ข่าว

เพจดังประกาศเตือน โรคพิษสุนัขบ้า ระบาดหนักในภาคใต้ แนะพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดยา

เพจดังโพสต์เตือนประชาชน โรคพิษสุนัขบ้า ระบาดหนักในภาคใต้ แนะพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดยา หากถูกกัดรีบพบแพทย์ เช็กอาการและวิธีป้องกันเบื้องต้น

สืบเนื่องจากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าระบาด วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict หรือจ่าพิชิต ขจัดพาลชน ได้ออกมาโพสต์ข้อความเตือนประชาชนเกี่ยวกับพิษสุนัขระบาดหนักในพื้นที่ภาคใต้ ระบุว่า

“ตอนนี้พิษสุนัขบ้าระบาดหนักในภาคใต้ มีเคสสัตว์ติดเชื้อแทบทุกวัน ใครมีสัตว์เลี้ยงที่บ้าน พาไปฉีดวัคซีนด้วย ถ้าถูกกัด/เลียรีบหาหมอ”

ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ตอนบน ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า พบโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขพันธุ์ผสม เพศเมีย อายุประมาณ 1 ปี (66J18039) ซึ่งอาศัยอยู่ภายในสำนักสงฆ์ท่าช้าง หมู่ที่ 2 ตำบลบาโหย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา พื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร รอบจุดเกิดโรค ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดยะลา โดยมีคลองเทพาเป็นเขตแดนธรรมชาติ

สุนัขแสดงอาการดุร้าย ไล่กัดคนและสัตว์ระหว่างวันที่ 9 – 10 พฤศจิกายน 2566 โดยพบผู้ถูกสุนัขตัวนี้กัดอย่างน้อย 4 ราย และมีสัตว์ถูกกัดอย่างน้อย 5 ตัว

อาการและวิธีป้องกัน

ในช่วงที่โรคพิษสุนัขบ้าระบาด ประชาชนสามารถสังเกตอาการและวิธีป้องกันโรคได้ โดยข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ระบุว่า โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อในระบบประสาทจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสู่คน เช่น สุนัข แมว ค้างคาว วัว ลิง เป็นต้น สามารถติดต่อโดยการข่วน กัด หรือถูกเลียบริเวณที่มีบาดแผล

หลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะแสดงอาการป่วยประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน ปรากฏอาการ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเริ่มต้น จะมีอาการป่วยทั่วไป เช่น เป็นไข้ ปวดหัว ตัวร้อน ระยะนี้มีอาการประมาณ 2 – 10 วัน ระยะต่อมาคือ ระยะที่มีอาการทางสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย เจ็บหรือคันบริเวณที่ถูกกัด ระยะนี้มีอาการประมาณ 2 – 7 วัน และระยะท้าย ผู้ป่วยจะมีภาวะหัวใจล้มเหลว

สำหรับวิธีการป้องกัน หากท่านใดที่มีสัตว์เลี้ยง ควรพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนดเป็นประจำทุกปี ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง และหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกสัตว์กัด โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต เนื่องจากยังไม่มีวิธีรักษาในปัจจุบัน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ และควรป้องกันไม่ให้ถูกสัตว์กัด เพื่อความปลอดภัย

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button