ไข้เลือดออกระบาดหนัก ยอดผู้ป่วยพุ่ง ทะลุทุกกลุ่มวัย เน้นย้ำประชาชนทายากันยุง
โรคไข้เลือดออกยังคงระบาดหนัก ยอดผู้ป่วยสะสมทะลุ 1 แสนราย ติดทุกวัยตั้งแต่วัยเด็กยันวัยทำงาน เน้นย้ำหยุดซื้อยากินเอง ควรทายากันยุงทั้งผู้ป่วยและคนในบ้าน
วันที่ 14 ตุลาคม 2566 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (EOC) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีการรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ในปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 ตุลาคม มีผู้ป่วยสะสม 106,548 ราย มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จำนวนผู้ป่วยมีเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่กเด็กวัยเรียนไปจนถึงวัยทำงาน ช่วงอายุ 5-34 ปี และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเกินกว่า 100 ราย อัตราป่วยตายในผู้ใหญ่สูงกว่าเด็ก ในระยะนี้โรคไข้เลือดออกยังมีระบาดอยู่ แม้บางพื้นที่มีรายงานผู้ป่วยลดลง เนื่องจากไทยยังมีฝนตกทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีภาชนะน้ำขังหรือบรรจุน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายปริมาณมาก ซึ่งจะเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกเดงกี โรคติดเชื้อไวรัสซิกา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้
มาตรการสำคัญที่ต้องเน้นย้ำ คือ จัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในพื้นที่ 7 ร ได้แก่ โรงเรือน บ้านพักอาศัย โรงธรรม โรงเรียน โรงแรม โรงงานอุตสาหกรรม ที่มีมักจะมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูง รวมถึงโรงพยาบาลและส่วนราชการ โดยเฉพาะวัด ที่มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงมาก
นายแพทย์ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอย้ำเตือนว่า อย่าซื้อยาแก้ไข้กลุ่มเอ็นเสดกินเอง เช่น แอสไพริน ไอบูโปรเฟน ไดโคฟิแนค และยาชุดแก้ปวด ซึ่งยาแก้ไข้กลุ่มนี้จะช่วยเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเลือดออกและอาจทำให้ผู้รับประทานเสียชีวิตได้ในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ การป้องกันที่ตัวบุคคลก็สำคัญ คือ โรคไข้เลือดออกมีหลายระยะ ตั้งแต่ไม่มีอาการไปจนถึงมีอาการเด่นชัด ทุกระยะสามารถแพร่เชื้อโรคได้ เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออกไม่ว่าระยะใด ตัวผู้ป่วยจะต้องได้รับการป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดและนำเชื้อไปติดคนอื่นด้วยการทายากันยุง แนะนำว่าให้ทาทั้งเช้าและเย็น หากแพทย์ให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ คนรอบข้างก็ต้องป้องกันด้วยการทายากันยุงด้วยอีกชั้นหนึ่ง การป้องกันการแพร่ระบาดที่ดี คือ การป้องกันทั้งเชื้อ คน และยุงไม่ให้มาพบกัน จะช่วยลดปัญหาการระบาดของโรคได้
นายแพทย์ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า อีกโรคที่เฝ้าระวังต่อเนื่องในช่วงฤดูฝนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ คือ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา มีอุบัติการณ์พบผู้ป่วยมากขึ้น ตั้งแต่ต้นปี 2566 พบผู้ป่วย 479 ราย จาก 26 จังหวัด ในช่วง 4 สัปดาห์ล่าสุด พบผู้ป่วยมากที่จังหวัดเพชรบูรณ์ 24 ราย และจังหวัดจันทบุรี 22 ราย หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกา ส่งผ่านไปทารกในครรภ์ทำให้เกิดภาวะสมองไม่เจริญเติบโต เมื่อคลอดออกมาจะเป็นทารกที่มีศีรษะเล็ก โรคนี้มียุงลายเป็นพาหะ
ดังนั้น การจัดการกับยุงลายสามารถป้องกันโรคได้ทั้ง 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ต้องทำอย่างต่อเนื่องและอย่ามองข้ามจุดน้ำขังเล็ก ๆ ยุงลายจะวางไข่ในแหล่งน้ำใสนิ่ง มักจะเป็นภาชนะขังน้ำหรือใส่น้ำในบ้านหรือรอบ ๆ บ้าน หากกำจัดหรือปิดกั้นที่วางไข่ของยุงลาย ยุงจะพยายามไปหาที่วางไข่ในจุดอื่น ไม่ว่าจะเป็นน้ำในเศษภาชนะที่แอบซ่อน เช่น ขยะ เศษภาชนะ กาบใบไม้ที่มีน้ำฝนตกค้างเพียงน้อยนิด เป็นต้น
อีกหนึ่งวิธีในการกำจัดยุงลาย คือ สร้างกับดักให้ยุงลายมาวางไข่แล้วหมั่นคอยดู เพื่อจำกัดลูกน้ำทิ้งเป็นประจำ เมื่อรอบของการวางไข่หมดไป แม่ยุงจะตายลง ทำให้ไม่มียงลายรุ่นใหม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันลดจำนวนยุงลาย โดยวิธี 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้าน ให้สะอาด แสงแดดส่องเข้าถึง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ และเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด ไม่ให้มีน้ำขัง เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์
ในส่วนของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมช่วงนี้ ขอให้ป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ทายากันยุง นอนในมุ้ง ใช้ยาจุดกันยุง ใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาว ภายหลังน้ำลดร่วมกันจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย