รู้จัก ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปริญญาเชิดชูความดีแห่งผู้มีเกียรติ
ป.ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปริญญาเชิดชูชั้นที่ 3 เทียบเท่าปริญญาเอกในปริญญากิตติมศักดิ์ สำหรับมอบให้แก่ผู้ทำคุณงามความดีอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน
ปริญญากิตติมศักดิ์ (Honorary Degree) มอบโดยมหาวิทยาลัยที่เล็งเห็นบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในองค์ความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ รวมถึงสูงส่งไปด้วยคุณธรรมอันดี จะเป็นการประกาศยกย่องเกียรติคุณของบุคคล สถาบัน หรือองค์กรก็ได้ มีทั้งหมด 3 ชั้น ได้แก่ ปริญญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทียบเท่าปริญญาตรี) ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทียบเท่าปริญญาโท) และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทียบเท่าปริญญาเอก)
ปริญญากิตติมศักดิ์คืออะไร ปริญญาที่ไม่ต้องเรียนก็รับได้
ปริญญากิตติมศักดิ์ หรือ Honorary degree มีรากศัพท์จากคำละติน honoris causa ad gradum แปลว่าให้ปริญญากิตติมศักดิ์ กล่าวคือ เป็นปริญญาที่สถาบันอุดมศึกษามอบให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษา หรือบุคคลที่มีความรู้ความสามารถตามที่สถาบันอุดมศึกษากำหนด
ส่วนเกณฑ์การมอบเป็นสิทธิและขอบเขตอำนาจที่สถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยเห็นชอบ โดยมีหลักคิดสำคัญว่าผู้ที่ได้รับจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญตามสาขาวิชาที่จะมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้ ผลงานต้องเป็นที่ยอมรับของผู้คนในวงกว้าง อาจพิจารณาตามระดับคุณธรรมจริยธรรมของบุคคลนั้นที่ปฏิบัติต่อสถาบันหรือประเทศชาติแม้ผู้นั้นไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันหรือศึกษาเล่าเรียนจากสาขานั้นโดยตรง ทั้งนี้อาจเป็นผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์หรือคนธรรมดาก็ได้
ประเภทและระดับชั้นของปริญญากิตติมศักดิ์
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแบ่งปริญญากิตติมศักดิ์ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ปริญญากิตติมศักดิ์ประเภททั่วไป สำหรับบุคคลธรรมดาผู้ใช้ความรู้ ความดี ความสามารถในสาขาวิชานั้นสร้างชื่อเสียงให้แก่มวลมนุษยชาติ อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นสำหรับสถาบันศึกษาหรือมหาวิทยาลัยเอกชนที่สามารถมอบปริญญากิตติมศักดิ์ได้เฉพาะสาขาวิชาวิทยาศาสตร์หรือสาขาวิชาศิลปศาสตร์เท่านั้น
2) ปริญญากิตติมศักดิ์ประเภทวิชาการ สำหรับนักวิชาการที่มีผลงานทรงคุณค่าเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการสาขานั้น เทียบเท่าผลงานของผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก
ระดับชั้นของปริญญากิตติมศักดิ์มี 3 ชั้น ดังนี้
1. ปริญญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทียบเท่าปริญญาตรี)
2.ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทียบเท่าปริญญาโท)
3.ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทียบเท่าปริญญาเอก)
ตัวอย่างผู้ที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์
กรณีบุคคลธรรมดา มหาวิทยาลัยรามคำแหงมอบปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขารัฐศาสตร์ให้แก่ นางไฮ ขันจันทา หรือ ยายไฮ จากการเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในที่ดินทำกินตลอดระยะเวลา 32 ปี จนได้รับการยกย่องจากมวลชนและแวดวงการศึกษา
เช่นเดียวกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นสามัญชนไทยคนแรกที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในสาขาสาธารณสุขศาสตร์ จากสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ด้วยนโยบายพัฒนาระบบปฐมภูมิให้คนไทย 1 คนมีหมอ 3 คนดูแลประจำตัว ได้แก่ อสม. หมออนามัย และหมอครอบครัว ส่งเสริมรายได้ให้ประชาชนด้วยพืชสมุนไพรกัญชากันชง ผลักดันเทคโนโลยีทางการแพทย์และการสาธารณสุขให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ
กรณีนักวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมอบปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม จากการเป็นอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานิติศาสตร์ ซึ่งมีผลงานการสอนและงานวิจัยเป็นที่ยอมรับจำนวนมาก
ขอบคุณข้อมูลจาก : 1