความปลอดภัยระบบการขนส่ง)
  • 1690 การรถไฟแห่งประเทศไทย (สอบถามสายรถไฟ ตั๋ว และอื่น ๆ )
  • 1584 กรมการขนส่งทางบก
  • 1586 สายด่วนกรมทางหลวง
  • 1543 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
  • 1677 วิทยุร่วมด้วยช่วยกัน (เครือข่ายอาสาสมัคร)
  • 1490 บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)

สุดท้ายนี้ วิธีการหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่สามารถทำได้ง่ายและเกิดผลดีที่สุดก็คือ การรักษาความปลอดภัยของตนเอง คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของตนและคนรอบข้างเป็นสำคัญ หากผู้ขับขี่ปฏิบัติได้เช่นนี้ก็สามารถลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้ไม่น้อย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button