ข่าว

‘อนุทิน’ เล็งรื้อวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง-จริยธรรมศึกษา ลดความรุนแรงนักเรียน

อนุทิน ตอบสื่อเล็งรื้อวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองและจริยธรรมศึกษา บรรจุเป็นหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยหวังช่วยลดความรุนแรงในนักเรียนปัจจุบัน

วิชาหน้าที่พลเมืองและจริยธรรมศึกษา ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ภายหลังจากวันนี้ (14 พ.ย.66) TV5HD Online ได้รายงานบทสัทมภาษณ์ของนายอุนทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับแนวทางการทำงานของ 4 กระทรวงที่ทางพรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีหน้าที่รับผิดชอบอยู่

โดยช่วงหนึ่ง นายอนุทิน กล่าวว่า ตนเองได้รับรายงานจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งเสนอให้วิชาประวัติศาตร์ หน้าที่พลเมือง และจริยธรรมศึกษา ควรนำกลับเข้ามาในหลักสูตร เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เด็กตั้งแต่ชั้นประถมศึกษามีความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทยว่าเคยผ่านอะไรมาบ้าง

ทั้งนี้ ประด็นดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก วานนี้ (13 พ.ย.66) ที่อนุทินได้ไปเยี่ยมกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แล้วทางสื่อมวลชนได้ถามถึงแนวทางลดความรุนแรงให้นักเรียนและนักศึกษาอยู่ในระเบียบวินัยมากขึ้นนั้น จะใช้วิธีการอย่างไร ? ซึ่งวันนี้ (14 พ.ย.) รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทยก็ได้เน้นย้ำว่า อาจะต้องมีการดึงวิชาดังกล่าวนำมาใส่ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดความรุนแรงที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงยังเป็นการปลูกฝังความรัก ความสามัคคีในชาติที่มีร่วมกันด้วย.

ย้อนดู สพฐ. เคยแจง 4 วิชา ยังคงมีการเรียนการสอน

อ้างอิงข้อมูลจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจไทยคู่ฟ้าของรัฐบาล ได้ลงเผยแพร่ข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ไว้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยระบุ 4 วิชา “พระพุทธศาสนา – หน้าที่พลเมือง – ศีลธรรม -ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ยังคงมีการเรียนการสอน

สพฐ. เปิดเผยในครั้งนั้นว่าได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ป.1- ม.6) มาตั้งแต่ปี 51 จนถึงปัจจุบัน และได้ปรับปรุงตัวชี้วัด ปี 60 ซึ่งเนื้อหาคงเดิม แต่ปรับความสอดคล้องในกลุ่มสาระฯ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

โดยในปี 52 ได้จัดให้ วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐานและยังกำหนดให้มีการจัดการเรียนการสอน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ส่วนการกำหนดเวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

  • ระดับชั้น ป.1-6 จำนวน 120 ชั่วโมงต่อปี
  • ระดับชั้น ม.1-3 จำนวน 160 ชั่วโมงต่อปี
  • ระดับชั้น ม.4-6 จำนวน 320 ชั่วโมงต่อปี

ต่อมาในปี 65 ได้มีการประกาศ “จุดเน้น 8+1” คือ การจัดการเรียนการสอน 8 กลุ่มสาระฯ และ 1 รายวิชาประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน มุ่งเน้นวิธีสอนให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ ผ่านการจัดกิจกรรมและสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายผ่านเทคโนโลยี เน้นการใช้แหล่งการเรียนรู้ในชุมชน เป็นการปรับกิจกรรมเพิ่มเติมให้มีความน่าสนใจ ดำเนินการบูรณาการการเรียนการสอน กับแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ แหล่งเรียนรู้ชุมชน ร่วมกับเครือข่าย บ้าน วัด โรงเรียน ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้นักเรียนได้ตระหนัก ได้คิด และลงมือปฏิบัติ จนเกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่า ตลอดจนสามารถเพิ่มมูลค่าสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตนเอง.

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button