การเงินเศรษฐกิจ

สรุปผลมติ เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1000 ปี 66/67

เปิดข้อสรุปผลมติ เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 ปีการผลิต 66/67 เผยสาเหตุที่ยังไม่อนุมัติเงินช่วยเหลือ พร้อมวิธีการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงเกษตรกร เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้ดูแลง่ายขึ้น

สืบเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ หรือ นบข. มีการประชุมพิจารณามาตรการอุ้มราคาข้าว เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1000 บาท ในปีการผลิต 66/67

Advertisements

จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ มีมติได้ข้อสรุปรวม 4 มาตรการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 69,043.03 บาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. มาตรการชะลอการขาย เพื่อเก็บในยุ้งฉาง 1 – 5 เดือน จำนวน 3 ล้านตัน โดยเกษตรกรจะได้รับค่าช่วยฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน ส่วนกลุ่มสหกรณ์จะได้รับค่าฝากเก็บ 1,000 บาทต่อตัน และเกษตรกรจะได้ 500 บาทต่อตัน

2. มาตรการเก็บสต๊อกข้าวเปลือกและข้าวสาร 2 – 6 เดือน จำนวน 10 ล้านตัน โดยโรงสี ข้าวถุง และผู้ส่งออก รัฐบาลจ่ายชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 4

3. มาตรการสินเชื่อรวบรวมข้าวเปลือก เป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยช่วยดอกเบี้ย 15 เดือน ในอัตรา 3.85% สหกรณ์เสียดอกเบี้ย 1%

4. มาตรการช่วยลดต้นทุน โดยช่วยเหลือเกษตรกร 1,000 บาทต่อไร่ ตั้งเป้าจ่ายเงิน 1 พ.ย. 66 – 30 ก.ย. 67 กำหนดหลักเกณฑ์ดังนี้

Advertisements
  • เกษตรกรเป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน
  • เยียวยาไร่ละ 1,000 ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน
  • เป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 66/67 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 66/67 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร

ประเด็นสำคัญคือในที่ประชุม นบข. ยังไม่มีมติอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาไร่ละ 1,000 บาท แก่เกษตรกรชาวนา แต่ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานนำมาตรการต่าง ๆ กลับไปพิจารณาเพื่อเข้าที่ประชุมอีกครั้ง รวมถึงตั้งคณะกรรมการเพื่อดูเรื่องการลดต้นทุนการปลูกข้าวของชาวนา สำหรับวางมาตรการเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่ได้อนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท แต่รัฐบาลแนะนำให้เกษตรกรรายใหม่ขึ้นทะเบียน ส่วนเกษตรรายเก่าให้ปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้รัฐบาลสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลในการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง

เงินช่วยเหลือชาวนาชาวไร่

รมว.พาณิชย์ เผยสาเหตุที่ยังไม่อนุมัติ

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว หรือ นบข. ถึงมาตรการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ที่ยังไม่มีการอนุมัติ ระบุว่ารัฐบาลไม่ได้ปฏิเสธการช่วยเหลือ แต่จะใช้เครื่องมือตัวใหม่เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวให้ เช่น กลไกของสหกรณ์ โดยถือว่าทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรในพื้นที่มากที่สุด

นายภูมิธรรมระบุว่า ปัจจุบันมีสหกรณ์ที่มีศักยภาพ สามารถเข้ามามีส่วนช่วยเกษตรกรชาวนาได้ 500 – 600 แห่งทั่วประเทศไทย ส่วนการดูดซับผลผลิตของเกษตรกร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) มีความพร้อมที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนอยู่แล้ว อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันสามารถทำได้ทันที หากเกิดกรณีที่ราคาข้าวของเกษตรกรมีราคาลดลง

นอกจากนี้ นายภูมิธรรมกล่าวเสริมด้วยว่า ปัจจุบันราคาข้าวยังอยู่ในระดับสูง เป็นที่น่าพอใจอยู่ ทำให้มาตรการอุดหนุนต่าง ๆ อาจยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบออกมามากนัก อีกทั้ง นบข. ประชุมเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อให้มีโอกาสรายงานสถานการณ์และออกมาตรการที่มีความจำเป็นได้ทันท่วงที หากเกิดกรณีที่ราคาข้าวตกต่ำ หรือมีประเด็นที่ต้องให้ความช่วยเหลือและพิจารณาแบบเร่งด่วนเกิดขึ้น

ทะเบียนเกษตรกรคืออะไร

ทะเบียนเกษตรกรคือ ข้อมูลของครัวเรือนผู้ประกอบการเกษตรที่แสดงถึงสถานภาพ และการประกอบอาชีพการเกษตรของครัวเรือน วัตถุประสงค์ในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อจัดทำข้อมูลการเกษตรให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง และเป็นข้อมูลเอกภาพให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

รัฐบาลจะนำข้อมูลไปใช้วางแผนพัฒนาการเกษตร กำหนดนโยบาย การจัดการด้านการผลิต การตลาด การส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงเป้าหมาย โดยผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้แล้ว จะได้รับความสะดวกในการใช้สิทธิขอรับการสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือรับบริการต่าง ๆ จากภาครัฐ

วิธีขึ้นทะเบียนสำหรับเกษตรกรรายใหม่

สำหรับเกษตรกรรายใหม่ท่านใด ที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนเกษตรกร สามารถเลือกวิธีลงทะเบียนเกษตรกรได้ 3 วิธี โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ยื่นแบบ ทบก.01 พร้อมด้วยบัตรประชาชนตัวจริง และสำเนาหลักฐานถือครองที่ดิน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก หรือจุดนัดหมายที่สำนักงานเกษตรอำเภอนั้น ๆ กำหนด

2. ติดต่อผู้นำชุมชนหรือตัวแทนอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน หรือ อกม.

3. ลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านระบบ e-Form ที่เว็บไซต์ efarmer.doae.go.th

เกษตรรายใหม่ที่ขึ้นทะเบียนผ่านช่องทางตามที่ปรากฏข้างต้น ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียน จะใช้เวลาทำการประมาณ 5 วัน หลังจากนั้นจะสามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกร และติดตามผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผ่านระบบได้

ลงทะเบียน ผ่านระบบ e-Form

วิธีปรับปรุงทะเบียนสำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้ว

เกษตรกรรายเดิมที่เคยขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว และใช้แปลงเดิม สามารถปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้ผ่านแอปพลิเคชัน Farmbook และปรับปรุงทะเบียนด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน ตาม 6 ขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Farmbook รองรับผ่านระบบ Android และระบบ iOS

2. กดเลือกเมนูแจ้งปลูก

3. เลือกแปลงปลูกที่ต้องการแจ้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร

4.เลือกพืช ที่ต้องการแจ้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร

5. กรอกข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วน

6. กดบันทึกข้อมูล

การตรวจสอบสถานะความเป็นเกษตรกรและสมาชิกครัวเรือน สามารถตรวจสอบได้เฉพาะบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรเท่านั้น เนื่องจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยขึ้นอยู่กับบทบาท และภารกิจของแต่ละหน่วยงาน

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button