ข่าว

อ.เจษฎ์ เตือนกระแส ‘กินดิน’ เพื่อขับสารพิษ วิจัยชี้เสี่ยงเป็นโรคฉี่หนู

อาจารย์เจษฎ์ สั่งเบรกกระแสกิน “ดินเหนียวรัสเซีย” หลังมีคนรีวิวสรรพคุณช่วยขับสารพิษในร่างกาย แถมกรอบ อร่อย กินเป็นขนมได้ เปิดวิจัยชี้ไม่มีประโยชน์แถมอันตราย เสี่ยงเป็นฉี่หนูและอีกหลายโรค

การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ สิ่งที่ใครหลายคนต้องการและมองหาของวิเศษมาบริโภคเพราะเชื่อว่าทำแล้วดี กินแล้วดี ยิ่งของกินที่ไม่น่าเอามากินยิ่งเป็นแรงจูงใจชั้นดีที่ทำให้คนหลงเชื่อว่าทำให้มีสุขภาพดีได้แน่นอน ซึ่งความเชื่อเรื่อง “กินดิน” ขับสารพิษคือหนึ่งในนั้น

อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกโรงเตือนคนฮิตกินดินเหนียว ผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ให้ความรู้เรื่องดินเหนียวรัสเซีย พร้อมหยิบข้อมูลจากวิจัยมาชี้ให้เห็นชัด ๆ ว่ากินแล้วอันตรายแค่ไหน หักล้างแนวคิดกินดินเหนียวดีท็อกซ์สารพิษที่กำลังซื้อขายกันให้วุ่นในไทย แนะใครอยากสุขภาพดีควรกินอาหารที่มีประโยชน์ดีกว่า

หมอสั่งเบรก กินดินเหนียวรัสเซีย
ภาพจาก : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

“ไม่ส่งเสริมให้เอา “ดิน” มากินเล่นครับ” แปลกดีครับช่วงนี้เหมือนมีกระแสหาซื้อ “ดินเหนียวรัสเซีย” ผ่านทางช็อปปิ้งออนไลน์มากินเล่นกัน โดยมีการโฆษณากัน ตัวอย่างเช่น ‘ural clay ดินเหนียวรัสเซีย ดินเหนียวนำเข้า ดินกินได้ ดินคนท้อง รสชาติกรอบหอมมันอร่อย ไม่มีทรายเจือปน100% เคี้ยวได้สบายใจ มีกลิ่นหอมคล้ายๆ น้ำอบไทย บางชนิด หอมเหมือนดินหลังฝนตก รสชาติคล้ายถั่วลิสงคั่วกรอบๆ หอมมัน ๆ’ ทำเอาหลายคนอยากซื้อมาลองกินบ้าง

ตามข้อมูลที่หาได้ดินเหนียว ural clay น่าจะมีแหล่งกำเนิดในประเทศคาซักสถาน จากเหมืองดินเหนียวคาซัก (Kazakh clay mill) มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “Kazakhstani mountain chalk หินชอล์กจากภูเขาในประเทศคาซักสถาน” ก่อนที่จะนำไปจำหน่ายส่งออกไปประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศรัสเซีย และพบว่าบรรดาผู้ที่นิยมกินดินชนิดต่าง ๆ นั้น แนะนำให้มือใหม่หัดกินดิน เริ่มจากดินเหนียว ural clay เพราะกินง่าย เนื้อแน่น เคี้ยวแล้วแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ไม่กลายเป็นโคลนเหนียวปาก

ไม่แน่ใจว่า ความนิยมในการกินดินเหนียวหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า geophagia จีโอฟาเกีย หรือ geophagy จีโอฟากี้ ทำนองนี้ในประเทศไทยเราได้รับอิทธิพลมาจากกระแสในต่างประเทศหรือเปล่า โดยที่หลายปีก่อนเริ่มมีพวกบิวตี้บล็อกเกอร์บางคนหาดินเหนียวจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมากินโชว์กัน

บิวตี้บล็อกเกอร์รีวิวกินดินรัสเซีย
ภาพจาก : Pikalicious Clay

บล็อกเกอร์พวกนี้อ้างว่า ‘ดินนั้น เป็นหนึ่งในสิ่งสุดยอดที่คุณจะกินเข้าไป เพราะระบบย่อยอาหารของร่างกายจะไม่ดูดซับดินเหนียวไป แต่ตัวของดินเหนียวซึ่งมีประจุเป็นลบก็จะไปดูดซับเอาสารพิษ เอาโลหะหนักที่อยู่ในร่างกายของคุณออกไปกับอุจจาระที่ขับถ่ายออกมา’

อีกทั้งยังบอกว่า ‘การที่สตรีมีครรภ์บางคนในบางวัฒนธรรมบางสังคมชนเผ่าพื้นเมือง ชอบกินดินระหว่างที่ตั้งครรภ์ก็เป็นการเพิ่มสารอาหาร เพิ่มแคลเซี่ยม เพิ่มธาตุเหล็ก เข้าสู่ในร่างกายของแม่และเด็กในท้อง’

แนวคิดเช่นนี้อาจมาจากความเชื่อเรื่อง การใช้ดินโคลนรักษาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น นำไปใช้รักษาอาการท้องเสีย อาการผิดปกติบางอย่างของกระเพาะและทางเดินอาหาร การจับสารพิษที่รับเข้าไปผ่านการกิน ฯลฯ เนื่องจากดินเหนียวสามารถจับกับสารพิษและโลหะหนักที่เป็นพิษบางชนิดได้ และน่าจะช่วยป้องกันไม่ให้สารพิษเหล่านั้นถูกดูดซึมเข้าไปในกระเพาะอาหารและลำไส้ รวมถึงไปเคลือบผนังลำไส้ไม่ให้เซลล์ได้รับอันตราย แต่ก็ต้องบอกว่าแนวคิดนี้ก็ยังไม่ค่อยจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนมากนักว่าใช้ได้ดีจริง

ผู้หญิงและเด็กชาวเฮติกินโคลนประทังชีวิตเพราะเชื่อว่ามีแร่ธาตุสูง
ภาพจาก : wikipedia

ถ้ายิ่งอ้างว่ากินดินเหนียวเข้าไปเพื่อ ดูดซับสารพิษจากอวัยวะต่างๆ ในร่างกายก็ยิ่งไม่มีหลักฐานสนับสนุนเข้าไปใหญ่ ว่าดินเหนียวที่ถูกกินเข้าไปในระบบทางอาหารจะไปสัมผัส ไปทำปฏิกิริยากับสารพิษ โลหะหนัก ฯลฯ ที่สะสมอยู่ในเลือดและในอวัยวะภายในของร่างกายได้อย่างไร จริง ๆ แล้ว ตับและไตของร่างกายเราต่างหากที่เป็นตัวกำจัดสารพิษและของเสียในร่างกาย ตามธรรมชาติอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องที่สตรีมีครรภ์ในบางวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง กินดินระหว่างตั้งครรภ์เพื่อเสริมสารอาหารนั้น ปัจจุบันเราก็สามารถเข้าถึงสารอาหารต่าง ๆ ได้ง่ายมากขึ้นแล้ว เช่น การดื่มนมเพื่อเสริมแคลเซี่ยม โดยไม่ต้องไปกินดินเหนียว และในทางกลับกัน การที่แม่และทารกในครรภ์กินดินเข้าไปนั้น แม้ว่าจะไม่น่าเป็นอันตรายอะไรถ้ากินเป็นปริมาณน้อย ๆ แต่ถ้าเกิดเป็นดินที่มีการปนเปื้อนของสารพิษ เช่น สารหนู ตะกั่ว สารเคมีอื่น ๆ ที่อยู่ในดินตามธรรมชาติก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ รวมถึงคนทั่วไป ที่กินดินเหนียวเล่นตามกระแสด้วย

ดินจากแต่ละแหล่งมีปริมาณของแร่ธาตุแตกต่างกันไป บางแห่งอาจมีปริมาณของแคลเซียม ทองแดง แมกนีเซียม เหล็ก และสังกะสีสูงซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะกับทารกในครรภ์ สำหรับแม่ที่เกิดอยากกินดินขึ้นมาระหว่างตั้งครรภ์ การกินดินยังอาจจะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเนื่องจากการปนเปื้อนของเชื้อโรคและไข่พยาธิที่มาจากอุจจาระของคนและสัตว์ ซึ่งหลายชนิดสามารถทนทานอยู่ในดินได้นับปี และทำให้คนที่กินเข้าป่วยหรือติดพยาธิได้

นอกจากนี้มีรายงานถึงหนูทดลองที่ให้กินดินเหนียวเข้าไปแล้วมีอาการผิดปกติหลายอย่างกับระบบการควบคุมสมดุลของร่างกายและเกิดความเสียหายขึ้นกับอวัยวะต่าง ๆ

กินดินเป็นอาหาร เชื่อว่าขับสารพิษได้
ภาพจาก : steemit.com

กล่าวโดยสรุป สำหรับเรื่องการสั่งซื้อ “ดินเหนียวรัสเซีย” มากินเล่นกัน เข้าใจว่าจะยังไม่ได้มีการตรวจวิเคราะห์จาก อย. หรือหน่วยงานทางสาธารณสุขของไทย เพื่อยืนยันรับรองถึงความปลอดภัยว่าไม่มีสารเคมี โลหะหนัก หรือแม้แต่เชื้อโรคปนเปื้อนจนสามารถบริโภคได้อย่างอย่างมั่นใจ

ถึงแม้ว่าการกินดินเพียงเล็กน้อยจะเป็นอันตราย แต่ก็ไม่น่าจะมีประโยชน์อะไรที่จะมากินดินกันครับ (ถ้าจะหาสารอาหารจากดินเหนียวพวกนี้ สู้ไปกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ มีคุณค่าทางอาหารสูงโดยตรง ดีกว่าครับ)

แถมถึงกรณีในประเทศไทยเราเองก็เคยมีคำเตือนจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนให้ระวังอันตรายจากการกินดินโคลนมาแล้วครับ ว่าอาจจะติดโรคอันตรายอย่างโรคฉี่หนูได้

คนไทยแห่กินโคลนที่ผุดขึ้นกลางนา

นายแพทย์กิตติ์พงศ์ สัญชาตวิรุฬห์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า จากกรณีโคลนผุดกลางทุ่งนาแล้วชาวบ้านนำดินโคลนไปพอกตัว รักษาโรคปวดเมื่อย พอกหน้า รวมถึงดื่มกินตามความเชื่อว่าเป็นโคลนวิเศษ สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้นั้น อาจทำให้ติดเชื้อโรคเลปโตสไปโรสิส หรือโรคไข้ฉี่หนู โรคเมลิออยโดสิส และโรคตาแดง ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายถึงชีวิต

สรุปแล้วว่า ไม่ควรนำมาดื่มกินหรือสัมผัสดินโคลน ควรรับประทานอาหารที่สุก ร้อน สะอาด ดื่มน้ำต้มสุก สวมถุงมือยางและรองเท้าบูททุกคร้ัง เมื่อจำเป็นต้องสัมผัส ดิน โคลน น้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ สามารถสอบถามข้อมูลเพ่ิมเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

Peangaor

นักเขียนประจำ Thaiger จบการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มศว เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาชี้แจงแตกประเด็นในรูปแบบย่อยง่ายเหมือนเพื่อนเล่าให้ฟัง รวมถึงเรื่อง Pop culture ซีรีส์ อาหาร และเทรนด์แฟชั่นที่กำลังอินเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ preme@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button