อ.เจษฎา อธิบายภาพแสงสว่างรอบศีรษะ ไม่ใช่ออร่าแห่งธรรม แต่เป็นสิ่งนี้
อ.เจษฎา อธิบายภาพแสงสว่างรอบศีรษะ ไม่ใช่ออร่าแห่งธรรม หลังจากที่มีภาพอาจารย์น้องไนซ์และพระสงฆ์มีแสงสว่างรอบศีรษะ ชี้เป็นเพราะสิ่งนี้ต่างหาก
จากกรณีที่ ผู้ใช้เฟซบุ๊กแชร์ภาพของพระสงฆ์ถ่ายคู่กับอาจารย์น้องไนซ์ ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็นร่างอวตารขององค์เพชรภัทรนาคานาคราชลงมาจุติ ก่อนที่ในภาพถ่ายนั้นจะมีแสงเปล่งออกมารอบศีรษะ ซึ่งศิษย์ต่างยกย่องว่าเป็นแสงออร่าแห่งธรรมนั้น
ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ อธิบายปรากฎการณ์นี้ผ่านเฟซบุ๊กว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยระบุว่า “”halo portrait ภาพถ่ายบุคคล มีแสงรอบศีรษะ” เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
มีการแชร์ภาพบุคคล เป็นพระสงฆ์และเด็กผู้ชายที่เหมือนกับมีแสงสว่างสีขาว เรืองอยู่รอบศีรษะ เหมือนกับมีแสงออร่าออกมาอย่างน่าอัศจรรย์ !?
แต่จริงๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรมากครับ เป็นผลจากเรื่องของการถ่ายย้อนแสง ที่มาจากด้านหลังของบุคคลนั้น ทำให้เห็นเป็นเหมือนวงแหวนแสง หรือ ฮาโล (halo) หรือเรียกว่า ภาพถ่ายแบบ halo portrait
วงแหวนฮาโล เกิดจากการฟุ้งกระจายของแสงที่มาจากด้านหลังของบุคคลนั้น (ในรูปจะเห็นแสง เข้ามาจากหน้าต่างใต้ม่านด้านหลัง) เข้าสู่รูรับแสงของกล้อง และมักเกิดเมื่อรูรับแสงเปิดกว้าง ( large aperture) และ/หรือ มีระยะชัดลึก (depth of field) ที่ตื้น
สำหรับช่างภาพมืออาชีพแล้ว สามารถจะปรับค่าของกล้องและเลนส์ เพื่อให้ได้ภาพที่ตรงตามต้องการมากขึ้น เช่น ปรับเปลี่ยนขนาดของรูรับแสง (สัมพันธ์กับการปรับค่าความเร็วชัตเตอร์) เพื่อให้แสงฮาโลนั้นมีความคมชัดมากขึ้น หรือฟุ้งขึ้นก็ได้
นอกจากนี้ การใช้กล่องไฟแบบ softbox ฉายแสงจากด้านหลัง ก็จะยิ่งทำให้แสงฮาโลนั้นนุ่มนวล และกระจายทั่วถึงรอบศีรษะมากขึ้น
และการเพิ่มแหล่งกำเนิดแสง เช่น แสงแฟลช ฉายไปที่ใบหน้าของบุคคล ก็จะช่วยให้หน้าสว่างชัดเจนขึ้น ในขณะที่ยังคงมีแสงฮาโลเป็นรัศมีรอบศีรษะอยู่
นอกจากใช้กล่องไฟแล้ว ยังอาจใช้วัสดุอื่นๆ เช่น แผ่นกระจายแสงขนาดใหญ่ , แผ่นแบ็คดรอป หรือ กำแพงสีขาวที่ผิวไม่เรียบมัน , หรือแม้แต่ก้อนเมฆสว่างๆ บนท้องฟ้า มาเป็นฉากหลังที่ช่วยในการให้แสงฟุ้งๆ จากด้านหลังได้ (แต่ควบคุมแสงยากกว่ากล่องไฟ)
แม้แต่โหมด HDR ของกล้องถ่ายรูป ยังช่วยให้เกิดภาพแสงฮาโล รอบบุคคลหรือวัตถุ ได้ด้วย โดยที่แสงจะยิ่งสว่างถ้าความเข้มของ HDR ถูกตั้งค่าไว้สูง
ใครเคยถ่ายภาพแบบนี้ได้ ลองเอามาแชร์กันดูนะครับ”