สุขภาพและการแพทย์ไลฟ์สไตล์

เช็กอาการ “ไข้หวัดใหญ่” รู้วิธีรับมือโรคที่มากับหน้าฝน พร้อมรักษาตัวยามป่วย

ทำความรู้จัก “โรคไข้หวัดใหญ่” เช็กอาการเบื้องต้น เผยสาเหตุการติดเชื้อ แนะนำวิธีเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง พร้อมบอกวิธีการรักษา

เข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว อย่าลืมหมั่นตรวจเช็กดูแลสุขภาพร่างกายให้พร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่เย็นชื้นและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ โดยเฉพาะ “โรคไข้หวัดใหญ๋” ที่มีจำนวนผู้ป่วยเฉพาะในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นกว่า 100,000 คน และมีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 66 มากถึง 248,322 คน

Advertisements

นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอ หรือ “A H1N1” ที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายฤดูฝนที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเช่นนี้นั่นเอง มาดูกันว่าโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการและวิธีป้องกันโรคอย่างไรบ้าง เข้ามาอ่านในนี้กันได้เลยค่ะ

โรคไข้หวัดใหญ่

รู้จัก ‘โรคไข้หวัดใหญ่’ ภัยร้ายที่ทุกคนต้องเฝ้าระวัง

โรคไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza เป็นโรคที่มีอาการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน รวมถึงจมูก ลําคอ หลอดลม และปอด มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน (ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคม) และในฤดูหนาว (เดือนมกราคม-มีนาคม) ของทุกปี ซึ่งอาการของโรคจะมีตั้งแต่อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยไปจนถึงอาการรุนแรงที่ส่งผลถึงชีวิต

โรคไข้หวัดใหญ่นั้นจะแตกต่างจากไข้หวัดธรรมดา เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสต่างชนิดกัน อันได้ส่งผลให้ควารุนแรงของอาการป่วยแตกต่างกันด้วย โดยไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ส่วนไข้หวัดธรรมดานั้นเกิดจากการเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ อาทิ rhinovirus หรือ adenovirus โดยไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

Influenza virus หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้น แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ influenza A และ influenza B แต่ในส่วนของไวรัส influenza C ที่เป็นอีกหนึ่งเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดจะไม่นับอยู่ในกลุ่มของโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีความรุนแรงน้อยและไม่มีความสำคัญในการแพร่ระบาด

Advertisements

เช็กอาการ 'โรคไข้หวัดใหญ่'

สาเหตุการติดเชื้อ “โรคไข้หวัดใหญ่”

การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะคล้ายกับติดเชื้อของโรคไข้หวัดทั่วไป กล่าวคือ สามารถติดต่อได้โดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจาม รวมถึงการสัมผัสมือ การจูบ การกอด หรือการใช้สิ่งของต่าง ๆ ร่วมกับผู้ป่วย ไมว่าจะเป็นแก้วน้ำ โทรศัพท์ คีย์บอร์ด หรือผ้าเช็ดตัว จากนั้นหากใช้มือขยี้ตา แคะจมูก เจ้าเชื้อโรคเหล่านั้นก็จะแพร่เข้าสู่ร่างกาย

สำหรับการแพร่เชื้อ ผู้ป่วยจะสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนแสดงอาการ และยังสามารถแพร่เชื้อได้ต่อไปอีก 5 วันหลังแสดงอาการ ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องจะสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่า

อีกทั้งในปัจจุบันมีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หากผู้ใดเคยได้รับวัคซีน หรือเคยป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่มาก่อน ร่างกายมักจะมีภูมิต้านทานโรค แต่หากเชื้อไวรัสตัวใหม่นั้นมีความใกล้เคียงกับเชื้อตัวเก่าที่เคยเป็น ร่างกายจะมีแอนติบอดีป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคได้ แต่ระดับแอนติบอดีในร่างกายก็จะลดลงตามกาลเวลา และเมื่อใดที่สัมผัสกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แอนติบอดีที่มีอยู่เดิมในร่างกายจะไม่สามารถสู้กับและป้องกันการติดเชื้อได้

เช็กอาการ 'โรคไข้หวัดใหญ่' เปิดวิธีรับมือโรคระบาด

อาการของ ‘โรคไข้หวัดใหญ่’ ที่ควรไปพบแพทย์

โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สามารถพักรักษาตัวที่บ้านได้ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ด้วยเหตุของการมีโรคเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์โดยทันที สังเกตอาการได้ดังนี้

  • มีอาการเจ็บหน้าอก และมีภาวะหายใจถี่ร่วมด้วย
  • รู้สึกวิงเวียนศีรษะ
  • เกิดอาการชัก
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง
  • โรคประจำตัวกำเริบหรือทรุดตัว
  • มีไข้เกิน 24 ชั่วโมง
  • มีอาการป่วยต่อเนื่องมากกว่า 7 วัน
  • ปลายมือ ปลายเท้าเขียว

นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีอาการเบื้องต้นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสประมาณ 1-4 วัน โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2 วัน ซึ่งอาการของโรคเป็น ดังนี้

  • มีไข้สูงถึง 39-40 องศา เกิดอาการหนาวสั่น และเหงื่อออก
  • เบื่ออาหารและคลื่นไส้
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • เจ็บคอและไอแห้ง
  • ปวดตา
  • มีน้ำมูก จาม
  • หายใจถี่
  • ท้องเสียและอาเจียนซึ่งพบได้บ่อยในเด็ก

'โรคไข้หวัดใหญ่' เปิดวิธีรับมือโรคระบาด เช็กอาหาร

โดยปกติแล้ว ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ระบบอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ

  • เยื่อหุ้มหัวใจมีอาการอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย หอบ หรือมีอาการหัวใจวาย
  • ระบบประสาท มีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดศีรษะมากและเซื่องซึมลง
  • ระบบหายใจ เกิดอาการหลอดลมอักเสบและปอดบวม ผู้ป่วยจะแน่นหน้าอกและรู้สึกหนื่อย

โรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสายพันธุ์ A ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักอยู่ในประเทศไทยขณะนี้เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H1N1 หรือที่หลายคนมักเรียกว่า ‘ไข้หวัดเม็กซิโก’ โรคติดต่อระหว่างคนสู่คน แรกเริ่มพบที่ประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้แพร่ออกไปอีกหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทยด้วย

‘โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H1N1’ นับเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน ซึ่งเกิดจากการผสมสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่จากคน หมู และนก ผู้ป่วยด้วยโรคไวรัสชนิดใหม่นี้อาจมีอาการน้อยมากจึงถึงรุนแรงมาก ๆ และปอดบวม ซึ่งก็เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ที่มีระบาดอยู่เป็นประจำ สำหรับอาการรุนแรงจนถึงแก่กรรมมักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยในช่วงอายุ 20-40 ปี

เช็กอาการ 'โรคไข้หวัดใหญ่' เปิดวิธีรับมือโรคระบาด พบแพทย์

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ติดเชื้อ ‘โรคไข้หวัดใหญ่’

  • โรคไข้หวัดใหญ่มักจะแพร่ระบาดในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี และผู้ใหญ่ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • การอาศัยหรือทำงานในที่แออัด
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องจากอยู่ในช่วงรักษาโรคมะเร็ง โรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคเอชไอวี / เอดส์ การปลูกถ่ายอวัยวะ รวมถึงการใช้สเตียรอยด์หรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคตับ โรคเลือด โรคระบบประสาท กระบวนการทำงานทางชีวเคมีผิดปกติ ปัญหาระบบทางเดินหายใจ
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะระหว่างไตรมาสที่ 2 หรือ 3
  • ผู้มีภาวะโรคอ้วน

การป้องกัน ‘โรคไข้หวัดใหญ่’

การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นั้น สามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • หมั่นล้างมือเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการนำมือเข้าปาก หรือขยี้ตา
  • ระมัดระวังการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีอาการป่วย
  • หากเริ่มมีอาการป่วยควรพักรักาาตัวที่บ้านจนกว่าจะหาย
  • เมื่อรู้สึกระเคืองคอ ไอ หรือจามให้ใช้ผ้าปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นได้รับเชื้อ

นอกจากนั้นการป้องกันโรคหวัดใหญ่ยังสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะสามารถลดความรุนแรงของอาการได้

'โรคไข้หวัดใหญ่' เปิดวิธีรับมือโรคระบาด ฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีน ป้องกันไข้หวัดใหญ่

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ นับเป็นการป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุด ซึ่งวัคซีนถูกผลิตขึ้นจากเชื้อไวรัสที่ตายแล้ว โดยจะฉีดที่แขนปีละครั้ง หลังฉีด 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจึงจะสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อ ทั้งนี้ ผู้ที่มีประวัติแพ้สารโปรตีนประเภทไข่ ห้ามฉีดวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ที่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ เหล่าผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน ได้แก่

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคตับ
  • ผู้เป็นเบาหวาน
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป
  • ผู้ที่อาศัยในบ้านพักคนชรา
  • เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
  • สมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคเรื้อรัง
  • ผู้ที่จะไปเที่ยว หรือศึกษาต่อ ณ แหล่งระบาดของไข้หวัดใหญ่
  • ผู้ที่ต้องการลดอัตราการติดเชื้อ และต้องได้รับวัคซีน

สุขภาพแข็งแรง ห่างไกลโรค

อย่างไรก็ตาม การระมักระวังตนเอง และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้อ่านทุกคนควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เมื่อร่างกายได้รับการฟื้นฟูดูแลอย่างเพียงพอ ทั้งในด้ายการกินอาหารที่มีประโยชน์ การพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการออกกำลังเป็นประจำ เช่นนี้แล้วไม่ว่าจะฤดูไหน ๆ หรือโรคอะไร ร่างกายของคุณก็จะสามารถต้านทานต่อภาวะเจ็บป่วย ห่างไกลโรคและหมดห่วงได้เลย

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button