การเงินเศรษฐกิจ

ไทยพาณิชย์ แนะ 7 วิธีป้องกันมือถือ ไม่ให้โดนมิจฉาชีพหลอก

ธนาคารไทยพาณิชย์ เผย 7 วิธีป้องกันโทรศัพท์มือถือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งาน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ โดนมิจฉาชีพหลอก ลดความสูญเสียจากภัยออนไลน์

ปัจจุบันมิจฉาชีพในช่องทางออนไลน์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์กำลังระบาดทั่วไทย แม้ว่าตำรวจไซเบอร์จะออกปฏิบัติการจับกุมมากแค่ไหน แต่ก็ยังมิวายที่จะมีเหยื่อถูกหลอกมาให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2566 ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ออกมาแนะนำ 7 วิธีป้องกันมือถือ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือมิจฉาชีพ

มิจฉาชีพหลอกทางโทรศัพท์

ธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่า สมาร์ตโฟนเป็นเหมือนดาบสองคมที่ให้ทั้งประโยชน์ หรือให้โทษกับผู้ใช้งานก็ได้ โดยเฉพาะภัยจากมิจฉาชีพที่ไม่จำเป็นต้องเผยตัวให้ใครเห็น แค่มาผ่านเสียงก็สามารถหลอกดึงเงินจากบัญชีเราไปได้แล้ว โดยเราสามารถป้องกันโทรศัพท์มือถือโดยปฏิบัติตามคำแนะนำ 7 วิธี ดังนี้

1. ไม่ดัดแปลงระบบปฏิบัติการของสมาร์ตโฟน

ระบบปฏิบัติการของสมาร์ตโฟน หรือที่เรียกกันว่า เจลเบรค (Jailbreak) สาเหตุที่ไม่ควรดัดแปลง เนื่องจากจะเป็นการเปิดให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้าถึงระบบต่าง ๆ บนเครื่องของเราได้ง่ายขึ้น

แม้การดัดแปลงอุปกรณ์อาจจะทำให้สามารถใช้ลูกเล่น หรือทำอะไรกับระบบของตัวเครื่องได้มากขึ้น แต่ผลที่ตามมาอาจได้ไม่คุ้มเสีย ที่สำคัญการเจลเบรกยังทำให้การรับประกันสิ้นสุดลงด้วย หากมีปัญหาเกิดขึ้น ก็จะไม่สามารถเคลมหรือเรียกร้องสิทธิ์ต่าง ๆ ตามเงื่อนไขของผู้ผลิตสินค้าได้

2. ตั้งรหัสเข้าเครื่องให้คาดเดายาก

ผู้ใช้งานไม่ควรตั้งรหัสเดียวเข้าได้ทุกแอป ไม่อิงกับวัน เดือน ปี เกิด หรือตัวเลขที่เชื่อมโยงกับตัวเรา เช่น บ้านเลขที่ เบอร์โทร เป็นต้น และอย่าให้ใครรู้รหัสเข้าเครื่องโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะในขณะใช้งาน การกดรหัสต้องระวังคนหรือกล้องวงจรปิดในบริเวณที่กำลังใช้งานด้วย ซึ่งการเข้ารหัสผ่านทาง Face ID หรือลายนิ้วมือ ก็ช่วยป้องกันการแอบดูได้เช่นกัน

3. ไม่เชื่อมต่อกับ Wi-Fi สาธารณะ เพื่อทำธุรกรรมต่าง ๆ

เนื่องจากสัญญาณนั้น อาจเป็นกับดักที่มิจฉาชีพสร้างไว้เพื่อดักฟัง หรือเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว และรหัสผ่านต่าง ๆ บนอุปกรณ์สื่อสารของเราก็เป็นได้

4. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน จาก Official Store เท่านั้น

หากใช้ iPhone, iPad ที่เป็นระบบปฏิบัติการ iOS ก็ควรดาวน์โหลดแอปจาก App Store ส่วนใครที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ก็ควรจะดาวน์โหลดจาก Google Play Store เป็นต้น

ที่สำคัญคือ แม้จะเป็นแอปที่อยู่ใน Official Store หากไม่รู้ว่ามีไว้ใช้งานอะไร ก็อาจถูกมิจฉาชีพหลอกให้ดาวน์โหลด เพื่อใช้ประโยชน์จากแอปจริงมาทำเรื่องไม่ดี เช่น ใช้ประโยชน์จากแอปที่สามารถขอสิทธิ์เข้าไปแก้ไขอุปกรณ์ใช้งานต่าง ๆ ได้จากระยะไกล มาหลอกให้เรากดให้สิทธิ์ เพื่อเข้าไปควบคุมมือถือแล้วโอนเงินออกไปจากบัญชี เป็นต้น

5. หาแอปพลิเคชันมาช่วยกรองเบอร์สุ่มเสี่ยง

แอปพลิเคชัน Whoscall ที่ช่วยกรองเบอร์สุ่มเสี่ยง สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีจาก App Store หรือ Play Store และสังเกตชื่อบริษัทผู้พัฒนา ซึ่งจะต้องเป็น Gogolook เท่านั้น แอปนี้จะมีฐานเบอร์โทรจากผู้ใช้งานทั่วโลกรวบรวมไว้ และมียอดใช้งานเป็นอันดับต้น ๆ ในบรรดาแอปประเภทเดียวกัน

เวลามีเบอร์ที่เราไม่รู้จักโทรเข้ามา แอปจะบอกเบื้องต้นว่าเบอร์ที่ติดต่อมาเป็นใคร และถ้าเบอร์นั้นขึ้นว่าเป็นมิจฉาชีพ แสดงว่ามีผู้ใช้รายงานมาเป็นจำนวนมากแล้วว่าเป็นเบอร์หลอกลวง เราก็จะได้ระวังตัวไว้ก่อน เลือกที่จะตัดสายทิ้ง หรือไม่รับสายก็ได้

6. ใช้มือถืออย่างมีสติรู้เท่าทัน

ในยุคดิจิทัลอะไรก็เกิดขึ้นได้ สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราได้ยิน อาจเป็นการปลอมแปลงเพื่อหวังเงินในบัญชีของเรา เช่น หลอกให้กดลิงก์ ลวงให้โอนเงิน หรือดาวน์โหลดแอปอันตราย ซึ่งอาจมาในรูปแบบของข้อความแนบลิงก์ หรือปุ่มให้กด รวมถึงอาจมาในรูปแบบของ QR Code ให้สแกน หรือไฟล์ให้ดาวน์โหลด หากเจอแบบนี้ ให้คิดถึงหลักความเป็นจริง และความสมเหตุสมผลเข้าช่วย บวกกับการมีสติ ก็จะช่วยลดการสูญเสียทรัพย์สินได้

7. หมั่นอัปเดตระบบปฏิบัติการของสมาร์ตโฟน

ควรอัปเดตระบบปฏิบัติการ รวมถึงแอปพลิเคชันที่เราใช้งาน ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ เพื่อให้ระบบรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ ได้รับการอัปเดตตามไปด้วย

หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์มือถือ ควบคู่กับการปฏิบัติตามข้อแนะนำ 7 ข้อข้างต้น อาจช่วยลดความสูญเสียจากภัยออนไลน์ต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นเกราะป้องกันเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้อีกด้วย

มิจฉาชีพออนไลน์

อ้างอิง : ธนาคารไทยพาณิชย์

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button