สังคม/เศรษฐกิจ
บิ๊กตู่ ออกไอเดีย พิจารณาดึงเงินประกันสังคมปล่อยกู้

บิ๊กตู่ ออกไอเดีย พิจารณาดึงเงินประกันสังคมปล่อยกู้
เงินประกันสังคม – วันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ นร.0505/ว 459 เรื่องข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี แจ้งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี กระทรวง และกรม ระบุว่าด้วยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการ ดังนี้
ด้านการบริหารราชการแผ่นดินและอื่นๆ
1.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) เร่งรัดการขึ้นทะเบียนผู้ทำการประมงให้ครบถ้วนทุกกลุ่ม รวมทั้งรวบรวมและบริหารจัดการข้อมูลทะเบียนผู้ทำการประมงให้เป็นปัจจุบันเพื่อประโยชน์ในการพิจารณากำหนดแนวทางและมาตรการในการดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ทำการประมงให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2.ให้กระทรวงแรงงาน (สำนักงานประกันสังคม) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดแนวทางและมาตรการในการบริหารจัดการเงินกองทุนประกันสังคมให้เกิดประโยชน์และตอบสนองแก่ความต้องการของผู้ประกันตนได้มากยิ่งขึ้น เช่น การกู้ยืมเพื่อการลงทุน หรือการกู้ยืมเพื่อรายจ่ายจำเป็นอื่นๆ
ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีข้างต้นใช้เป็นแนวทางในการบริหารราชการให้เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้น ในขั้นตอนการปฏิบัติ หน่วยงานจะต้องดำเนินการโดยยึดถือกฎหมาย ระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก
ติดตามข่าวสารจาก The Thaiger ได้ทางเฟซบุ๊ก.สังคม/เศรษฐกิจ
เฮลั่นทั่งประเทศ วันนี้ คลังคืน VAT 5% มาตรการ “ช้อปช่วยชาติช่วงตรุษจีน 62”

กรมบัญชีกลางเตรียมจ่ายเงินชดเชย VAT 5% จากมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการและการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วงระหว่างวันที่ 1–15 ก.พ.62 ให้ผู้มีสิทธิ์จำนวน 6,918 ราย จำนวนเงินกว่า 7 แสนบาท ในวันที่ 29 พ.ย.62
ข่าวทำเนียบรัฐบาล รายงาน วันที่ 29 พ.ย. นางสาววิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่ กระทรวงการคลังได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการและการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือมาตรการ “ช้อปช่วยชาติช่วงตรุษจีน” โดยประชาชนที่สนใจได้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ ผ่านทางเว็บไซต์ www.epayment.go.th เมื่อช่วงวันที่ 1-15 ก.พ. 62 ที่ผ่านมา ซึ่งจะได้รับเงินชดเชย 5% จากมูลค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ชำระเพื่อซื้อสินค้าและบริการ นับตั้งแต่วันที่ได้มีการลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ จนถึงวันที่ 15 ก.พ. 62 โดยจะได้คืนเงินสูงสุดไม่เกินคนละ 1,000 บาท ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562
“ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ตรวจสอบข้อมูลและได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อเตรียมจ่ายให้กับผู้มีสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีผู้มีสิทธิ์ผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินกลางที่ใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน (ระบบพร้อมเพย์) ในวันที่ 29 พ.ย. 62 เป็นเงิน 705,440.96 บาท ซึ่งมีผู้ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการ มีจำนวน 6,918 ราย โดยผู้ที่ได้รับสิทธิ์สามารถตรวจสอบจำนวนเงินชดเชยภาษี (VAT) ที่ตนเองได้รับจากบัญชีธนาคารที่ได้ลงทะเบียนไว้” โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าว
ติดตามข่าวสารจาก The Thaiger ได้ทางเฟซบุ๊ก.สังคม/เศรษฐกิจ
พิชัย แนะ รัฐบาล 7 ข้อ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ

พิชัย แนะ รัฐบาล 7 ข้อ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ
วันที่ 27 พ.ย. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยที่กำลังทรุดหนัก แต่ดูเหมือนว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นเพียงมาตราการระยะสั้น อีกทั้งเกรงว่าจะไม่เพียงพอที่จะฟื้นสภาวะเศรษฐกิจของไทยที่กำลังย่ำแย่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจไทยที่ทรุดหนัก เป็นผลมาจากการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดมาตลอด 5 ปี และยังมีแนวโน้มที่จะทรุดหนักลงไปอีก จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะมาซ้ำเติม
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ได้มีการรับมือเตรียมพร้อมให้ดี คิดเพียงการแจกเงิน แม้จะถูกท้วงติงว่าจะไม่เกิดประโยชน์ แต่รัฐบาลยังคงดื้อรั้น ซึ่งผลจากจีดีพีที่ตกต่ำแสดงชัดเจนถึงความล้มเหลวของการแจกเงินสะเปะสะปะโดยประเทศไม่ได้พัฒนา และเมื่อรัฐบาลแจกเงินจนหมดกระสุนแล้ว ก็ยังไม่มีแนวทางที่จะพัฒนาต่อ ขนาดประชุม ครม. เศรษฐกิจ ยังไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาใดๆ ออกมา แถมยังต้องไปถามข้าราชการประจำ ซึ่งแสดงว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้หมดสภาพแล้ว การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดดังกล่าว จึงดูเหมือนจะเป็นแนวคิดของข้าราชการประจำ เป็นเสมือนยาแก้ปวดที่บรรเทาอาการชั่วคราว แต่ไม่สามารถจะรักษาอาการป่วยหนักของประเทศได้
ดังนั้น เมื่อทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลคิดอะไรไม่ออกแล้ว จึงอยากขอเสนอแนวทางการแก้ไขเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน 7 แนวทางดังนี้
1. รัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ และเลิกโกหกประชาชน ยิ่งรัฐบาลปฏิเสธความจริงก็จะยิ่งแก้ปัญหาไม่ได้ การยอมรับปัญหาจะช่วยให้รัฐบาลหาทางแก้ไข และควรชี้แจงกับประชาชนเรื่อยๆว่าได้แก้ไขเรื่องอะไรบ้าง เพราะปัจจุบันประชาชนไม่ทราบเลยว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลทำอะไรบ้าง นอกจากแจกเงินสะเปะสะปะไปวันๆแล้วไม่ได้ผลอะไรเท่านั้น การโกหกยังทำให้คนที่เชื่อรัฐบาลต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจถึงขั้นล้มละลายเพราะไม่ได้เตรียมรับมือเศรษฐกิจที่ย่ำแย่
2. การเร่งการเจรจาการค้า ทั้งทวิภาคี และ พหุภาคี โดยนับเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่รัฐบาลจากการปฏิวัติไม่สามารถเจรจาเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆได้ เพราะกฏหมายของหลายประเทศบังคับไม่ให้เจรจากับประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อเลือกตั้งแล้ว แม้รัฐบาลจะมาแบบแปลกๆ แต่ก็ควรใช้โอกาสนึ้ในการเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี ทั้งทวิภาคี และ พหุภาคี จะไปรอเพียง RCEP อย่างเดียวไม่ได้ การเจรจาเขตการค้าเสรีจะช่วยทำให้การส่งออกและการลงทุนของไทยดีขึ้น มิเช่นนั้นปีหน้าเมื่อสหรัฐตัดจีเอสพีไทยจะเริ่มถูกนำมาใช้ การส่งออกไทยจะยิ่งลดลงอีก และ เรื่องจีเอสพีนี้ก็เช่นกัน อยากให้รัฐบาลไทยเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เมื่อสหรัฐตัดจีเอสพีไทย แทนที่ไทยจะร้องครวญคราง หรือ แก้ตัวว่าเพราะไทยพัฒนาแล้ว ทั้งๆที่คนจะจนตายกันหมดแล้ว รัฐบาลควรถือโอกาสนี้เปิดเจรจาเขตการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) กับสหรัฐเลย จะแลกเปลี่ยนหรือจะขออะไรก็ทำกันทีเดียว จะได้ไม่ต้องมาเป็นปัญหากันอีกเมื่อจะถูกตัดจีเอสพี การเจรจาทวิภาคีสามารถทำได้ทันทีกับประเทศคู่ค้าสำคัญทุกประเทศ และควรต้องเร่งดำเนินการ แทนที่จะปล่อยเฉยหลังจากเจรจาไม่ได้มา 5 ปีของการปฏิวัติ
3. ทำเงินบาทให้อ่อนค่าลง เพื่อให้ราคาสินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ อีกทั้งยังช่วยการท่องเที่ยวของไทยที่เริ่มเหี่ยวเฉาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ในขณะที่ค่าเงินของนักท่องเที่ยวอ่อนค่าลง ทำให้การมาเที่ยวไทยแพงขึ้นมากถึงสองเด้ง ซึ่งรัฐบาลต้องกำชับแบงก์ชาติให้ดำเนินการโดยด่วน หากทำไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ หากปล่อยค่าเงินบาทให้แข็งค่า ทั้งๆที่เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ เติบโตต่ำ ไม่สมเหตุสมผล โดยไทยสามารถอธิบายเหตุผลกับประเทศต่างๆถึงการที่บาทจะอ่อนค่าได้ ขนาดประธานาธิบดีสหรัฐยังตำหนิ ประธานธนาคารกลางของสหรัฐถึงขนาดเรียกว่าเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของสหรัฐเลย เมื่อธนาคารกลางของสหรัฐไม่ลดดอกเบี้ยและค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐแข็งค่าเกินไป ซึ่งรัฐบาลควรดูเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าแบบยาวนานเหมือนคนไม่รู้เรื่องเช่นนี้
4. รัฐบาลต้องเร่งทุ่มเงินจำนวนมากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆเพื่อปรับปรุงและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของไทยที่เริ่มถดถอยมาตลอด ทั้งนี้ไม่ใช่แจกเงินสะเปะสะปะเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจของไทยจะย่ำแย่ การค้าขายฝืดเคือง ประชาชนลำบากกันอย่างมาก แต่ฐานะการเงินการคลังของประเทศไทยยังแข็งแกร่ง มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในระดับสูง และยังคงมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระดับต่ำเพียง 40% กว่าเท่านั้น การทุ่มงบประมาณจำนวนมากของภาครัฐเพื่อพัฒนาประเทศในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เป็นเรื่องที่ควรทำและต้องทำ แต่ต้องพัฒนาความคิดให้มีการลงทุนในโครงการที่เกิดประโยชน์จริงๆ โดยจะต้องมุ่งเน้นการนำไปสู่การสร้างงาน และ การจ้างงานที่ถาวรในอนาคต เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการว่างงานอย่างมากในปีหน้า
5. ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ โดยการลดราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท จากการลดการเก็บภาษึสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่เก็บอยู่ถึงลิตรละ 5.99 บาทในปัจจุบัน ที่ในอดีตไม่ได้เก็บ และลดราคาเบนซินลิตรละ 2 บาท จากการลดการเก็บภาษีสรรพสามิตเช่นกัน การลดราคาดีเซลจะช่วยทำให้ค่าขนส่งสินค้าลดลงด้วย นอกจากนี้ จากรัฐบาลควรช่วยลดค่าเดินทางของประชาชน โดยลดค่าบริการขนส่งสาธารณะลง ซึ่งผลสำรวจบอกค่าเดินทางเป็นค่าใช่จ่ายหลักของประชาชน ดังนั้นการลดค่าเดินทางจะช่วยได้มาก อีกทั้ง การให้ใช้น้ำประปาฟรี ไฟฟ้าฟรี ในปริมาณที่จำกัดเพื่อให้ประหยัดการใช้ ก็ควรถูกนำมาช่วยเหลือประชาชนอีกครั้งในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้
6. เพิ่มรายได้ประชาชน จากการเร่งสร้างธุรกิจด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ระดับยูนิคอร์น โดยสนับสนุนและเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากเพื่อเพิ่มรายได้ บริษัทเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศกลุ่มอาเซียนเกือบทุกประเทศยกเว้นไทย ซึ่งทำให้มีการจ้างงานและช่วยประชาชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการต่อยอดทางธุรกิจในอนาคตด้วย การแก้กฏหมายที่เป็นอุปสรรคต้องเร่งดำเนินการ
7. เร่งสร้างความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยการมี Rule of Law ที่ชัดเจน อะไรที่เคยทำในสมัยเผด็จการแล้วไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก ก็ต้องเลิกทำอย่างเด็ดขาดแล้ว รัฐมนตรึคนไหนมีปัญหาภาพลักษณ์ในสายตาของประชาชนและในสายตาของนานาชาติ ก็ควรจะต้องปรับเปลี่ยนออกไป การบังคับใช้กฏหมายต้องเป็นธรรม ทั่วถึง และ โปร่งใส ทั้งนี้ต้องรวมถึงการบังคับใช้กฏหมายขององค์กรอิสระด้วย
นี่เป็นเพียง 7 เรื่องแรกที่รัฐบาลควรต้องเร่งดำเนินการเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และแก้ไขจุดอ่อนของรัฐบาลตั้งแต่ในอดีต ซึ่งยังคงมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ และหวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจและเร่งดำเนินการ
นอกจากนี้ยังอยากขอแนะนำ ธุรกิจในภาคเอกชนว่าจะต้องรีบปรับตัวรองรับคลื่นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะถาโถมเข้ามา แม้ว่าธุรกิจปัจจุบันยังดีและมั่นคง แต่อาจจะถูก disrupt ได้ง่ายๆเลยจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้นจึงอยากให้เปิดหูเปิดตาให้กว้างเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก และต้องเปลี่ยนก่อนที่จำเป็น (Change before you have to) เพราะถ้าหากรอถึงคราวจำเป็นอาจจะสายไปแล้ว และหากธุรกิจใดคิดว่ากำลังจะถูก disrupt ก็ต้องเปลี่ยนตัวเองก่อนโดน disrupt โดยหากธุรกิจใดเริ่มย่ำแย่แล้วก็ควรจะเลิกกิจการเลย แล้วหาช่องทางทำธุรกิจใหม่ อย่าทู่ซี้ เพราะโลกยุคใหม่ไม่เหมือนยุคเก่าแล้ว การประคองเพื่อหวังฟื้นอาจจะเป็นไปได้ยาก การเริ่มต้นธุรกิจใหม่อาจจะมีอนาคตมากกว่า ทั้งนี้ต้องประเมินธุรกิจของตนให้ชัดเจน
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับคลื่นของการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของโลกที่กำลังถาโถมาเข้ามาตามที่ได้เคยเตือนล่วงหน้ามานานแล้ว ประชาชนทุกฝ่ายต้องเตรียมตัวให้พร้อม โดยเฉพาะรัฐบาล หากรู้ว่าตัวเองไม่พร้อมก็ต้องเร่งปรับปรุงตัว หรือไม่ก็ต้องหาคนที่มีความพร้อมมากกว่าเข้ามาทำงานแทน เพื่อให้ประเทศไทยปรับตัวและพัฒนาต่อไปได้ ไม่ตกยุค หรือ ถูก disrupt ในระยะเวลาอันรวดเร็วนี้
ติดตามข่าวสารจาก The Thaiger ได้ทางเฟซบุ๊ก.สังคม/เศรษฐกิจ
ก.อุตสาหกรรมโว ยอดขอลงทุนตั้งโรงงานในไทย 4.45 แสนล้าน เติบโตสวนเศรษฐกิจโลก

โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เผย 11 เดือน ยอดขอลงทุนตั้งโรงงานในไทย 4.45 แสนล้าน โตสวนทางเศรษฐกิจโลกซบเซา
ข่าวทำเนียบรัฐบาล รายงาน นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 21 พ.ย. 62 มีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการและขยายกิจการรวม 3,950 แห่ง มีการจ้างงานใหม่ 178,733 คน และมูลค่าลงทุนรวม 445,025 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการสูงสุด ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 490 โรงงาน มีการจ้างงานใหม่ 33,971 คน มูลค่าการลงทุน 52,033 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มพลาสติก 425 โรงงาน จ้างงานใหม่ 15,735 คน วงเงินลงทุน 23,351 ล้านบาท, กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน 340 โรงงาน จ้างงานใหม่ 15,015 คน วงเงินลงทุน 27,547 ล้านบาท, กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 327 โรงงาน จ้างงานใหม่ 10,339 คน วงเงินลงทุน 87,631 ล้านบาท และ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า 92 โรงงาน จ้างงานใหม่ 19,819 คน วงเงินลงทุน 30,322 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนของมูลค่าการลงทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการและขยายกิจการสูงถึง 445,025 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 37.94% ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่สูงมาก แสดงให้เห็นว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นประเทศไทย และเชื่อมั่นนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ผลักดันส่งเสริมการลงทุนในด้านต่าง ๆ รวมถึงการนำผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ โรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนในต่างประเทศอยู่เสมอ แม้ว่าทั่วโลกจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวก็ตาม โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่รัฐบาลให้การส่งเสริม และหากโรงงานเริ่มประกอบกิจการก็จะส่งผลให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในไทยเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
“แม้ทั่วโลกจะเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่นักลงทุนก็ยังลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นนโยบายของรัฐบาล ขณะเดียวกันในส่วนของการจ้างงานใหม่เพิ่ม 178,733 คน แบ่งเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการใหม่ 2,975 โรงงาน มีการจ้างแรงงานใหม่ 87,748 คน และโรงงานเดิมที่มีการขยายกิจการอีก 90,985 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าโรงงานขอปิดกิจการที่มีจำนวน 1,480 โรงงาน และการเลิกจ้างงานที่มีกว่า 37,263 คน หรือความต้องการแรงงานใหม่ในภาคอุตสาหกรรมมากกว่าแรงงานที่ถูกเลิกจ้างถึง 141,470 คน ดังนั้นขอให้แรงงานใหม่และผู้ที่ว่างงาน มั่นใจว่าโรงงานที่เปิดใหม่ และโรงงานเดิมที่ขยายกิจการจะสามารถรองรับแรงงานที่ต้องการทำงานได้อีกจำนวนมาก” โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
นางสาวสุชาดา กล่าวต่อว่า จากข้อมูลตัวเลขสถานการณ์เปิดโรงงานใหม่ การปิดกิจการ และการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตัวเลขการลงทุนที่เป็นไปในทิศทางที่สูงขึ้น จากจำนวนการเปิดโรงงานใหม่ที่มีมากกว่าการปิดกิจการโรงงานสูงถึง 101% และเงินลงทุนในปี2562 ที่มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 37.94 %
ขณะเดียวกัน ทางด้านสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปัจจุบันพบว่า ภาคอุตาสหกรรมได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์, การส่งออกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง, การบริโภคในประเทศเริ่มชะลอตัวมาตั้งแต่เดือนพ.ค. 62 และผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของค่าเงินบาท ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีแนวทาง และมาตรการที่เร่งด่วนทั้งระยะสั้นและระยะกลาง เพื่อกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมไทย โดยระยะสั้นเร่งด่วน 4 ด้าน คือภาครัฐต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ, การกำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศสำหรับโครงการภาครัฐ, การเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจ, การดูแลสถานการณ์ค่าเงินเพื่อให้สินค้าและบริการของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลก
ส่วนมาตรการระยะกลางที่จะช่วยเพิ่มเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยแบ่งออกเป็น 6 ด้านประกอบด้วย 1.การเร่งผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมศักยภาพ (S-Curve) 2.การเร่งส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพ เช่น Bio Economy และ Circular Economy เป็นต้น 3.การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมรวมถึงการใช้ระบบอัตโนมัติในการผลิต เพื่อเพิ่มผลิตภาพและขีดความสามารถ 4.การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่และบรรเทาการว่างงาน 5.มาตรการจูงใจให้ผู้ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนเริ่มลงทุนจริงในปี63 และ 6.ผู้ประกอบการปรับตัวโดยการเพิ่มผลิตภาพ ลดค่าใช้จ่าย และควรพิจารณาเพิ่มการลงทุนในกรณีที่มีสภาพคล่อง อีกด้วย
ติดตามข่าวสารจาก The Thaiger ได้ทางเฟซบุ๊ก.- สมาร์ทโฟน2 days ago
Xiaomi Mi Note 10 สเปคดี กล้องเทพ 108 ล้านพิกเซล แบตอึด ชาร์จไว
- ข่าวไทย4 days ago
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดือนธันวาคม 2562 เงินเข้าวันไหน ได้สิทธิไรบ้าง เช็กด่วนๆ
- วอลเลย์บอล4 days ago
2 ธ.ค. ถ่ายทอดสดวอลเลย์บอลชาย ไทย-สิงคโปร์ ซีเกมส์ 2019
- ข่าว4 days ago
เลขเด็ดมนต์สิทธิ์ โคตรแม่น 81 ขึ้นเลขท้าย 2 ตัวตรง ๆ
- ทีมชาติไทย3 days ago
3 ธ.ค. ถ่ายทอดสด ฟุตบอลซีเกมส์ ไทย พบ ลาว – ลิงค์ดูบอลสด ช่อง 7 HD
- ทีมชาติไทย4 days ago
ผ่อนครึ่งหลัง! ไฮไลท์บอลซีเกมส์ ไทย 3-0 สิงคโปร์ – ศุภณัฏฐ์ อย่างแจ่ม ยิง 1 จ่าย 1
- บันเทิง3 days ago
ฟ้าใส ปวีณสุดา ถูกยกเป็นตัวเต็ง Miss Universe 2019 เกือบทุกโพล
- ทีมชาติไทย4 days ago
2 ธ.ค. รายงานสด ฟุตบอลหญิงซีเกมส์ ไทย พบ อินโดนีเซีย