ข่าว

ตกลง “อุเทนถวาย” ต้องย้ายไปที่ไหน ? หาคำตอบให้ ปมปัญหาที่ดินจุฬาฯ

ปัญหาที่ดินจุฬาฯ เปิดปมเวรคืนที่ดินยังไม่ได้ข้อสรุป ย้ายอุเทนถวาย ไปที่ไหน หลังดราม่าศิษย์เก่าประกาศชัดไม่ย้าย พร้อมล่า 5 หมื่นรายชื่อ เมินทำตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด

กลายเป็นปัญหาเวรคืนที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกลับมาระอุและปะทุปัญหาเดิมที่ฝังรากขึ้นมาอีกครั้ง กับกรณีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้ย้าย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.ตะวันออก) วิทยาเขตอุเทนถวาย ย้ายออกจากพื้นที่ของจุฬาฯ เมื่อล่าสุด ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน รวมตัวคัดค้านการย้ายมทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ออกจากพื้นที่เดิม หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้กำหนดให้ย้ายออก เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา

โดยมีการตั้งโต๊ะให้ลงชื่อคัดค้านและร่วมสนับสนุนแนวทางพัฒนาพื้นเดิมให้ยังคงเป็นสถานศึกษาภายใต้ชื่อ “อุเทนถวาย” แทนการย้ายไปยังที่ตั้งใหม่ ร้อนเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 100 นาย ต้องมาตรึงกำลังรักษาความปลอดภัย

อุเทนถวาย มรดกโลก
ขอบคุณภาพจาก : ถิ่นสีน้ำเงิน อุเทนถวายภาคเหนือ

นายทักษิต เรียบร้อย นายกสโมสรนักศึกษา กล่าวว่า ได้แจ้งอธิการบดีฯยืนยันจะไม่ย้าย และจะตั้งทีมเพื่อประชุมรวมกับรัฐมนตรี รวมทั้งจะรวบรวมรายชื่อศิษย์เก่า กว่า 50,000 รายชื่อเพื่อยกร่างพ.ร.บ.ของตัวเองเช่นเดียวกับที่จุฬาฯดำเนินการมาแล้ว

งานนี้ ต้องรอมรับว่า ปมพิพาทเรื่องที่ดินจุฬากับอุเทนถวายนั้น ผ่านมาหลายรัฐบาลปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ จนเปลี่ยนจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาสู่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ในปัจจุบัน ซึ่งมี ศุภมาส อิศรภักดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) มีหน้าที่รับผิดชอบเข้ามาแก้ปัญหานี้โดยตรง

อุเทนถวาย ย้ายไปไหน 2566
ภาพ Facebook @RoyalthaiPoliceTV

ย้อนไทม์ไลน์ วันเชิญ “จุฬา-อุเทนถวาย หาทางออกร่วมกัน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2566 นางสาวศุภมาส ในฐานะ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อดำเนินการตามคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยมี น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.กระทรวง อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. รักษาราชการแทนปลัดกระทรวง อว. ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนกรมธนารักษ์ ผู้แทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้แทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เข้าร่วมที่ห้องห้องประชุม 3B ชั้น 3 อาคารพระจอมเกล้า (ถนนโยธี) กระทรวง อว.

การประชุมหารือครั้งดังกล่าว ถือเป็นการหาทางออกร่วมกันภายหลังศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ “มทร.ตะวันออก” วิทยาเขตอุเทนถวาย ย้ายออกจากพื้นที่ของจุฬาฯ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง

น.ส.สุชาดา กล่าวว่าในฐานะรัฐมนตรีที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานทั้งสองแห่ง รู้สึกเห็นใจและเข้าใจความรู้สึกของทุกฝ่าย แต่เพื่อให้การปฏิบัติราชการเป็นไปตามหลักนิติรัฐ ที่ยึดมั่นในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด กระทรวง อว. จำเป็นต้องยึดคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่จะให้ทางอุเทนถวายส่งมอบพื้นที่เดิมและหาพื้นที่ใหม่สำหรับจัดการเรียนการสอน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการผ่อนปรนมาโดยตลอด

ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า บนพื้นที่ปัจจุบันของ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย มีบุคลากรสายวิชาการ จำนวน 64 คน บุคลากรสายสนับสนุน จำนวน 45 คน นักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 682 คน นักศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 143 คน และนักศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 14 คน ซึ่งหลังจากนี้สำนักงานปลัดกระทรวง อว.จะเป็นตัวกลางในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ครั้งหนึ่ง เคยเสนอที่ 36 ไร่ จ.สมุทรปราการ พร้อมจัดสรรงบ 200 ล้าน ย้ายตั้งที่ใหม่

สำหรับปมปัญหาที่ดินระหว่างจุฬากับ มทร.ตะวันออก สืบเนื่องจากแผนแม่บทจัดการที่ดิน 1,153 ไร่ของจุฬาฯ ซึ่งได้ดำเนินการขอคืนพื้นที่อุเทนถวาย จำนวน 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวาที่อุเทนถวายทำสัญญาเช่าเป็นเวลา 68 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478-2546 เพื่อขยายเขตพื้นที่การศึกษาตามโครงการพัฒนา ซึ่งจุฬาฯ ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ได้เจรจาขอคืนที่ดินมาตั้งแต่ปี 2518 แต่ไม่เป็นผล

ต่อมาจุฬาฯ ได้ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการและกรมธนารักษ์ขอความอนุเคราะห์จัดหาพื้นที่ให้อุเทนถวาย ในปี 2545 กรมธนารักษ์จัดหาพื้นที่ให้จำนวน 36 ไร่ ที่ตำบลบางปิ้ง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดสรรงบประมาณให้เพื่อการก่อสร้างและขนย้ายประมาณ 200 ล้านบาท โดยต่อมาในปี 2548 อุเทนถวายได้ทำบันทึกข้อตกลงว่าจะย้ายไปก่อสร้างสถาบันใหม่ที่ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548

แต่การย้ายดังกล่าวก็ติดปัญหา กระทั่งต่อมาในที่สุดการย้ายที่ตั้งใหม่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนปี 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(กยพ.) ซึ่งระหว่างนั้น สโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 2 ครั้ง

สุดท้ายเรื่องราวข้อพิพาทต่าง ๆ ดำเนินมาถึงปัจจุบันที่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า “ตกลงหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย หรือ อุเทนถวาย ต้องย้ายไปตั้งสถาบันศึกษาแห่งใหม่ที่ไหน ? “ ซึ่งหากยึดตามข้อกฏหมายทางมหาลัยต้องทำการย้ายออก ภายใน 60 วัน หลังคำสั่งศาลปกครองเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านมาเกินที่คำสั่งศาลได้ระบุไว้มากแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการผ่อนปรนมาโดยตลอด

ทั้งนี้ ภายหลังที่มีคำสั่งให้อุเทนถวายย้ายออกจากบริเวณที่ตั้งในปัจจุบัน อ้างอิงข้อมูลจากฐานเศรษฐกิจ ระบุ ทางฝ่ายผู้บริหารของอุเทนถวายก็ประสานกับกรมธนารักษ์เพื่อเจรจาขอพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ที่เหมาะสมมาตลอด ล่าสุดได้ขอพื้นที่ในส่วนของ ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ แต่ทางอุเทนถวายคงไม่ได้ใช้พื้นที่ทั้งหมดเพียงแห่งเดียว เพราะพื้นที่ดังกล่าว ม.ศิลปากร ก็ขอใช้เช่นเดียวกัน

ส่วนจะได้พื้นที่กี่ไร่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรมธนารักษ์ จ.สมุทรปราการ สำหรับงบประมาณที่ใช้ ฝ่ายผู้บริหารก็ไม่ได้มีการวางแผนใดๆ เพราะยังไม่ได้พื้นที่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องใช้งบฯ เท่าใด.

อุเทนถวาย

ข่าวอุเทนถวาย ปทุมวัน ล่าสุด
ภาพ Facebook @RoyalthaiPoliceTV
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย สนามบอล
ภาพ Facebook @PRUthenthawai
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย
ภาพ Facebook @PRUthenthawai

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button