เปิดที่มาวันปีใหม่ของชาวฮินดู ดิวาลี 2566 ปีนี้ตรงกับวันไหน เช็กสถานที่บูชาพระแม่ลักษมีในกรุงเทพ ของไหว้และบทสวด พร้อมอ่านความหมายของชื่อเทศกาล และความเชื่อเทศกาลแห่งแสง
เทศกาลสำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในช่วงปลายปียังไม่หมดลงเท่านี้ เพราะยังมีอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญคือ เทศกาลดิวาลี (Diwali) หรือที่หลายคนเรียกอีกชื่อว่า ดีปาวลี (Deepavali) นับเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวอินเดียตามปฏิทินฮินดู จัดขึ้นในเดือนแห่งอัศวินันท์ หรือกฤษณปักษ์ หมายถึงช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน
เทศกาลดิวาลี ประจำปี 2566 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน
ประชาชนทั่วอินเดีย รวมถึงเนปาล ถือเอาโอกาสนี้ร่วมกันเฉลิมฉลองในเทศกาลปีใหม่ พร้อมกับบูชาพระแม่ลักษมี เทวีแห่งความงามของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพื่อยกย่องสรรเสริญ เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของพระแม่ตามความเชื่อฮินดู
เทศกาลดิวาลี 2566 ไหว้ที่ไหนได้บ้าง
สำหรับชาวไทยหรือชาวไทยเชื้อสายอินเดียท่านใดที่เป็นสายมู หรือศรัทธาในองค์พระแม่ลักษมี สามารถเตรียมของไหว้ พร้อมบทสวดบูชา เพื่อเดินทางไปไหว้ขอพรพระแม่ลักษมี ดังนี้
สถานที่บูชาพระแม่ลักษมีในกรุงเทพมหานคร
1. ห้างเกษรวิลเลจ ชั้น 4 แยกราชประสงค์ เขตปทุมวัน
2. เซ็นทรัล ลาดพร้าว เขตจตุจักร
3. วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือวัดแขก เขตบางรัก
4. วัดวิษณุ เขตสาทร
5. วัดเทพมณเฑียร เสาชิงช้า เขตพระนคร
6. วัดไผ่เงินโชตนาราม เขตบางคอแหลม
หากใครไม่สะดวกก็สามารถไหว้ที่บ้านได้เช่นกัน
ขั้นตอนการบูชาพระแม่ลักษมีที่บ้าน
หากท่านใดที่ต้องการไหว้พระแม่ลักษมีในวันดิวาลี แต่ไม่สะดวกเดินทางไปยังสถานที่บูชาตามข้างต้นได้ ก็สามารถบูชาได้เองที่บ้านหรือสถานที่ที่ตนเองสะดวก มีขั้นตอนการบูชา ดังต่อนี้
1. อัญเชิญองค์พระแม่ลักษมีลงจากแท่นบูชา ทำความสะอาด ปัดฝุ่น เช็ดด้วยผ้าผืนใหม่โดยใช้น้ำสะอาด
2. ประพรมเครื่องหอม เพื่อถวายแด่องค์พระแม่ลักษมี
3. เตรียมของไหว้ ได้แก่ น้ำสะอาด น้ำแดง น้ำนม มะพร้าวอ่อนและแก่ ดอกไม้สีเหลือง ดอกไม้สีชมพู หรือดอกบัวแดงและขาว
4. เตรียมเงินสำหรับถวายพระแม่ลักษมี
5. จุดบูชาเทียนหอม หรือถวายไฟอารตี โดยเน้นความสว่างของแสงไฟ
ผู้บูชาควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด ชำระล้างร่างกายก่อนไหว้ ไม่ควรแต่งกายด้วยชุดสีขาวหรือสีดำ โดยอาจเน้นสีสด นอกจากนี้ เงินที่ใช้ในการถวาย ควรเป็นธนบัตรใบใหม่ เมื่อไหว้แล้วให้เก็บใส่กระเป๋าเงิน เพื่อความเป็นมงคล เสริมดวงเรื่องโชคลาภ
ของไหว้พระแม่ลักษมีเทศกาลดิวาลี
ของไหว้บูชาพระแม่ลักษมีในเทศกาลดิวาลี ประจำปี 2566 จะค่อนข้างแตกต่างจากของไหว้บูชาพระแม่ลักษมีตามปกติ เนื่องจากไม่มีการไหว้ขนมอินเดีย แต่จะไหว้เฉพาะดอกไม้ น้ำ และผลไม้เท่านั้น ประกอบด้วยของไหว้ต่าง ๆ ดังนี้
1. นม 1 แก้ว
2. น้ำเปล่า 1 แก้ว
3. ดอกดาวเรือง
4. ดอกบัวสีชมพูหรือสีขาว
5. เทียน 1 คู่ สำหรับหิ้งบูชา
6. กำยาน หรือเครื่องหอมชนิดอื่น ๆ
7. ผลไม้ตามฤดูกาล
หลังจากเตรียมของไหว้แล้ว ให้ผู้บูชาชำระล้างร่างกายและแต่งตัวให้สะอาด เมื่อไหว้เสร็จแล้ว หลังจากถวายครบ 15 นาที สามารถลาของไหว้มารับประทานเพื่อความเป็นมงคลได้
บทสวดบูชาช่วงเทศกาลดิวาลี
บทสวดบูชาพระแม่ลักษมีในช่วงเทศกาลดิวาลีจะแตกต่างจากบทสวดในเทศกาลอื่น ๆ เช่นกัน โดยผู้บูชาสามารถใช้บทสวดถวายพระแม่ลักษมีตามบทสวดด้านล่างนี้
วิษณุปริเย นมัสตุภยัม นมัสตุภยัม ชัคทเต
อารัตหันตริ นมัสตุภยัม สมฤทธัม กุรุ เม สทา
นโม นมัสเต มาหานมาเย ศรีปีเฐ มุรปุชิตา
ศังชะจักรัคทาทัมเน มหาลักษมี นโมรัสตะ เต
หลังจากสวดเสร็จให้ผู้บูชาบอกชื่อและนามสกุล พร้อมกับที่อยู่ จากนั้นให้ขอพร 1 ข้อต่อครั้ง แล้วกล่าวต่อว่า โอม มหาวิษณปริเย นมัช หรือ โอม มหาลักษมี นมัช จากนั้นกราบสามครั้งเป็นอันเสร็จสิ้น
การกำหนดวันดิวาลี
เทศกาลดิวาลีในแต่ละปีจะไม่ตรงกัน เนื่องจากกำหนดวันตามปฏิทินจันทรคติ และใช้เวลาในการเฉลิมฉลองเทศกาลจำนวนทั้งสิ้น 5 วัน โดยเริ่มจากวันที่ 13 ของช่วงกาลปักษ์ หรือวันแรม 13 ค่ำแห่งเดือนจันทรคติชื่ออาศวิน (Ashvina) จนถึงวันที่สองของช่วงชุษณปักษ์ หรือวันขึ้น 2 ค่ำแห่งเดือนการติกะ (Karttika)
สำหรับเทศกาลดีปาวลี ประจำปี 2566 จะตรงกับวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2566 นอกจากนี้ในช่วงวันที่ 3 ของเทศกาลถือเป็นวันอะมาสวัสยะ ซึ่งเป็นวันที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นวันที่มืดที่สุดตามปฏิทินฮินดู และยังถือเป็นวันที่แสงสว่างเริ่มกลับมาด้วย
ความหมายของชื่อเทศกาล
เทศกาลดิวาลี อีกชื่อหนึ่งคือ ดีปาวาลี ที่มาของคำนี้มาจากสมาสคำ 2 คำ คือคำว่า “ดี” (di) หรือ “ดีป” (dee) แปลว่า ประทีป หรือแสงสว่าง และคำว่า อวลิะ (avalih) หมายถึง แถวหรือแนว เมื่อรวมกันในภาษาสันสกฤตสามารถเขียนได้ว่า ทีปาวลิะ ส่วนในภาษาฮินดีจะออกเสียงว่า ดีปาวลี
คำว่า ดีปาวลี จึงหมายถึง แถวของตะเกียง ซึ่งมาจากประทีปหรือตะเกียงดินเล็ก ๆ จำนวนมากที่ชาวอินเดียจุดไว้ แล้ววางเรียงเป็นแถวบ้านอย่างสวยงาม และนอกจากตกแต่งอาคารบ้านเรือนและสถานที่สาธารณะด้วยตะเกียงไฟแล้ว ชาวอินเดียจะทำความสะอาดบ้านในวันแรก ส่วนวันที่สองจะตกแต่งบ้านด้วยตะเกียงที่ทำจากดินเผา และประดับลวดลายรังโกรีบนพื้นบ้าน
นอกจากนี้ ชาวอินเดียจะจุดพลุหรือดอกไม้ไฟ รวมถึงแบ่งปันขนมหวานซึ่งกันและกัน เพื่อเฉลิมฉลองวันปีใหม่ตลอด 5 วัน และไหว้พระแม่ลักษมีเพื่อขอเงินทองโชคลาภอีกด้วย
เปิดที่มาชื่อเทศกาลแห่งแสงตะเกียง
เทศกาลที่เต็มไปด้วยแสงตะเกียงอย่างเทศกาลดิวาลี เป็นเทศกาลสำคัญอย่างมากสำหรับชาวอินเดีย เนื่องจากตรงกับวันปีใหม่ ทั้งยังเป็นวันบูชาพระแม่ลักษมี อีกทั้งยังมีต้นกำเนิดของเทศกาลที่หลากหลาย เนื่องจากประเทศอินเดียค่อนข้างมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ที่มาที่คนอินเดียส่วนใหญ่เห็นตรงกัน มาจากความเชื่อทางตอนเหนือของอินเดีย เนื่องด้วยหลายเทศกาลหรือกิจกรรมสำคัญของอินเดีย มักได้รับอิทธิพลจากทางเหนือมากกว่าแถบอื่น ๆ โดยอินเดียตอนเหนือเชื่อว่า เทศกาลดิวาลี มีที่มาจากมหากาพย์รามายณะ
เนื่องจากจัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการเสด็จนิวัติของพระราม (Rama) ที่มาพร้อมกับนางสีดา (Sita) พระลักษณ์ (Lakshman) และหนุมาน (Hanuman) กลับคืนสู่เมืองอโยธยา (Ayodhya) หลังจากทรงพเนจรอยู่ 14 ปี โดยรวมเวลาที่ใช้พิชิตราวณะหรือที่ตำราไทยเรียกว่า ทศกัณฐ์
ด้วยเหตุนี้ ชื่อเทศกาลจึงมีความหมายเกี่ยวกับแสง เนื่องจากความดีสามารถเอาชนะความชั่วร้ายได้ เปรียบดั่งแสงสว่างของดวงประทีปหรือตะเกียงไฟ ที่อยู่เหนือความชั่วที่เปรียบเป็นความดำมืด
ส่วนสาเหตุที่เทศกาลดิวาลีเกี่ยวข้องกับพระแม่ลักษมีนั้น ตามความเชื่อของชาวฮินดูเชื่อว่า พระรามเป็นร่างอวตารของพระวิษณุ ส่วนนางสีดาเป็นร่างอวตารของพระแม่ลักษมี พระชายาของพระวิษณุ ทั้งยังมีชาวอินเดียบางส่วนเชื่อว่า วันดิวาลีเป็นวันคล้ายวันเกิดของพระแม่ลักษมี ด้วยเหตุนี้จึงนิยมกราบไหว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลในเทศกาลนี้ด้วย
ไม่หมดเพียงเท่านี้ วันดีปาวาลี ยังเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง ถือเป็นคืนที่มีแสงจันทร์สุกสว่างครั้งแรกของปีใหม่ หรือที่เรียกว่า การติก อมาวาสยา การบูชาพระแม่ลักษมีในวันพระจันทร์เต็มดวง จึงถือเป็นการระลึกถึงพระคุณแห่งแสงจันทร์อีกเช่นกัน
เทศกาลดิวาลี 2566 ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญ ที่ผู้มีจิตศรัทธาในองค์พระแม่ลักษมีไม่ควรพลาด เพราะนอกจากจะเชื่อว่าเป็นวันคล้ายวันเกิดของพระแม่แล้ว ยังเป็นวันสำคัญของชาวฮินดูอีกด้วย ถือเป็นอีกวันดี วันมงคลที่เหมาะแก่การขอพร เพื่อเสริมโชคลาภก่อนสิ้นปีนี้
อ้างอิง : ganeshdeva