ข่าว

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ หน้าหนาวปีนี้ไม่หนาว ปีหน้าอาจเข้าฤดูฝนช้ากว่าปกติ

รศ.ดร.เสรี คาดการณ์สภาพอากาศปลายปี 2566 อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น อากาศจะไม่หนาว แต่ฤดูร้อนปีหน้าจะร้อนกว่าปกติ และอาจเข้าสู่ฤดูฝนช้า พร้อมเช็กปัจจัยที่ทำให้เกิดฤดูหนาวในประเทศไทย

หน้าหนาวปีนี้คนไทยอาจไม่ต้องเตรียมผ้าห่มและเสื้อกันหนาว วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2566 รองศาสตราจารย์ ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กคาดการณ์ว่า ปลายปีนี้จะไม่หนาว แต่ปีหน้าจะร้อนแล้ง ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศในประเทศไทย

ความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำฝนรายฤดูกาล

รศ.ดร.เสรี ระบุว่า ช่วงปลายฝน ฝนก็ตกโดยเฉพาะภาคใต้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ สำหรับน้ำท่วมรอการระบายเป็นเรื่องปกติ การคาดการณ์ปริมาณฝนในปีไม่ปกติ เช่น ปีเอญนิญโญจะมีความคลาดเคลื่อนสูง เช่นปีนี้ การพยากรณ์รายฤดูกาลแบบจำลองโดยส่วนใหญ่ชี้ไปในทิศฝนน้อย แต่ในข้อเท็จจริงปริมาณฝนเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม มีมากกว่าปกติประมาณ 30% และ 19% ตามลำดับโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน

อย่างไรก็ตามปริมาณฝนสะสมยังคงน้อยกว่าปกติ ยกเว้นภาคอีสาน ดังนั้นการพยากรณ์ฝนปีนี้จึงพึ่งได้เฉพาะการคาดการณ์ล่วงหน้าเพียง 1 เดือนเท่านั้น เกษตรกร และชาวนาจึงต้องติดตามสถานการณ์ทุกเดือน

แม้ว่าเดือนกันยายน และตุลาคมจะเกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมในบางพื้นที่ เช่น ภาคเหนือตอนบน และภาคอีสาน แต่เมื่อวิเคราะห์จากดรรชนีฝน SPEI พบว่าช่วง 3 – 6 เดือนที่ผ่านมา หลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออก ยังคงมีสถานการณ์ฝนแล้ง ยกเว้นบริเวณชายขอบฝั่งตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือริมแม่น้ำโขง

ปริมาณฝนรายฤดู
ภาพจาก Facebook : รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์

ธันวาคม 2566 อุณหภูมิจะสูงขึ้นอีก

รศ.ดร.เสรี เปิดเผยว่า เมื่อวิเคราะห์การกระจายของอุณหภูมิช่วงเดือนธันวาคม และเดือนเมษายนตั้งแต่ปี 2563 – 2567 พบว่า เดือนธันวาคมจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทุกปี (ความหนาวเย็น) ยกเว้นปี 2566 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกือบ 2oC นั่นหมายความว่าปีนี้เราจะไม่หนาว

ในขณะเดียวกันอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนเมษายนปี 2567 ก็จะสูงกว่าปกติ 1.5oC เราก็จะร้อนสุด ๆ เหมือนกัน จากปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อน และสภาพอากาศแปรปรวน ที่เรียกว่า เอ็นนิญโญ ดังนั้นปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า เสื้อหนาวอาจจะขายไม่ค่อยดี

หน้าหนาว ปี 2566
ภาพจาก Facebook : รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์

คาดการณ์สภาพอากาศ 2567 อาจเข้าฤดูฝนช้ากว่าปกติ

รศ.ดร.เสรี เปิดเผยว่า ขณะที่เริ่มเข้าสู่ฤดูการทำนาปรัง ฝนก็ตกได้น้ำ ราคาข้าวดีจูงใจให้ชาวนาทำนากันในหลายพื้นที่ ปริมาณน้ำต้นทุน (เฉพาะในลุ่มเจ้าพระยา) ประมาณ 62% (11,000 ล้านลูกบาศ์กเมตร) น้อยกว่าปี 2565 (78% หรือ 14,000 ล้านลูกบาศก์เมตร)

โดยปีที่แล้วมีการจัดสรรน้ำกว่า 5,800 ล้านลูกบาศ์กเมตร ทำนาปรังกว่า 7 ล้านไร่ ในลุ่มเจ้าพระยา แต่ปีนี้ดูจากข้อมูลกระทรวงเกษตรฯ จะมีการจัดสรรน้ำให้ชาวนาเพียง 2,300 ล้านลูกบาศ์กเมตร ซึ่งจะมีพื้นที่ทำนาได้เพียงไม่เกิน 2 ล้านไร่ จาก 8 ล้านไร่

พื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 80% โดยเฉพาะในภาคอีสาน ถ้าไม่มีน้ำต้นทุนของตัวเอง เช่น บ่อ สระ ฝายขนาดเล็ก ระบบสูบน้ำเข้าแปลงนา ประกอบกับอากาศร้อนและแล้งจัดปีหน้า อัตราการระเหยจะเพิ่มขึ้นกว่า 10% ปัญหาเรื่องไฟป่าในภาคเหนือ ฝุ่น PM 2.5 และคลื่นความร้อนในเมืองจะตามมา

แม้ว่าการพยากรณ์ฝนรายฤดูกาลอาจจะมีความคลาดเคลื่อน แต่ก็มีความจำเป็นต่อชาวนาในการเตรียมปัจจัยการผลิต เพราะต้นทุนการทำนาจะสูงหากไม่มีการวางแผน ข้อมูลล่าสุดจากแบบจำลองหลายชุดบ่งชี้ปริมาณฝนต้นฝนปี 2567 อาจจะน้อยกว่าปกติ ส่งนัยถึงการเข้าสู่ฤดูฝนที่ล่าช้าออกไป

ปริมาณน้ำต้นทุนที่ต้องเตรียมไว้สำหรับช่วงต้นฤดูฝน พื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 80% จะต้องเตรียมการรับมือด้วย ที่สำคัญคือเกษตรกรและชาวนาต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะสภาพอากาศ คือชีวิตความเป็นอยู่ของทุกท่าน

หน้าฝน ปี 2567
ภาพจาก Facebook : รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์

ปัจจัยที่ทำให้เกิดฤดูหนาวของไทย

สำหรับหน้าหนาวของประเทศ โดยปกติแล้วจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ปัจจัยที่ส่งผลให้ลักษณะอากาศของประเทศหนาวเย็น และอุณหภูมิลดลง เกิดจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดปกคลุมประเทศไทยตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม นานราว 1 – 2 สัปดาห์ ซึ่งจะเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู จากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว ทำให้อากาศแปรปรวน ไม่แน่นอน

สภาพอากาศช่วงนี้ อาจเริ่มมีอากาศเย็นลง หรืออาจยังมีฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะบริเวณภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกลงไป จากนั้นจะหมดฝน และเริ่มมีอากาศเย็นช้ากว่าภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ลักษณะอากาศในฤดูหนาว สามารถพิจารณาจากอุณหภูมิต่ำสุดของแต่ละวัน โดยมีเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้

  • อากาศหนาวจัดอุณหภูมิต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส
  • อากาศหนาวอุณหภูมิระหว่าง 8.0 – 15.9 องศาเซลเซียส
  • อากาศเย็นอุณหภูมิระหว่าง 16.0 – 22.9 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของทิศทางลมชั้นบนระดับล่าง โดยเปลี่ยนเป็นลมตะวันออกหรือตะวันออกเฉียงเหนือ และลมชั้นบนระดับบนได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันตก เป็นปัจจัยที่ทำให้อากาศในประเทศไทยเย็นลงได้เช่นกัน

อ้างอิง : รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ / กรมอุตุนิยมวิทยา

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button